- 07 มิ.ย. 2562
กลายเป็นข่าวสถานการณ์ที่เพิ่้งเปิดเผย เมื่อในขณะที่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไปแสดงวิสัยทัศน์ความเป็นผู้นำ เป็นคู่แข่งขันชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี กับ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" แต่ปรากฎว่าอีกภาคหนึ่งของการทำงานการเมือง
กลายเป็นข่าวสถานการณ์ที่เพิ่้งเปิดเผย เมื่อในขณะที่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไปแสดงวิสัยทัศน์ความเป็นผู้นำ เป็นคู่แข่งขันชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี กับ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" แต่ปรากฎว่าอีกภาคหนึ่งของการทำงานการเมือง ก็มีการยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอขยายเวลาชี้แจงประเด็นการถือหุ้น บริษัทวี-ลัค มีเดีย ออกไปอีกถึง 30 วัน จากเดิมที่องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นชอบ ให้"ธนาธร" ในฐานะผู้ถูกร้อง ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง
ประเด็นน่าสนใจกับกรณีดังกล่าว คือ ต้องไม่ลืมว่า "ธนาธร" และ พลพรรคคนใกล้ชิดอย่าง "ปิยบุตร แสงกนกกุล" เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ประกาศนับครั้งไม่ถ้วน ว่า มั่นใจในหลักฐานการต่อสู้ทางคดี เพราะมั่้นใจมากว่าการขาย โอนหุ้น บริษัทวี-ลัค มีเดีย ดำเนินการแล้วเสร็จในวันที่ 8 มกราคม 2562 หรือ ก่อนการสมัครรับเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
แม้กระทั่งในวันการยื่นเอกสารชี้แจงต่อกกต. ทั้ง "ธนาธร" และ "ปิยบุตร" ยังประกาศกับสื่อมวลชน ว่า การมาชี้แจงครั้งนี้ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมาก แค่เดินเข้ามาไปชี้แจงด้วยความมั่นคง ยืนหยัดกับข้อเท็จจริง ในพยานเอกสารหลักฐานทั้งหมด 26 รายการ มีรายละเอียดแสดงความถูกต้องเป็นลังๆ
ไม่เท่านั้น นายปิยบุตร ยังไปไกลถึงขนาดประกาศแค้นต้องชำระ จะไม่ปล่อยให้กกต.ลอยนวล ผ่านบทคำพูดบางช่วงบางตอน “เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ เราขอสงวนสิทธิในการดำเนินการฟ้องต่อ กกต. ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ที่กำหนดว่า หากคณะกรรมการ กกต. ใช้อาจโดยมิชอบ หรือมิเป็นธรรม มีโทษทางอาญา”
ถามว่าความมั่นใจของ "ธนาธร" อยู่ในระดับไหน ลองย้อนกลับไปฟังดูได้ “สบายใจมาก และมั่นใจในการชี้แจงมาก ขอบคุณสื่อมวลชนที่มารอต้อนรับเรา มาคอยทำข่าวพวกเรา ขอบคุณประชาชนที่คอยสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ ยืนยันว่า ผมและนายปิยบุตรมีความมั่นใจมากในการชี้แจงกับ กกต. ครั้งนี้ เราเชื่อมั่นว่า กระแสที่ถูกปลุกขึ้นมา ถูกสร้างขึ้นโดยไม่มีข้อเท็จจริงที่จะมาหักล้างหลักฐาน ที่เราได้ยืนยันต่อสาธารณะไปก่อนหน้านี้”
ในทางกลับกันปรากฎว่า "ธนาธร" ตัดสินใจเลือกใช้กระบวนการยืดเรื่องออกไป รวมเบ็ดเสร็จทำให้ขั้นตอนการพิจารณา คำร้องเรื่องการถือครองหุ้นสื่อ ซึ่้งเป็นข้อห้ามตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ต้องขยับจาก 15 วัน เป็น 45 วัน โดยจะครบกำหนดในวันที่ 8 กรกฎาคม 2562
จากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยความผิดถูกของคำร้องกล่าวโทษ ว่า นายธนาธร เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ อย่างไร
ขณะที่คำอธิบายต่อกรณีดังกล่าว เป็นทางด้าน น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ กล่าวยอมรับว่า นายธนาธรได้ยื่นขอขยายเวลาจริงตามสิทธิกฎหมาย เพื่อเตรียมการเอกสารพยานหลักฐานให้รัดกุมมากที่สุด
ไม่เท่านั้นยังพาดพิงไปถึงการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยคำพูดสื่อเจตนาวิพากษ์วิจารณ์ ว่า อยากเรียกร้องให้ยึดถือบรรทัดฐานในการทำงานให้เป็นแบบเดียวกัน ด้วยการธำรงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ ดำเนินการอย่างเป็นธรรม เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ากรณีของนายธนาธร นั้นเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งประชาชนก็กำลังจับตาดูอยู่ว่า จะมีบรรทัดฐานในการทำหน้าที่อย่างไร
ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาซึ่งเหตุพิจารณาประกอบ ในเหตุผลจริง ๆ ของการขอขยายกรอบเวลาชี้แจงข้อกล่าวหา ทั้ง ๆ ที่ต้องเน้นย้ำว่า “ธนาธร” เป็นฝ่ายมั่นใจในหลักฐาน และเลือกตอบโต้ทุกฝ่าย มาโดยตลอดนับตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2562
เมื่อ “ธนาธร” โพสต์ข้อความชี้แจงและเอกสารการโอนหุ้นชี้แจงผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า จากกรณีที่ตนถูกกล่าวหาว่าถือบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด อาจขาดคุณสมบัติการลงเลือกตั้ง ขอชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวไม่เป็นความจริงอย่างแน่นอน ตนและภรรยาโอนหุ้นไปตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา 1 เดือนก่อนการยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลว่าจะมีปัญหาทางกฎหมายในเรื่องนี้
ต่อมาในวันที่ 2 เมษายน . 2562 “ธนาธร” ตัดสินใจออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊ก แฟนเพจ Thanathorn Juangroongruangkit แสดงรายละเอียดข้อมูลการถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด โดยการไล่ลำดับวันเวลาอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อหักล้างข้อเท็จจริงเรื่องเอกสารราชการว่าด้วยการโอนหุ้น ซึ่งปรากฏว่าเกิดขึ้นในวันที่ 21 มีนาคม 2562
ไม่นับรวมการนำสื่อมวลชนไปเยี่ยมชม บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด แสดงเจตนาให้สาธารณชนเห็นว่า เป็นธุรกิจที่เลิกกิจการ และเดินหน้าให้สัมภาษณ์ตอบโต้มาโดยตลอดต่อเนื่อง จนมาถึงล่าสุด เลือกวิธีการส่งทีมงานพรรคอนาคตใหม่ ฟ้องเอาผิดกับผู้สมัครพรรคการเมืองอื่น ๆ โดยระบุว่ามีพฤติการณ์เข้าข่ายกระทำผิดเช่นกัน
ท้ายสุดถ้าถามว่าอะไรคือ บริบทสำคัญ ที่น่าเป็นห่วงสำหรับการต่อสู้ข้อกล่าวหาของ “ธนาธร” น่าสนใจในมุมมองของ “คำนูณ สิทธิสมาน” สมาชิกวุฒิสภา เคยแสดงความเห็น ไว้ว่า กระทำของ “ธนาธร” มีลักษณะเข้าข่ายกระทำผิดเรื่องการถือหุ้นสื่อ
เนื่องด้วยหลักของการพิจารณา ว่าวันใดเป็นวันโอนหุ้นจริง มีข้อกฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 1129 วรรคสาม
"มาตรา 1129 อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น
"การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอนมีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ ด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ อนึ่งตราสารอันนั้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย
"การโอนเช่นนี้จะนํามาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกไม่ได้จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น"
และสำคัญสุด ๆ ที่อาจเข้าใจได้ว่า ช่วงท้ายนี้ ทำไม “ธนาธร” เลือกจะทอดเวลาชี้แจงหลักฐานต่อศาลรัฐธรรมนูญ แทนจะทำให้จบครบถ้วนกระบวนความตามกำหนดเดิม คือ 15 วัน ถ้ามั่นใจในความบริสุทธิ์
คือ หลักกฎหมาย ที่นำเสนอไว้โดย อ.ชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า
....ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจเพิกถอนการเป็น ส.ส.ของนายธนาธรเพราะมีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา มาตรา 98 (3) คือเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
.....นายธนาธรต้องถูกดำเนินคดีตาม พรป. การเลือกตั้ง มาตรา 151 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะ ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกต้ังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนด 20 ปี