สมศักดิ์ สั่งการด่วน เร่งล่าตัว ธัมมชโย พบวงเงินยักยอกสูงหมื่นล้าน

สมศักดิ์ สั่งการด่วน เร่งล่าตัว ธัมมชโย พบวงเงินยักยอกสูงหมื่นล้าน

เมื่อวันที่ 29 ก.ค.62 พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้สั่งการมายังดีเอสไอให้เร่งรัดและติดตามการสอบสวนคดีฉ้อโกงประชาชนและยักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด เนื่องจากเป็นคดีที่ผู้เสียหายจำนวนมาก วงเงินความเสียหายสูง มีความเกี่ยวพันกับมูลนิธิ วัดพระธรรมกาย พระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสตกเป็นผู้ต้องหาหลบหนีหมายจับ ในวันศุกร์ที่ 2 ส.ค. เวลา 13.30 น. 

ดีเอสไอจึงออกหนังสือเชิญอัยการ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกันเพื่อประมวลข้อมูลโดยเฉพาะการบริหารจัดการวัดพระธรรมกาย และการตรวจสอบติดตามเบาะแสเพื่อจับกุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับ อย่างไรก็ตาม สำหรับการสอบสวนคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์คลองจั่นฯในส่วนที่เป็นสำนวนหลัก การสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล โดยคดีที่ยังค้างการสอบสวนอยู่ในดีเอสไอประมาณ 10 สำนวน เป็นคดีฟอกเงินที่แตกย่อยออกมาจากการขยายผลสอบสวนตามเส้นทางการเงินที่ถูกนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ยักยอกไปจากสหกรณ์คลองจั่นฯ ด้วยการสั่งจ่ายเช็ควงเงินกว่า 10,000 ล้านบาท จนเป็นผลให้สหกรณ์คลองจั่นฯขาดสภาพคล่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสำนวนคดีที่แตกย่อยมาจากการยักยอกสหกรณ์คลองจั่นฯ เป็นการขยายผลตรวจสอบเส้นทางเงินจากเช็ค 878 ฉบับ ที่นายศุภชัยผ่องถ่ายไปให้กับคน 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 วัดพระธรรมกาย พระธัมมชโย มูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ขนนกยูง เครือข่ายพระวัดธรรมกายและอดีตพระลูกวัด 43 ฉบับ จำนวน 932 ล้านบาทกลุ่มที่ 2 ญาติธรรม และบุคคลใกล้ชิดของศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น 27 ฉบับ จำนวน 348 ล้านบาท กลุ่มที่ 3 บริษัท เอส.ดับบลิว โฮลดิ้ง กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด 12 ฉบับ จำนวน 272 ล้านบาท กลุ่มที่ 4 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี 3 ฉบับ จำนวน 46 ล้านบาท กลุ่มที่ 5 กลุ่ม วัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ จีรเดช วรเพียรกุล และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนรัฐประชา 135 ฉบับ จำนวน 2,566 ล้านบาท และกลุ่มที่ 6 นิติบุคคล เงินโอนภายในประเทศและต่างประเทศ การถอนเงินสด แคชเชียร์เช็ค โอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หักบัญชีผ่านอิเล็กทรอนิกส์ และโอนเงินทางอินเตอร์เน็ต 658 ฉบับ จำนวนสูงถึง 7,203 ล้านบาท
 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ส่วนกรณีการเสนอให้ยุบเลิกมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ขนนกยูง ภายหลังดีเอสไอตรวจสอบพบว่านายศุภชัยนำเงินจากสหกรณ์คลองจั่นฯ มาให้กับพระธัมมชโยแล้วเงินถูกส่งต่อไปให้มูลนิธิอุบาสิกาจันทร์ฯ ใช้สร้างอาคารลูกโลก 700-800 ล้านบาท และสร้างวิหารคตอีก 700-800 ล้านบาท และมีเงินบริจาคตรงเข้ามูลนิธิฯ 325 ล้านบาท รวมถึงเงินอยู่ในพระสงฆ์เครือข่าย 30 รูปนำไปซื้อที่ดินและเล่นหุ้น มูลนิธิอุบาสิกาจันทร์ฯ จึงมีส่วนกระทำความผิดในคดีฟอกเงิน ที่ผ่านมาดีเอสไอได้แจ้งข้อกล่าวหาและนำตัวกรรมการมูลนิธิฯไปส่งฟ้องแล้ว แต่เพื่อการดำเนินการเป็นที่สิ้นสุด ดีเอสไอจึงส่งคำร้องถึงอัยการสูงสุดขอให้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ให้มีคำสั่งยกเลิกมูลนิธิฯ และให้ทรัพย์สินของมูลนิธิตกเป็นของแผ่นดินตามประมวลกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 134 แต่จนถึงขณะนี้คำร้องยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นพนักงานอัยการ ในส่วนการติดตามตัวพระธัมมชโยนั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ใดพบตัว มีเพียงข้อมูลการข่าวหลายกระแส บางส่วนอ้างว่ายังหลบเข้าออกในพื้นที่วัดและหลบหนีไปต่างประเทศ

ในส่วนของการติดตามทรัพย์สินเพื่อส่งคืนให้กับสหกรณ์คลองจั่นฯ ดีเอสไอได้ติดตามเงินสดจำนวน 1,500 ล้านบาท ทรัพย์สินอีก 299 รายการ มูลค่า 3,800 ล้านบาท รวมทรัพย์ที่สามารถติดตามคืนได้ทั้งสิ้น 5,300 ล้านบาท ส่งคืนให้กับสหกรณ์ฯ เพื่อนำไปเฉลี่ยคืนให้กับสมาชิก 50,000 ราย อย่างไรก็ตาม ทรัพย์ที่นายศุภชัยยักยอกมาจากสหกรณ์ฯ ระหว่างปี 52-56 มีมากกว่า 12,000 ล้านบาท มีทั้งนำไปซื้อหุ้นลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซื้อที่ดินทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ทำให้ต้องขยายผลการสอบสวนจากเดิม 12 คดี เพิ่มอีก 11 คดี รวมเป็น 23 คดี และมีแนวโน้มที่จะมีคดีฟอกเงินเพิ่มขึ้นตามเส้นทางการเงินที่ตรวจพบ