เปิดที่มาเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น1 พระราชทานส่วนพระองค์ป๋าเปรม

เปิดที่มาเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น1 ในหลวงรัชกาลที่ 10 พระราชทานส่วนพระองค์ป๋าเปรม ด้วยความไว้วางพระราชหฤทัย

จากกรณี เว็บไซต์ราชกิจจาเผยแพร่ประกาศเรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๑๐ ชั้นที่ ๑ แก่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์  ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒  ประกาศ ณ วันที่ ๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

นั่นคือพระมหากรุณาธิคุณครั้งล่าสุดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระเมตตาต่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ซึ่งเป็นที่รับทราบว่า ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หลังจากทรงสรงมุรธาภิเษกแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นหอพระสุราลัยพิมาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงฉลองพระองค์ครุยสายสะพายนพรัตน์ราชวราภรณ์ สายสร้อยจุลจอมเกล้า ผู้ที่จะทูลเกล้าฯถวายน้ำอภิเษกเข้าไปยืนประจำที่รอบพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ทั้ง 8 ทิศและพลเอกเปรม ก็เป็นหนึ่งในแปดผู้ทูลเกล้าฯถวายน้ำอภิเษกโดยประจำ ทิศหรดี หรือ ตะวันตกเฉียงใต้

 

เปิดที่มาเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น1 พระราชทานส่วนพระองค์ป๋าเปรม

 

 

 

 ก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ต่อเนื่องกัน โดยหลังจากที่ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ เรื่อง สถาปนาสมเด็จพระราชินี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โดย ระบุรายละเอียดว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส กับ พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา ถูกต้องตามกฎหมาย และราชประเพณีโดยสมบูรณ์ทุกประการแล้ว จึงมีพระราชโองการให้สถาปนา พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา พระอัครมเหสี เป็น สมเด็จพระราชินีสุทิดา ทรงดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์

 

ต่อมาในเวลา 16.30 น.วันเดียวกัน  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา ในการสถาปนาพระราชินี

 

ในการนี้ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนา พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา เป็นสมเด็จพระราชินี  จากนั้นผู้อำนวยการเขตดุสิต เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมุดจดทะเบียนราชาภิเษกสมรส ทรงลงพระปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยในสมุดทะเบียนราชาภิเษกสมรส

 

เปิดที่มาเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น1 พระราชทานส่วนพระองค์ป๋าเปรม

 

ในการนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงลงพระนามาภิไธยในฐานะทรงเป็นสักขีพยาน และ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ลงนามในสมุดจดทะเบียนราชาภิเษกสมรสในฐานะสักขีพยาน

 

ล่าสุดกับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๑๐ ชั้นที่ ๑ จึงยังมาด้วยพระเมตตาอีกครั้ง ซึ่งเราจะมาทำความรู้จักถึงความสำคัญ ที่มาของเหรียญรัตนาภรณ์ ว่าเป็นอย่างไร

 

สำหรับเหรียญรัตนาภรณ์ เป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์อันเป็นบำเน็จในพระองค์พระมหากษัตริย์ สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2412 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับพระราชทานผู้ที่ทำความดีความชอบทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ทั้งส่วนราชการและส่วนพระองค์ เดิมชื่อ เหรียญรจนาภรณ์ และเปลี่ยนชื่อเป็นเหรียญรัตนาภรณ์ ในปี พ.ศ. 2416 มีทั้งหมด 5 ลำดับชั้น และตามธรรมเนียมในอดีต ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ จะได้รับพระราชทานเครื่องยศประกอบในชั้นต่างๆ เหมือนเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าด้วย

 

เปิดที่มาเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น1 พระราชทานส่วนพระองค์ป๋าเปรม

 

ขณะที่ เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2562 สำหรับพระราชทานเป็นส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นวงกลม มีอักษรพระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร. อยู่ในขอบวงกลมซึ่งมีรัศมีและมีหูสำหรับร้อยแพรแถบ โดยแบ่งออกเป็น 5 ชั้น ได้แก่

 

ชั้นที่ 1 ย่อว่า ว.ป.ร.๑ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร. ขอบเรือนเงินประดับเพชรทั้งดวง

ชั้นที่ 2 ย่อว่า ว.ป.ร.๒ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร. ทองคำลงยาสีขาว ขอบเรือนเงินประดับเพชร

ชั้นที่ 3 ย่อว่า ว.ป.ร.๓ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร. ทองคำลงยาสีขาว ขอบเรือนทองคำ

ชั้นที่ 4 ย่อว่า ว.ป.ร.๔ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร. ทองคำ ขอบเพชรสร่งเงิน

ชั้นที่ 5 ย่อว่า ว.ป.ร.๕ มีลักษณะเป็น อักษรพระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร. เงิน ขอบสร่งเงิน

 

การพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์จัดเป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์อันเป็นบำเหน็จในพระองค์พระมหากษัตริย์ นับเป็นเครื่องหมายในพระมหากรุณาส่วนพระองค์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานแก่ผู้ใดก็แล้วแต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควร ผู้ที่ได้รับพระราชทานจะได้รับประกาศนียบัตรทรงลงพระปรมาภิไธยและประทับพระราชลัญจกรประจำพระองค์กำกับไว้ หากได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ในชั้นที่สูงขึ้นต้องส่งเหรียญดวงเดิมคืน

 

เปิดที่มาเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น1 พระราชทานส่วนพระองค์ป๋าเปรม

 

หากผู้ได้รับพระราชทานเหรียญวายชนม์ จะพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทายาทเก็บเหรียญเอาไว้เป็นเกียรติยศ และ สามารถใช้เหรียญร้อยสร้อยสวมคอได้ แต่จะนำไปร้อยแพรแถบเพื่อเอาไปประดับกับเสื้อไม่ได้นอกจากนี้ยังสามารถเขียนอักษรย่อของเหรียญที่ได้รับพระราชทานไว้ท้ายชื่อได้อีกด้วย

 

นอกจากนี้เป็นที่รับทราบกันดีถึงประวัติการรับราชการ การรับใช้ใต้เบื้องยุคลบาทของพลเอกเปรม ที่ตลอดชีวิตหลายสิบปีได้เสียสละอุทิศกำลังกายกำลังใจในการทำงานแทนคุณแผ่นดิน ซึ่งปัจจุบัน พลเอกเปรม อยู่ในวัยย่าง 99 เป็นประธานองคมนตรีสองแผ่นดิน ที่ยังคงดูแข็งแรง แม้กำลังล่วงเข้าใกล้ร้อยปี ภาพของ พลเอกเปรม หรือ ป๋าเปรม ที่เป็นที่คุ้นเคยของคนไทยก็คือ บุรุษชาติทหารที่เกิดมาเพื่อทดแทนคุณแผ่นดินโดยแท้ เพราะระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดเจนมาโดยตลอดในการอุทิศพลังกายใจทำเพื่อชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์นับเนื่องรัชสมัยในสองรัชกาลที่จะคงอยู่รับใช้เบื้องพระยุคลบาท

 

หากยังจำกันได้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2559 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ประธานองคมนตรี ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรีและทรงพระราชดำริเห็นเป็นการสมควรแต่งตั้งประธานองคมนตรี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบกับมาตรา 12 มาตรา 13 และมาตรา16 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานองคมนตรี ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เป็นปีที่ 1 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระราชโองการ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

 

เปิดที่มาเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น1 พระราชทานส่วนพระองค์ป๋าเปรม

 

กระนั้นเรื่องราวนี้มีความสำคัญยิ่ง เพราะแม้ประเทศจะมีคามเปลี่ยนแปลงองค์พระมหากษัตริย์ ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์  และ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร ในฐานะองค์รัชทายาท  ได้รับการทูลเชิญขึ้นทรงราชย์  เป็น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ  บดินทรเทพยวรางกูร  แต่ พล.อ.เปรมยังได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยให้ถวายงานในฐานะประธานองคมนตรีสืบเนื่อง

 

สำหรับพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี รัฐบุรุษ และนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 16 ดำรงตำแหน่ง 3 สมัย ระหว่างปี พ.ศ. 2523 ถึง พ.ศ. 2531 ซึ่งหลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2531 จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี จนกระทั่งมาถึงแผ่นดินในหลวงรัชกาลที่ 10 ในปัจจุบันและจะสืบเนื่องไป

 

เปิดที่มาเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น1 พระราชทานส่วนพระองค์ป๋าเปรม