- 20 พ.ค. 2562
ถือเป็นประเด็นปัญหาส่วนตัวของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กรณีถูกกล่าวหากระทำความผิดตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 98 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 แต่กลายเป็นว่าเครือข่ายพรรคอนาคตใหม่ กำลังจะพลิกเกมส์สู้ทางการเมือง
ถือเป็นประเด็นปัญหาส่วนตัวของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กรณีถูกกล่าวหากระทำความผิดตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 98 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 แต่กลายเป็นว่าเครือข่ายพรรคอนาคตใหม่ กำลังจะพลิกเกมส์สู้ทางการเมือง โดยการโยนภาระทั้งหมดให้เกิดกระแสต่อต้านการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และอาจรวมไปถึงศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต
ตัวอย่างสำคัญก่อนหน้านี้ คือกรณีของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่ออกมาวิพากษ์ วิจารณ์กกต.ในเชิงลบ โดยเปิดประเด็นกล่าวหาว่ามีการกดดันให้กกต.เร่งรัดการดำเนินคดีดังกล่าว และยังพาดพิงไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ โดยการยกเคสกรณีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประกาศ ที่เคยถูกกล่าวหาเรื่องการถือครองหุ้นผิดกม.
“แม้ว่ากกต.และศาลรัฐธรรมนูญสามารถใช้อำนาจหน้าที่ได้ตามกฎหมาย แต่ควรระมัดระวังเพราะอยู่ในสายตาสาธารณชน ส่วนกรณีที่หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องแล้วจะสั่งให้นายธนาธร ยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันที จนไม่อาจเข้าร่วมรัฐพิธีได้นั้น เรื่องนี้หากเทียบเคียงกรณีที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยสั่งให้ใครยุติการปฏิบัติหน้าที่”
พร้อมกันนี้ นายปิยบุตร ยังยืนยันว่านายธนาธร ได้ผ่านกระบวนการสมัครรับเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะมีการโอนหุ้น บริษัทวี-ลัค มีเดีย แล้วเสร็จก่อนการสมัครรับเลือกตั้ง ดังนั้นจึงมีความพร้อมจะนำหลักฐานทั้งหมดไปสู้คดีในศาลนรัฐธรรมนูญ
ด้วยท่าทีแสดงออกแม้ว่าจะยังไม่ถึงขึ้นปลุกระดม แต่สัญญาณบ่งชี้ให้เห็นว่า กรณีที่จะเกิดขึ้นกับนายธนาธร เป็นจังหวะทางการเมืองที่ต้องเกาะติดใกล้ชิด เนื่องคำวินิจฉัยทุกขั้นตอนกรณีการถือครองหุ้น บริษัทวี-ลัค มีเดีย ย่อมส่งผลโดยตรงต่อพรรคอนาคตใหม่ ทั้งในมิติของการเป็นหัวหน้าพรรค ของนายธนาธร และ ความรับผิดชอบในฐานะเป็นแกนขับเคลื่อนนโยบายทางการเมืองของพรรคควบคู่ไปกับนายปิยะบุตร เลขาธิการพรรค โดยไม่อาจปฏิเสธเป็นอย่างอื่น
ขณะเดียวกันถ้าถามว่าทำไม นายธนาธร และพรรคอนาคตใหม่ ต้องเคลื่อนไหวหนักต่อกรณีนี้ จำเป็นยิ่งที่ต้องไปไล่เรียงข้อกฎหมายเกี่ยวเนื่อง ด้วยเพราะมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อผลกระทบกับนายธนาธร ในกรณีหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเห็นด้วยกับคำร้องของกกต.
เริ่มต้นจากมาตรา 82 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ระบุขั้นตอนหลังจากมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “เมื่อได้รับเรื่องไว้พิจารณา หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัย และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคําวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภาที่ได้รับคําร้องตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ให้ผู้นั้นพ้นจากตําแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นได้กระทําไปก่อนพ้นจากตําแหน่ง”
ด้วยความหมายของข้อกฎหมายดังกล่าว นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์ สุวรรณ) โพสต์เฟซบุ๊ค ขยายความว่า เมื่อกกต.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า นายธนาธร ขาดคุณสมบัติหรือไม่
ขั้นตอนตามกฎหมายจะเป็นดังนี้
1. กกต.ต้องยื่นเป็นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยในเรื่องนี้
2. เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของกกต.แล้วก็จะประชุมปรึกษา ว่าจะรับเรื่องของกกต.ไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่
ถ้าไม่รับคำขอนั้นก็ตกไป
ถ้ารับก็จะมีคำสั่งให้แจ้งให้นายธนาธรทราบเพื่อชี้แจงข้อกล่าวหาภายในระยะเวลาที่ศาลจะกำหนด
3. นายธนาธรจะต้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของกกต.ต่อศาลตามเวลาที่ ศาลกำหนด
4. ดูจากพฤติกรรมและพฤติการณ์ของเรื่องแล้ว คดีนี้น่าจะมีประเด็นดังต่อไปนี้
4.1 การใช้อำนาจของกกต. เป็นการเลือกปฏิบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นการใช้อำนาจโดยสุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่
4.2 ในขณะสมัครรับเลือกตั้ง นายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทหรือไม่
4.3 บริษัทนั้นประกอบธุรกิจหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนหรือไม่
และเมื่อนายธนาธรยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาว่ากรณีจำเป็นจะต้องไต่สวนพยานหลักฐานหรือไม่เพียงใด และดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามนั้น
5. เมื่อการไต่สวนเสร็จสิ้นแล้วศาลรัฐธรรมนูญก็จะมีคำวินิจฉัย ซึ่งจะมีทางวินิจฉัย 2 ทางคือ ยกคำร้องของกกต.หรือวินิจฉัยว่านายธนาธร ขาดคุณสมบัติและต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.
อย่างไรก็ตามประเด็นไม่ได้จบเท่านั้น ไฮไลท์สำคัญของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง ยังระบุไว้ด้วยว่า “หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า สมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัย”
หรือ อาจแปลความว่า ในกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรับคำร้องของกกต. ด้วยข้อเท็จจริงอันควรสงสัย ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้อง หรือ นายธนาธร ในฐานะส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัย
ต่อจากนั้นในขั้นตอนทางกฎหมาย หากในกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ว่า ผู้ถูกร้องมีความผิดจริงตามคำร้อง เท่ากับว่า สมาชิกภาพของผู้ถูกร้องดังกล่าวก็จะสิ้นสุดลงไปด้วย หรือต้องพ้นจากตําแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่
ทั้งนี้ก็เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ว่าด้วย สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 คือ เป็นบุคคลที่เข้าข่ายการเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
ถามว่ากระบวนการจบแค่นั้นหรือไม่ คำตอบก็คือ “ไม่” เพราะโดยหลักกฎหมายยังมีขั้นตอนอื่น ๆ ปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ยกเป็นกรณีตัวอย่างสำคัญดังนี้
อาทิ มาตรา 54 ระบุว่า “มาตรา 54 กรณีที่พบเหตุตามมาตรา 53 (ผู้สมัครขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม) ภายหลังประกาศผลการเลือกตั้ง และผู้นั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
ในกรณีตามวรรคหนึ่ง หากผู้สมัครผู้นั้นรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแล้วปกปิด หรือไม่แจ้งข้อความจริงนั้น ให้ถือว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม และให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ ให้นําความในมาตรา 131 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม (ว่าด้วยการคํานวณจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อใหม่ โดยมิให้นําคะแนนที่ได้รับจากการเลือกตั้งที่เป็นเหตุให้มีการเลือกตั้งใหม่มารวมคํานวณด้วย)
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัย
ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปก็คือ กรณีการกระทำความผิดในลักษณะที่เข้าข่ายทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมนี้ ยังมีรายละเอียดประกอบเกี่ยวเนื่องอีกหลายมาตรา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ซึ่งจะมีขั้นตอนดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป ตามหมวดว่าด้วยการลงโทษความผิด พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
โดยเฉพาะ มาตรา 151 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทําหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนดยี่สิบปี
ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ศาลมีคําสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจําตําแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาเนื่องจากการดํารงตําแหน่งดังกล่าวให้แก่สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย”
อย่างไรก็ตามกรณีของนายธนาธร ยังคงต้องรอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะมีผลออกมาอย่างไร แต่โดยตรรกะอาจถือเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินการกับส.ส.แต่ละพรรคการเมืองที่ถูกยื่นคำร้องได้เช่นกัน เพียงแต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นย่อมแตกต่างกันไป เมื่อเทียบกับพรรคอนาคตใหม่ถ้าสมมุติว่าขาดหัวเรือใหญ่อย่าง”นายธนาธร” ซึ่งกำลังเผชิญมรสุมหลายระลอก เพราะพฤติการณ์แห่งตน ???