- 10 พ.ค. 2562
ขณะเดียวกันทางด้าน นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊ก “สมชาย แสวงการ” วิเคราะห์ประเด็นดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ระบุว่า...
ผ่านมากว่าหนึ่งเดือนแล้ว สำหรับกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ มีส่วนร่วมพัวพันปมฉาวการถือครองหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน โดยหุ้นดังกล่าวนายธนาธรและนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยา เคยถือหุ้นรวมกัน 900,000 หุ้น โอนไปให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2562 ซึ่งเป็นวันหลังวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อ 6 ก.พ.2562 จึงกลายเป็นประเด็นร้อน เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของคนในสังคม ว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
ขณะเดียวกันทางด้าน นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊ก “สมชาย แสวงการ” วิเคราะห์ประเด็นดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ระบุว่า...
วิเคราะห์ตามหลักวิชาการทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ครับ คดีโอนหุ้นวีลัคมีเดียของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
1.การโอนหุ้นของคุณธนาธรเป็นการโอนกันเองในครอบครัวย่อมไม่มีผลผูกพันบุคคลภายนอกตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 วรรคสาม ต้องดำเนินการจดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นถึงจะมีผลนำมาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกได้
2. กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น (Civil Law) ต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนและผู้รับโอนและมีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ ด้วย มิฉะนั้นการโอนหุ้นตกเป็นโมฆะนั้น เป็นเรื่องทางแพ่งที่กฎหมายให้หลักเกณฑ์ไว้ในระหว่างเอกชนต่อเอกชนที่มีฐานะเท่ากันระหว่างผู้โอนและผู้รับโอน
3. เรื่องคุณสมบัติต้องห้ามของ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 98 ที่บัญญัติถึงบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้าม มิให้ไปใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. อนุมาตรา (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ เนื่องจากรัฐธรรมนูญกฎหมายมหาชน (Public Law) มีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการปกครองประเทศ
ดังนั้น การโอนหุ้นต้องดูหลักฐานทางทะเบียน ซึ่งเป็นเอกสารมหาชนเป็นหลัก มิเช่นนั้นใครก็จะอ้างว่ามีการโอนหุ้นในระหว่างบุคคล ครอบครัว เพื่อน หรือญาติมิตรได้ และอาจทำหลักฐานกันย้อนหลังได้อีกด้วย ในกรณีที่ไม่สุจริต
4. กรณีศาลรัฐธรรมนูญต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าใช้หลักฐานของเอกชนทางแพ่งที่ว่า การโอนหุ้นระบุชื่อต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนและผู้รับโอนและมีพยานคนหนึ่งรับรองลายมือชื่อนั้นด้วย หรือว่าจะต้องมีการจดแจ้งการโอนหุ้นนี้ และสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นถึงจะมีผลนำมาใช้แก่บริษัท หรือบุคคลภายนอกได้ ซึ่งหลักกฎหมายหลังนี้เป็นหลักทางกฎหมายมหาชน เพราะต้องมีการจดแจ้งลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
5. กรณีคล้ายกันนี้ ศาลฎีกาวางแนวบรรทัดฐานให้ยึดการจดแจ้งต่อนายทะเบียน ฎีกาที่ 5873/2543 โจทก์ถูกสรรพากรเรียกเก็บภาษีจากเงินปันผลหุ้น แต่โจทก์อ้างว่าได้โอนหุ้นให้แก่บุคคลอื่นไปแล้ว แต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ภาระการเสียภาษียังเป็นของโจทก์ก่อน เพราะยึดถือการโอนหุ้นต่อนายทะเบียนเป็นหลัก ณ วันที่เรียกเก็บภาษี เมื่อโจทก์ยังไม่ได้แจ้งต่อนายทะเบียน กรณีดังกล่าวยังถือว่าผู้ร้องยังเป็นเจ้าของหุ้นอยู่
ฎีกาที่ 5873/2543
การโอนหุ้นจะใช้ยันบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนชื่อและสำนักของผู้รับโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสาม เมื่อโจทก์รับว่าการโอนหุ้นให้แก่ ม. มิได้จดแจ้งการโอนต่อนายทะเบียนผู้ถือหุ้นของ ป. ในทะเบียนผู้ถือหุ้นจึงยังคงปรากฏชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ โจทก์จึงไม่อาจอ้างเหตุว่ามีการโอนหุ้นไปแล้วยันจำเลย (กรมสรรพากร)ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ โจทก์ต้องนำเงินปันผลจากหุ้นของ ป. มาคำนวณรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
6. ตามข้อเท็จจริง วันที่ 21 มีนาคม 2562 มีการจดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น ดังนั้น ในวันที่ 8 มกราคม 2562 จึงยังปรากฏชื่อนายธนาธร อยู่ในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด อยู่
7. ข้อพิรุธ วันที่ 19 มีนาคม 2562 ศาลฎีกาแผนกเลือกตั้งตัดสินว่า นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ที่ จ.สกลนคร ถูกศาลฎีกาตัดสินว่าขาดคุณสมบัติ เพราะทำธุรกิจสื่อ จึงมีการไปจดแจ้งการโอนหุ้นต่อนายทะเบียนในวันที่ 21 มีนาคม 2562 ก่อนวันเลือกตั้งทั่วไป 3 วัน (วันที่ 24 มีนาคม 2562) ทั้งที่นายธนาธรอ้างว่าโอนหุ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 กลับปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาถึง 2 เดือนเศษ ขณะที่วันรับสมัคร ส.ส.คือวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ 2562 นายธนาธรควรจดแจ้งการโอนหุ้นต่อหน้านายทะเบียนก่อนวันที่ 4 กุมภาพันธ์2562 ด้วยซ้ำไป ทั้งที่มีเวลาดำเนินการตั้งแต่ 8 มกราคม 2562 - 4 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นเวลาเกือบ 1 เดือน
8. กรณีศึกษาเปรียบเทียบ
ยกตัวอย่าง
การเปลี่ยนชื่อบุคคล เราอยากจะเปลี่ยนชื่อตัวบอกเพื่อน ๆ ญาติพี่น้องต่อให้แจ้งให้ทราบเป็นหนังสือ แต่ถ้ายังไม่ไปจดทะเบียนที่เขตหรืออำเภอแล้ว การเปลี่ยนชื่อยังไม่มีผลทางกฎหมาย เพราะต้องไปแจ้งทางทะเบียนราษฎร์ให้มีการจดแจ้งการเปลี่ยนชื่อตัว ลงในทะเบียนราษฎร์ซึ่งเป็น “เอกสารมหาชน” ก่อนถึงจะมีผลทางกฎหมาย
--------------------------------
Cr ท่านตุลาการและอาจารย์นักกฎหมายผู้รักชาติ