- 19 มิ.ย. 2562
ถอดรหัสร้อนการเมือง!! “อนาคตใหม่” เปิดเกมส์ ล้ม 41 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ ดูชัดๆข้อกม.ทำได้แค่ไหน เขย่ารัฐบาล ”บิ๊กตู่”??
ด้วยเหตุด้วยผลทางกฎหมาย ที่สุดตรรกะของพรรคอนาคตใหม่ ในการแถลงกดดันศาลรัฐธรรมนูญ ต้องพิจารณาคำร้อง 41 ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลถือหุ้นสื่อ ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ภายใน 7 วัน โดยยกกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มาเปรียบเทียบก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้
ประเด็นสำคัญนี้ ต้องย้อนกลับไปพิจารณา จากส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีของนายธนาธร เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ระบุว่า “ศาลพิจารณาคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง และปรากฏข้อมูลจากเอกสารประกอบคำร้องว่า ตลอดระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นทุกครั้งจะส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ระบุวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น
พร้อมหนังสือนำส่งนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครในเวลาใกล้ชิดกัน ซึ่งแตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นในคดีนี้ ตามเอกสารประกอบคำร้องไม่ปรากฏว่ามีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น จึงปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง
ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องอาจก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายและการคัดค้านโต้แย้งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานสำคัญของที่ประชุม ส.ส.ได้ จึงมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิก ส.ส. จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย”
จากสาระคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นความต่างในรายละเอียด ที่เป็นเงื่อนไขหลัก คือ คำร้องของกกต.มีข้อมูล รายละเอียด แสดงให้เห็นว่า นายธนาธร ไม่ได้เป็นแค่ผู้ถือหุ้น บริษัทวี-ลัค มีเดีย แต่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์เข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจ ตามหลักฐานที่กกต.นำเสนอประกอบ
แล้วถามว่าความต่างอยู่ตรงไหน อ.ชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ได้อธิบายความไว้อย่างชัดเจนว่า
“กรณีนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ รองโฆษกพรรคอนาคตใหม่ได้เรียกร้องให้ประชาชน จับตาดูมาตรฐานการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ หลังรับคำร้องที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นเรื่องรายชื่อ 41 ส.ส. ถือหุ้นสื่อ ว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับการพิจารณากรณีของนายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส. สกลนคร พรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกพิจารณาตัดสิทธิ์
และนายธนาธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ศาลมีคำสั่งยุติบทบาท ส.ส. ซึ่งในวันที่ 19 มิถุนายน 2562 จะครบกำหนด 7 วัน ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง หากยังไม่มีคำสั่ง หรือผลการพิจารณาออกมา พรรคอนาคตใหม่ก็จะออกมาเรียกร้องในขั้นต่อไป นั้น
.....กรณีของนายภูเบศวร์ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่า เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจํากัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการ ประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์และออกหนังสือพิมพ์ จึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) คือเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ และศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีคำสั่ง ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้พิจารณาวินิจฉัย ดังที่รองโฆษกพรรคอนาคตใหม่บิดเบือน
.....ส่วนกรณีของนายธนาธรข้อเท็จจริง ตามที่ กกต.ไต่สวนพยานหลักฐานฟังได้ยุติว่า ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการพิมพ์สิ่งพิมพ์ต่างๆ จึงเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) จริง มีประเด็นเพียงว่า ในขณะรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.นายธนาธรโอนหุ้นให้แก่บุคคลอื่นไปแล้วหรือไม่เท่านั้น
.....แต่กรณีของ ส.ส. 41 คน ยังไม่องค์กรใดทำการไต่สวนพยานหลักฐานมาก่อนเลย ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ถือหุ้นสื่ออย่างที่รองโฆษกพรรคอนาคตใหม่อ้าง เข่น กรณีของนางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ที่ระบุว่าถือหุ้นบริษัท ปารีณา ไกรคุปต์ จำกัด มีวัตถุประสงค์ในข้อ 17 ว่า ประกอบกิจการค้า กระดาษ เครื่องเขียน แบบเรียน แบบพิมพ์ เครื่องพิมพ์ อุปกรณ์การพิมพ์ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ตู้เก็บเอกสาร ฯลฯ ซึ่งหมายความว่า ประกอบกิจการซื้อขายกระดาษ เครื่องเขียน แบบเรียน แบบพิมพ์ เครื่องพิมพ์ อุปกรณ์การพิมพ์ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ตู้เก็บเอกสาร ฯลฯ ไม่ได้ถือหุ้นสื่ออย่างที่รองโฆษกพรรคอนาคตใหม่อ้างแต่อย่างใด
.....ทั้งเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้สั่งรับคำร้องดังที่รองโฆษกพรรคอนาคตใหม่บิดเบือน ความจริงคือประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ โดยเจ้าหน้าฝ่ายธุรการของศาลฯได้รับเรื่องไว้เท่านั้น ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้มีคำสั่งอะไรเลย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งมี ส.ส. ถึง 41 คน ต้องใช้เวลาพอสมควรในการตรวจสอบก่อนที่จะเสนอให้ตุลาการพิจารณา
.....ถ้า ส.ส.ที่ร่วมกันเข้าชื่อยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถูกฟ้องข้อหาร่วมกันยื่นคำร้องอันเป็นเท็จ พรรคอนาคตใหม่คงกล่าวหาว่าถูก คสช. กลั่นแกล้งเหมือนที่เคยกล่าวหาอยู่เป็นประจำ
.....นี่คือการกล่าวบิดเบือนความจริงหลอกลวงผู้สนับสนุน ที่ไม่รู้ความจริงของพรรคอนาคตใหม่เพื่อสร้างวาทกรรม ศาลรัฐธรรมนูญสองมาตรฐาน ดังที่ได้กล่าวไว้เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2562 ”
จากรายละเอียดมุมมองทางกฎหมายของ อ.ชูชาติ แสดงความต่าง ๆ ที่สามารถอธิบายได้โดยสมบูรณ์ ว่า เงื่อนไขการเร่งรัด กดดันให้ศาลรัฐธรรรมนูญ ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ภายใต้บรรทัดฐานเดียวกับ นายธนาธร มิอาจพึงกระทำได้ในกระบวนการยุติธรรม หากแต่เป็นความพยายามบิดเบือน เพื่อผลทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ ที่จะมีการเคลื่อนไหวอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปหลังจากนี้
เพราะผลการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณี 41 ส.ส.หากเข้าเงื่อนไข มาตรา 82 (2) กรณีศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องไว้พิจารณา หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัย
และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคําวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภาที่ได้รับคําร้องตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ให้ผู้นั้นพ้นจากตําแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นได้กระทําไปก่อนพ้นจากตําแหน่ง
โดยสรุปภาพรวม ถ้าพิจารณาในแง่มุมทางการเมือง ช่วงระยะการจัดตั้งรัฐบาล กรณีนี้ย่อมมีผลสำคัญและเป็นที่คาดหวังยิ่งจากพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน เนื่องจากปัจจุบันจำนวน ส.ส.ในฝั่งของรัฐบาล ถึงแม้จะเป็นเสียงข้างมากในระบอบรัฐสภา แต่ก็เป็นตัวเลขปริ่มน้ำที่มีความเสี่ยงสูง คือ มีความต่างระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน เพียง 8 เสียง จากจำนวน 254 เสียง ส.ส.รัฐบาล 19 พรรคการเมือง กับ 246 เสียง จาก 7 พรรคฝ่ายค้าน
หักลบกลบหนี้แล้ว ในกรณี 41 ส.ส. หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ก็จะทำให้โมเมนตัมของการจัดตั้งรัฐบาลเปลี่ยนไปทันที โดยเฉพาะการพลิกขั้วทำให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ส่งผลให้ภาพรวมการเมืองประเทศ ก็มีโอกาสจะเดินไปสู่จุดยุบสภาเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง
กระนั้นก็มีแง่มุมทางกฎหมาย ที่ต้องพิจารณาประกอบด้วย ว่ากรณีการจดทะเบียนประกอบธุรกิจสื่อ มีรายละเอียดเข้าข่ายการกระทำผิด เช่นเดียวกับนายธนาธร หรือไม่ อย่างไร
กรณีนี้ ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ได้โพสต์แสดงความเห็นไว้ดังนี้
“ตามที่ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่เข้าชื่อร้องต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง ว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. จำนวน 41 คนได้สิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (6) เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 จากการเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน และนายชวน หลีกภัย ได้ส่งหนังสือไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส. ของ ส.ส. จำนวน 41 คน ได้สิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ นั้น แนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ น่าจะมีได้ 2 แนวทาง ดังนี้
1.แนวทางที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับคำสั่งศาลฎีกาที่ 1356/2562 และ 1706/256 ที่วินิจฉัยว่า การที่นายคมสัน ศรีวณิชย์ ผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดอ่างทอง พรรคประชาชาติ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการโรงพิมพ์ รับพิมพ์หนังสือจําหน่าย และออกหนังสือพิมพ์ และการที่นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดสกลนคร พรรคอนาคตใหม่ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจํากัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และออกหนังสือพิมพ์ นั้น ถือได้แล้วว่าบุคคลทั้งสองเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ซึ่งต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และ พรป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วบริษัทและห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวจะเพียงแค่ระบุให้มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนไว้เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนก็ตาม
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในแนวทางนี้ก็จะเป็นการวางแนวคำวินิจฉัยที่ทำให้ ส.ส. ที่ถือหุ้นในนิติบุคคลที่เพียงแค่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน แม้จะไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนก็ตาม ต้องตกเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.และจะส่งผลให้สมาชิกภาพของ ส.ส. จำนวนมากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวต้องสิ้นสุดลง
2. แนวทางที่พิจารณาว่านิติบุคคลที่ ส.ส. เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนตามความเป็นจริงหรือไม่ โดยแนวทางนี้ ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะพิจารณาว่าการที่กำหนดข้อห้ามไม่ให้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน เพื่อไม่ต้องการให้ผู้สมัคร ส.ส. ใช้กิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนชี้นำประชาชนในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือใช้อิทธิพลหรืออำนาจของตนในการแทรกแซงสื่อ ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงจะไม่ได้พิจารณาเพียงแค่ว่านิติบุคคลที่ ส.ส. เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนเท่านั้น แต่น่าจะพิจารณาด้วยว่า นิติบุคคลนั้นได้ประกอบธุรกิจที่เป็นกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนตามความเป็นจริงหรือไม่ประกอบด้วย ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในแนวทางนี้ ก็จะต้องพิจารณาสมาชิกภาพ ส.ส. ของแต่ละคน การสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. หรือไม่จึงต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป
หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในแนวทางนี้ก็จะมีผลผูกพันให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งต้องวินิจฉัยในแนวทางเดียวกัน หากมีคดีลักษณะเดียวกันนี้ขึ้นสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาในอนาคต แต่ไม่มีผลในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งศาลฎีกาที่ 1356/2562 และ 1706/2562 ดังกล่าวที่ถึงที่สุดไปแล้ว
และเรื่องนี้ไม่เข้ากรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกันตาม พรบ. ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 มาตรา 14 ซึ่งใช้บังคับเฉพาะกับศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหารเท่านั้น ซึ่งจะมีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเป็นผู้วินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ถึงที่สุดที่ขัดแย้งกัน”