ไม่จบไม่สิ้นสักที!! วิจารณ์ให้แซด เก้าอี้รัฐมนตรี ปชป. 1 โควตาพิเศษ 1 ลุ้นคุณสมบัติจะผ่าน รธน.มาตรา 160 หรือไม่??

ยิ่งงวดใกล้ภาพการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือแรงกระเพื่อมจากภายในแต่ละพรรคการเมืองซีกฝั่งรัฐบาล หมายนับรวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งวันนี้ถึงแม้จะมีความชัดเจนเรื่องบุคคลผู้สมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว จำนวน 7 คน แต่ก็ใช่ว่าจะราบรื่น สมบูรณ์อย่างที่หลายคนเข้าใจ

ยิ่งงวดใกล้ภาพการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น  สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือแรงกระเพื่อมจากภายในแต่ละพรรคการเมืองซีกฝั่งรัฐบาล  หมายนับรวมถึงพรรคประชาธิปัตย์  ซึ่งวันนี้ถึงแม้จะมีความชัดเจนเรื่องบุคคลผู้สมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว  จำนวน 7 คน  แต่ก็ใช่ว่าจะราบรื่น  สมบูรณ์อย่างที่หลายคนเข้าใจ

ทั้งนี้รายชื่อ 7 บุคคลที่ผ่านความเห็นชอบจากกรรมการบริหาร  และ  53  ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์   ประกอบด้วย

1.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์   หัวหน้าพรรค

2.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน         เลขาธิการพรรค

3.นายนิพนธ์ บุญญามณี

4.นายถาวร เสนเนียม

5.นายสาธิต ปิตุเตชะ

6.นายจุติ ไกรฤกษ์

และ 7.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช

โดยเฉพาะรายของคุณหญิงกัลยา   ซึ่งถูกตั้งคำถามในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค   และ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์    ถึงที่มาโควตารัฐมนตรี      จากนายอิสสระ สมชัย  ส.ส.บัญชีรายชื่อ   ด้วยการทักท้วงว่า  เป็นการใช้โควตาประธานภาคอีสานในลักษณะไม่ปกติ                         

จนเป็นที่มาของวิวาทะภายในที่ประชุม   จากคำกล่าวของนายอิสสระที่ตั้งคำถามกับกรรมการบริหารพรรค   ว่า    " ขณะที่ผมมีความอาวุโสและมีคุณสมบัติครบถ้วน    ที่จะเป็นรัฐมนตรีในสัดส่วนของภาคอีสาน  แต่ผู้บริหารกลับไม่เสนอชื่อ??"

ย้อนพิจารณาจากข้อมูลของพรรคประชาธิปัตย์    พบว่า ประชาธิปัตย์ ได้ส.ส.เขตภาคอีสาน   จำนวน   2  ราย   จากจังหวัดอุบลราชธานี   ประกอบด้วย    “นายวุฒิพงษ์ นามบุตร”  เขต 3 อุบลราชธานี   และ  “นางสาวบุณย์ธิดา  สมชัย  เขต 8 อุบลราชธานี   ซึ่งก็เป็นลูกสาวของนายอิสสระ    ส่วน  ส.ส.บัญชีรายชื่อ   ภาคอีสานอีก  จำนวน  4 คน   ก็เป็นกลุ่มส.ส.ได้รับอานิสงส์จากผลคะแนนรวมทั้งประเทศ 

ทั้งหมดจึงเป็นที่มาปมคาใจในเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรี  ของคุณหญิงกัลยา    ซึ่งถูกมองว่าเป็นเงื่อนกำหนด  โดยผู้ใหญ่ภายในพรรคประชาธิปัตย์มาตั้งแต่แรก     เมื่อย้อนกลับไปดูคำสัมภาษณ์ของ  นายจุรินทร์    ซึ่งระบุกระบวนการคัดเลือกผู้สมควรดำรง   ตำแหน่งรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์    ว่า จะวัดจากความรู้   ,  ความสามารถ   , ความซื่อสัตย์สุจริต    การเสียสละเพื่อพรรค รวมถึงสัดส่วนรายภาค    และ  สัดส่วนของสตรี   

อย่างไรก็ตามประเด็นปัญหาการจัดสรร   เก้าอี้รัฐมนตรีภายในพรรคประชาธิปัตย์ไม่จบเท่านั้น  เพราะถึงแม้ว่านายจุรินทร์   จะมีกรอบการพิจารณาว่าด้วยสัดส่วนรายภาค   แต่กลายเป็นว่าในกรณีของภาคใต้ซึ่งมีโควต้ารัฐมนตรี  จำนวน  2 คน  จากสัดส่วนส.ส. 22 คน  กลับมีความชัดเจนเฉพาะในรายของ  นายถาวร  เสนเนียม  

และมีข้อคำถามถึงที่มาของ  นายนิพนธ์  บุญญามณี   อดีตนายกอบจ.สงขลา  ซึ่งไม่มีตำแหน่งเป็นส.ส.ของพรรค   แต่กลับได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี

เช่นก่อนหน้า  นายสาทิตย์   วงศ์หนองเตย   ส.ส.ตรัง    ได้ท้วงติงว่าไม่เหมาะสม  เนื่องจากที่ผ่านมาลาออกจากพรรค  ไปทำงานการเมืองท้องถิ่น  แล้วก็ใช้สิทธิ์ลาออกจากการเมืองท้องถิ่นกลับมาเป็นรัฐมนตรีได้   ถือว่าไม่ยุติธรรมกับคนในพรรค

ก่อนที่นายจุรินทร์   จะออกมาให้การรับรองผลการทำงานของ   นายนิพนธ์  ว่า  ทำหน้าที่นายก อบจ.ในนามพรรคได้ดี    สร้างชื่อเสียงให้กับพรรค  มีผลงานในการนำยางพารามาทำถนน  ถือเป็นต้นแบบที่รัฐบาลนำมาใช้ จึงถือว่ามีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

กระนั้นวิบากกรรมของการนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี   ในรายของนายนิพนธ์ก็ยังไม่จบง่าย ๆ  เมื่อล่าสุดนายศรีสุวรรณ จรรยา   เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย   ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนฯ  พร้อมส่งข้อมูลหลักฐานให้   พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา   นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ประกอบการพิจารณาตัดสินใจไม่เสนอชื่อ   นายนิพนธ์  บุญญามณี  รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา

โดยนายศรีสุวรรณ  อ้างว่า   เนื่องจากมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้อำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายโครงการ  อาทิ

1.โครงการประมูลซื้อรถซ่อมบำรุงทางเอนกประสงค์ ชนิด 10 ล้อ 2 คัน วงเงิน 52 ล้านบาท แต่ไม่ยอมเบิกจ่ายเงินให้กับผู้ชนะการประมูลตามสัญญา จนเอกชนนำความไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองสงขลา และ ศาลได้พิพากษาให้ อบจ. ต้องจ่ายเงินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญา ซึ่งเป็นเหตุให้ราชการเสียหาย

2.โครงการเงินอุดหนุนสมาคมกีฬาจังหวัดสงขลา โดยใช้เงินงบประมาณปี 58-59 ซึ่งเป็นการใช้งบฯเกินกว่าอำนาจหน้าที่ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงินการเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2547 ทำให้รัฐสูญเสียเงินไปกว่า 34 ล้านบาท

3.โครงการจัดซื้อจัดจ้างรถอุบัติเหตุฉุกเฉิน ในราคาที่แพงเกินเหตุ โดยตั้งราคาไว้ที่ 5.7-6 ล้านบาท/คัน

4. โครงการสร้างสวนสาธารณะเมืองสงขลาเพื่อการท่องเที่ยว โดยใช้งบกว่า 375 ล้านบาท โดยอ้างว่าเป็นโครงการที่สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.9 และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ แต่กลับไม่ได้ขอพระราชทานอนุญาตจาก กรมราชเลขานุการในพระองค์ ผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี ตามกฎหมายเสียก่อนแต่อย่างใด รวมทั้งโครงการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย ร. 9 และสมเด็จพระราชินี ซึ่งมิได้ขออนุญาตจากกรมศิลปากร ตามกฎหมายแต่อย่างใดด้วย

5. การอนุมัติงบประมาณโครงการ ให้ 4 อำเภอ ในจ.สงขลา มากกว่าอำเภออื่นๆ ทำให้ขาดความเสมอภาค และบริษัทที่ได้งานรับเหมาก็เป็นบริษัทเดิมๆ ที่เคยทำงานให้ อบจ. ยุคที่นายนิพนธ์ เป็นนายกฯ จึงเข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กัน

อย่างไรก็ตามกับข้อกล่าวหาทั้งหมด  ทางด้านนายนิพนธ์  ได้ออกมาตอบโต้แล้วและยืนยันจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ ใส่ร้ายตนเองว่ากระทำผิดทุจริตต่อหน้าที่ 

โดยระบุว่าข้อกล่าวหาต่าง ๆ ไม่เป็นเรื่องจริง  เช่นกรณี  การจัดซื้อจัดจ้างรถซ่อมบำรุงถนน สองคันรวม 50 ล้านบาท  ก็เป็นการดำเนินการก่อนที่ตนรับตำแหน่ง  และเมื่อเข้ารับตำแหน่งพบว่ามีปัญหาจึงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและระงับการจ่ายเงิน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของจังหวัด 

รวมถึงกรณีอื่น ๆ ที่ตนสามารถชี้แจงข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด  ในชั้นการดำเนินการของปปช.  มั่นใจว่าไม่มีปัญหาขาดคุณสมบัติความเป็นส.ส.อย่างแน่นอน  ส่วนเรื่องร้องเรียนลักษณะนี้ก็ไม่ได้ปรากฏครั้งแรก แต่เป็นทุกครั้งที่เข้าทำงานการเมืองก็จะมีการโจมตีแบบนี้มาโดยตลอด

กระนั้นท้ายสุดก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า  เก้าอี้รัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์  จะราบรื่นหรือไม่ อย่างไร  เมื่อรายชื่อทั้งหมดถูกส่งถึงพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี   ซึ่งจำเป็นยิ่งต้องให้ความสำคัญกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

 

มาตรา  160 (4)  มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

และ  (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง