เผ็ดร้อนการเมือง หักแต่ไม่ยอมงอ ย้อนรอย "สมศักดิ์ สามมิตร " เคยทำใครมาบ้าง ???

ช่วงนี้สถานการณ์ทางการเมืองอยู่ที่เรื่องของการจัดตั้งรัฐบาล และกับกระแสข่าวช่วงนี้เห็นจะเป็นเรื่องของโผเก้าอี้รัฐมนตรีที่ไม่ลงตัวกับพรรคที่ร่วมรัฐบาล ซึ่งสิ่งที่พูดถึงตอนนี้คือพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคประชาธิปัตย์ ในเก้าอี้ของกระทรวงเกษตร

หลังจากที่ แกนนำพรรคพลังประชารัฐเดินทางไปทาบทามพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยให้เข้าร่วมรัฐบาล นำโดย อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค  ซึ่งสิ่งที่เราได้เห็นก็คือพรรคภูมิใจไทยไม่มีปัญหาดำเนินการตามกระบวนการครรลอง “อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้ย้ำถึงจุดยืนที่จะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับฝ่ายที่มีเสถียรภาพ และเห็นว่าพรรคพลังประชารัฐ ก็มีเสถียรภาพมากพอ พร้อมย้ำถึงเงื่อนไข 4 ข้อในการจัดตั้งรัฐบาล

แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์การเทียบเชิญ ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า เห็นพ้องต้องกันว่าสิ่งที่เป็นปัญหาจะถูกนำมาพิจารณาร่วมกันในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยแนวโน้มการพูดคุยเป็นไปได้ด้วยดี และพรรคประชาธิปัตย์จะให้คำตอบอย่างเป็นทางการกับพรรคพลังประชารัฐ ยังทำไม่ได้ในขณะนี้เพราะยังมีขั้นตอนของพรรคที่ต้องดำเนินการ

ขณะเดียวกัน 27 พ.ค.62 มีรายงานระหว่างการหารือแกนนำพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคพลังประชารัฐ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ  รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ  และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพลังประชารัฐ ออกจากห้องประชุมด้วยสีหน้าเคร่งเครียด โดยนายณัฏฐพล ได้กราบสักการะพระแม่ธรณีบีบมวยผม และกล่าวสั้นๆว่า "มีธุระจึงขอออกไปก่อน  ส่วนนายสมศักดิ์ระบุว่าจะออกไปโรงพยาบาล

ขณะเดียวกัน ก็มีรายงานว่ามีความ ไม่พอใจกับการให้ตำแหน่ง รมว.เกษตรฯ และ รมว.พาณิชย์ ตามที่พรรค ประชาธิปัตย์ ต่อรองผ่านผู้มีอำนาจในรัฐบาล เพราะเป็นกระทรวงที่พรรค พลังประชารัฐต้องการใช้ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ

ซึ่งคุณสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ได้ระบุเอาไว้ว่า สมศักดิ์ เทพสุทิน จากพรรคพลังประชารัฐมาร่วมในการเจรจาด้วยประเด็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นก็คือเรื่องของกระทรวงเกษตรที่พรรคประชาธิปัตย์ก็อยากได้มาบริหารที่จะดูแลชีวิตของพี่น้องเกษตรกร สมศักดิ์ เทพสุทินปรากฏว่าวันนั้นเจรจาไม่ลงตัว สมศักดิ์ เทพสุทินก็เดินออกจากที่ประชุมพรรคร่วมก่อน  

ปรากฏว่าเมื่อวานพรรคประชาธิปัตย์ประชุมไม่ได้ด้วยเหตุผลที่ว่าทางฟากฝั่งพรรคพลังประชารัฐยังไม่จบเรื่องในเรื่องกระทรวงเกษตรซึ่ง สมศักดิ์ เทพสุทินกำลังโวยวายอยู่

ย้อนกลับไป 28 พฤษภาคม การนัดประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ร่วมกับส.ส.แต่ต้องยกเลิกไปไม่สามารถประชุมได้ ซึ่งในเวลาต่อมาราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า จากที่หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคมีคำสั่งให้การนัดประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรค และประชุมร่วม ส.ส. นั้น ขอเลื่อนออกไป เนื่องจากเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ พรรคพปชร. ขอเชิญ ปชป. ร่วมทำงานและมีการคุยหลักการทำงานร่วมกันไว้หลายประเด็น คือ การแก้รัฐธรรมนูญ และการนำนโยบายพรรคที่หาเสียงไว้มาปฏิบัติ ซึ่งพรรคมีแนวทางในการขับเคลื่อนไปสู่ภาคปฏิบัติ และพปชร. จะให้ข้อมูลกลับมาภายใน 17.00 น. วันนี้(28 พ.ค.) แต่ พปชร. ยังไม่ได้ให้คำตอบมาภายในเวลาที่กำหนดว่าจะขับเคลื่อนไปได้อย่างไร เราจึงต้องเลื่อนการประชุมออกไป

ล่าสุด 29 พฤษภาคม นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นำทีมแกนนำพรรคแถลงข่าวเมื่อช่วงเที่ยงวันนี้ (29 พ.ค.) ว่าขณะนี้การหารือกับพรรคประชาธิปัตย์ยังคงดำเนินต่อไป และพรรคก็กำลังเจรจาเช่นนี้กับพรรคอื่นๆ ซึ่งส่วนตัวมองว่าการเจรจาหารือเป็นเรื่องปกติของการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคการเมืองหลากหลายเข้าร่วม แต่การไม่เจรจาต่างหากคือสิ่งที่ผิดปกติ

ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวที่สะพัดว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้องการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่คนในพรรคพลังประชารัฐก็ต้องการกระทรวงนี้ จนเป็นสาเหตุให้ไม่ได้ตกลงรับข้อเสนอของประชาธิปัตย์

นายอุตตม ให้ความเห็นว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง แต่ละพรรคก็มีคนเก่งที่พร้อมทำงานในทุกกระทรวงของตัวเอง ถึงอย่างนั้น ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงการวางคนมาเข้าไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ เพราะยังอยู่ระหว่างการเจรจา

เพราะฉะนั้นเราจะได้ย้อนกลับไปดูความเป็นมาทางการเมืองของ สมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ แกนนำกลุ่มสามมิตร หรือ กลุ่มวังน้ำยม และ กลุ่มมัชฌิมาเดิม กลุ่มอดีต ส.ส. พรรคไทยรักไทย อดีตรัฐมนตรี 4 กระทรวงนอกจากนี้ยังเป็น อดีตเลขาธิการพรรคกิจสังคม

 

นายสมศักดิ์ ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี แต่ยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยการจัดตั้ง กลุ่มมัชฌิมา จาก ส.ส.กลุ่มวังน้ำยมเดิม ที่ลาออกจากพรรคไทยรักไทยก่อนการตัดสินคดียุบพรรค

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรกในรัฐบาลของพลเอกสุจินดา คราประยูร ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลชุดต่อมาของนายชวน หลีกภัย จึงได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีอีกครั้ง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต่อเนื่องมาจนกระทั่งรัฐบาลของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และยังได้รับการปรับใปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งในรัฐบาลชุดนี้

 

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลชวน 2 ต่อมาจึงได้ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย และลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2544 โดยให้ภรรยาลงสมัครในระบบเขตแทน และนายสมศักดิ์ ยังได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในปี พ.ศ. 2545 แล้วจึงปรับมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี พ.ศ. 2546 และเป็นรองนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา จากนั้นในปี พ.ศ. 2548 จึงได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีอีกครั้งในรัฐบาลทักษิณ 2 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และปรับเปลี่ยนมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

นายสมศักดิ์ เป็นหัวหน้ากลุ่มการเมืองในพรรคไทยรักไทยที่ชื่อ "กลุ่มวังน้ำยม" อันเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในพรรค ในการหาเสียงการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2548 นายสมศักดิ์ มีนโยบายที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ "โคล้านตัว" เป็นนโยบายที่จะทำการแจกโคให้แก่เกษตรกรฟรีทั่วประเทศ และเป็นที่มาของการจัดตั้งบริษัท ส่งเสริมธุรกิจเกษตรกรไทย จำกัด แต่โครงการดังกล่าวก็ไม่ประสบความสำเร็จ สามารถดำเนินการจัดหาโคได้เพียง 21,ุ684 ตัวเท่านั้น

หลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 นายสมศักดิ์และกลุ่มวังน้ำยมได้ลาออกจากพรรคไทยรักไทย ไปจัดตั้งกลุ่มของตัวเองขึ้นมาใหม่ ใช้ชื่อว่า "กลุ่มมัชฌิมา"

 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 แต่ก็ยังดำเนินการทางการเมือง ด้วยการนำพาสมาชิกที่เหลือไปสังกัดกับทางพรรคประชาราช

 

โดยที่นางอนงค์วรรณได้เป็นเลขาธิการพรรคในเวลาต่อมา แต่ก็อยู่กับทางพรรคประชาราชได้ไม่นาน เมื่อนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ มีความเห็นไม่ลงตัวกับนายเสนาะ เทียนทอง กลุ่มของนายประชัยและนายสมศักดิ์จึงได้ไปรวมตัวกันใหม่ ในชื่อ พรรคมัชฌิมาธิปไตย โดยที่นางอนงค์วรรณก็ได้เป็นเลขาธิการพรรคด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำพิพากษายุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี ทำให้ ส.ส. ในกลุ่มของนายสมศักดิ์ จึงได้ย้ายมาร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่มเพื่อนเนวิน ในนามพรรคภูมิใจไทย และนายสมศักดิ์ ก็ยังนับได้ว่าเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในฐานะแกนนำกลุ่ม ส.ส. ซึ่งสื่อมวลชนให้ชื่อกลุ่มแกนนำนี้ว่า "8ส.+ส.พิเศษ" อันประกอบด้วย สมศักดิ์ เทพสุทิน สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล สุวิทย์ คุณกิตติ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ สุรนันทน์ เวชชาชีวะ สนธยา คุณปลื้ม และสรอรรถ กลิ่นประทุมส่วน ส.พิเศษ คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์