- 10 มิ.ย. 2562
1. ความคิดแบบ "ปฏิกษัตริย์นิยม" (anti-royalism) คืออะไร? ความคิด "ปฏิกษัตริย์นิยม" มองว่า การดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่เป็นมาโดยตลอดในสังคมไทย
1. ความคิดแบบ "ปฏิกษัตริย์นิยม" (anti-royalism) คืออะไร?
ความคิด "ปฏิกษัตริย์นิยม" มองว่า การดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่เป็นมาโดยตลอดในสังคมไทยไม่สามารถไปด้วยกันได้กับการเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง กระทั่งจะต้องมีการดำเนินการลดทอนสถานะและอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งในทางรัฐธรรมนูญ ทางกฏหมาย และทางวัฒนธรรม (ดังที่มีความพยายามดำเนินการตลอดมา)เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ โดยแท้จริง
ที่ผ่านมาพรรคอนาคตใหม่ ธนาธร และปิยบุตร แสดงจุดยืนเช่นนี้มาโดยตลอด
2. ความคิด "ปฏิกษัตริย์นิยม" ไม่จำเป็นต้อง "ล้มเจ้า"
ความแตกต่างระหว่างพรรคอนาคตใหม่ กับ พรรคคอมมิวนีสต์แห่งประเทศไทย ก็คือไม่ประกาศเป้าหมายของพรรคอย่างชัดเจนเหมือน พคท. เรื่องล้มล้างการปกครอง กระนั้นความเหมือนกันของพรรคอนาคตใหม่และพคท.ก็คือ ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมไทย
พคท. ต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
แต่ พรรคอนาคตใหม่โดยเฉพาะ ธนาธร ต้องการมีอำนาจเพื่อ "ต่อรอง" กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้ xxx เรียกธนาธรไป xxx (สนธิญาณ, 9 มิ.ย. 2562. คม ชัด ลึก สุดสัปดาห์) อ้างถึงบทสัมภาษณ์ของธนาธร "นี่ต่างหากคือเป้าหมาย ถ้าจัดการเรื่องนี้ไม่ได้ เอาทหารออกจากการเมืองไม่ได้หรอก จัดการเรื่องศาลไม่ได้หรอก จัดการเหี้ยห่าอะไรไม่ได้' (Portrait ธนาธร (2018))
3. ความคิดปฏิกษัตริย์นิยมก็ไม่ปฏิเสธ "การล้มเลิกสถาบัน" ถ้าเป็นฉันทามติของประชาชน
ดังที่ปิยบุตรได้ชี้แจงเรื่องนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ที่ไม่เขียนว่าจะสนับสนุนระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่เขียนว่าจะสนับสนุนประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ว่าในเมื่อ รัฐธรรมนูญเขียนไว้แล้วว่าสนับสนุนระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็เท่ากับพรรคอนาคตใหม่ก็สนับสนุนด้วย(ตามตัวอักษร)
แต่นโยบายและการเคลื่อนไหวของพรรคก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งแม้ไม่ระบุว่าเป็นหมวดไหน มาตราใด แต่ก็เป็นไปได้ที่พรรคอนาคตใหม่จะเสนอแก้เรื่องนี้ทันทีที่พร้อมและยึดกุมอำนาจการเมืองในมือได้
4. การเคลื่อนไหวแบบปฏิกษัตริย์นิยมของพรรคอนาคตใหม่ "โดยเปิดเผย" ในเบื้องต้นจึงเป็นการคัดง้างและลดทอนอำนาจทางกฏหมายของ สถาบันทหาร และ ศาล แทนการพุ่งเป้าไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง
โดยพรรคมองว่าทั้ง "ศาล" และ "ทหาร" คือ "ตัวแทน" ของการเมืองแบบกษัตริย์นิยมที่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ดังปรากฏวาทกรรม "ตุลาการภิวัฒน์", ต่อต้าน ม.112 และ "ระบบเปรมาธิปไตย" (รวมถึงวาทกรรม "อำมาตย์" ในช่วงการชุมนุมของนปช.) มาจนถึงวาทกรรมต่อต้านรัฐประหาร, คสช.และพล.อ.ประยุทธ์ ต่างๆนานา จนถึงปัจจุบัน
ประกอบกับการแสดงความเห็นทางวิชาการเรื่องการเปลี่ยนผ่านจากระบบกษัตริย์ไปสู่ระบบประชาธิปไตยในต่างประเทศของปิยบุตร(ต่างกรรมต่างวาระ)เรื่อง"ระบอบประชาธิปไตยที่อนุญาตให้มีพระมหากษัตริย์" ที่กล่าวถึง การลงประชามติตามรัฐธรรมนูญว่าจะให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่หรือสลายไป
ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้แยกขาดกับการ "ล้มเลิก" สถาบันกษัตริย์ไปอย่างชิ้นเชิง เพียงแต่เก็บซ่อนความคิดนี้เอาไว้ รอวันเวลาที่เหมาะสม
5. แต่การเคลื่อนไหวคู่ขนาน "ในทางอ้อม" ก็คือการลดทอนสถานะสูงส่งทางวัฒนธรรมและจารีตของสถาบันพระมหากษัตริย์
ซึ่งก็คือ "การลดทอนสถานะอันศักดิ์สิทธิ์" (demytified)ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นการไม่ใช้คำราชาศัพท์, การพูดถึงอย่างไม่ได้ให้ความเคารพ, การเสียดสี (แซะ) ความจงรักภักดีของผู้อื่น (ในที่นี้ไม่นับรวมถึงการอาฆาตมาดร้าย ใส่ร้ายด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จที่ผิดกฏหมาย ม.112 อยู่แล้ว) เช่น
5.1 การกล่าวถึงแบบคาบลูกคาบดอก กำกวม แต่เป็นที่เข้าใจกันในพวกเดียวกัน (กฏหมายเอาผิดไม่ได้)
5.2 การล้อเลียนกระทบกระทั่งโดยอ้างว่ากล่าวถึงประเทศอื่นๆ (กฏหมายเอาผิดไม่ได้)
5.3 การแสดงความเห็น, ทัศนะ วิพากษ์วิจารณ์ ทางวิชาการที่อ้างเสรีภาพทางวิชาการรองรับ (มีกรณีที่เอาผิดไม่ได้ และถูกฟ้องร้องดำเนินคดี)
ทั้งนี้เพราะความคิดที่เป็นแกนกลางของแนวคิดปฏิกษัตริย์นิยมก็คือ การครอบงำและมีอำนาจนำ(hegemony) ที่มีอิทธิพลต่อโครงสร้างในระดับลึกในสังคม มากกว่าการกดขี่ข่มเหงหรือการเอารัดเอาเปรียบอย่างที่เป็นรูปธรรมทางสังคม
ซึ่งการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนี้ ไม่ใช่แค่การปฏิวัติสังคมแค่ผิวเปลือกนอก (ดังความล้มเหลวของ "คณะราษฏร์") แต่เป็นการปฏิวัติถึงระดับความคิด คุณค่า โลกทัศน์ กระบวนทัศน์ ในทางอัตวิสัยอีกด้วย
จะเห็นว่าพฤติกรรมของ "ช่อ-พรรณิการ์" ก่อนที่จะมาเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลีสต์พรรคอนาคตใหม่ ก็มีลักษณะที่บ่งชี้ว่าตกอยู่ใต้กระบวนการเช่นนี้มาช้านานแล้ว
จุดประสงค์ไม่ใช่การล้มล้าง หรือ ล้มเลิก หากแต่ทำให้สถาบันหลักของชาติค่อยๆสูญเสียคุณค่าและอำนาจนำทางสังคมวัฒนธรรมในหมู่คนรุ่นถัดไปและในระยะยาว พร้อมๆกับการสร้างคุณค่าใหม่ของตะวันตกขึ้นมาทดแทนผ่านวาทกรรมนอกกะลา เสรีภาพ อิสระ ประชาธิปไตย
6. มหาวิทยาลัย-โซเซียล เบ้าหลอมแนวคิด "ปฏิกษัตริย์นิยม"
กระบวนการสั่นคลอนรากฐานทางจารีตนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในวันสองวันหรือปีสองปี แต่ใช้เวลาสั่งสมมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ผ่านการปลูกฝังอุดมคติ "เสรีนิยมประชาธิปไตย" ในหมู่อาจารย์มหาวิทยาลัย(ที่เป็นเครือข่ายวิชาการแนวร่วม "ประชาธิปไตย") จนเกิดเป็น "วัฒนธรรมใต้ดิน" ที่สืบทอดกันมาในกลุ่มนิสิต นักศึกษารุ่นแล้วรุ่นเล่า
แม้แต่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ "ช่อ" เรียนจบมาก็ไม่รอดพ้นจากการปลูกฝังและหล่อหลอมความคิดแบบปฏิกษัตริย์นิยม โดยอาศัยความชอบธรรมทางการวิจัย วิชาการ สัมมนา(ระดับชาติ นานาชาติ)เพื่อไม่ให้ผิดกฏหมาย
ส่วนการใช้โซเซียลมีเดียนั้นเป็นเพียงปลายยอดของการแสดงออกในการ "แซะเจ้า" ซึ่งเมื่อก่อนในสมัย พคท.ที่มีข้อจำกัดเรื่องการสื่อสาร งานมวลชนเหล่านี้ต้องปิดลับ แต่ในปัจจุบันสามารภสร้าง "เขตปลดปล่อย" บนโลกโซเซียลได้อย่างเสรี และแทบไม่มีข้อจำกัด
ดังกรณี "ช่อ" ที่ถูกขุดคุ้ยขึ้นมานี้ เป็นเพียง "ก้อนน้ำแข็ง" ก้อนเล็กๆของภูเขาน้ำแข็ง "ปฏิกษัตริย์นิยม" ขนาดมหึมาที่ซุกซ่อนตัวอยู่เท่านั้น