- 28 ส.ค. 2562
ถึงนาทีนี้มีการมองว่าประเด็นร้อนการเมือง ว่าด้วยการเดินหน้าเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กรณีการกล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 มาถึงจุดของความคลี่คลายในระดับสำคัญ
ถึงนาทีนี้มีการมองว่าประเด็นร้อนการเมือง ว่าด้วยการเดินหน้าเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กรณีการกล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 มาถึงจุดของความคลี่คลายในระดับสำคัญ
โดยปมร้อนดังกล่าว "สนข.ทีนิวส์" เคยเรียบเรียงนำเสนอมาแล้วหนึ่งรอบ โดยย้ำให้เห็นพฤติกรรมเชิงลึกของพรรคฝ่ายค้าน ที่ไปไกลกว่าจะติติง ทักท้วง แต่เจตนาชัดว่าต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลายเป็นผู้กระทำผิดต้องพ้นจากหน้าที่
แปลความง่าย ๆ ก็คือสบช่องเอาเรื่องของขั้นตอนการถวายสัตย์มาใช้ซักฟอก พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ต่างกับการใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการพิฆาตรัฐบาล ยกตัวอย่างกรณี การเคลื่อนไหวของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่มีการยื่นคำร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความผิด ตามมาตรา 46 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนประเด็นข้อกล่าวหาที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ นำเสนอผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ในเชิงลึกรายละเอียด ก็เป็นผลสืบเนื่องต่อจาก ข้อกล่าวหาการทำหน้าที่ของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในกรณีปล่อยให้ พล.อ.ประยุทธ์ และ ครม. ปฏิบัติหน้าที่ ทั้ง ๆ ที่ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน อันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 159, 161 และ 162
จนท้ายสุดไปไกลถึงขั้น รวมกันเข้าชื่อส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้าน จำนวน 214 คน ยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอใช้สิทธิตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ เพื่อซักถามและเสนอแนะ จากกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ พร้อมย้ำว่าเท่ากับเป็นการเข้ารับหน้าที่ไม่สมบูรณ์ ของพล.อ.ประยุทธ์ และครม.
ย้ำช้า ๆ ชัด ๆ ว่า สนข.ทีนิวส์ ได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายพึงตระหนักเรื่องนี้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2562 ว่า การยกประเด็นคำถวายสัตย์ฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อไล่"นายกฯตู่" ให้พ้นเก้าอี้ ต้องระวังให้ดีอย่าล้ำเกิน-จนก้าวล่วง!??
เป็นการถอดรหัสจากคำพูดของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่เริ่มต้นจากการให้ข้อมูลว่า สักวันหนึ่ง จะทราบเองว่าทำไมไม่ควรพูด ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า การดำเนินการทุกอย่างที่ผ่านมา เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญทุกประการ ในการถวายสัตย์ฯต่อหน้าพระมหากษัตริย์ และสำคัญที่สุดข้อความต่างๆที่พูดไปแล้ว ถือว่าครอบคลุมทั้งหมด และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญในการดูแลพี่น้องประชาชนคนไทย
สิ่งที่สำคัญเหนือยิ่งสิ่งอื่นใด คือ พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า ด้วยการพระราชทานกำลังใจ ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ และ ครม.ชุดใหม่ ในการมุ่งมั่นต่อการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ได้ตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณ เพื่อประโยชน์สุขและความมั่นคงของประเทศชาติและประชาชน
งานใด ๆ ก็ต้องมีอุปสรรค งานใดๆ ก็ต้องมีปัญหา เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องแก้ปัญหาและเข้าหางาน เพื่อให้การบริหารประเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามสถานการณ์ โดยแก้ไขให้ตรงเป้าตรงจุด และมีความเข้มแข็งอดทน ก็ขอให้คณะรัฐมนตรีและรัฐบาลได้มีกำลังใจ มีพลังที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยดี ด้วยความถูกต้องต่อไป
ในคราวนั้น สนข.ทีนิวส์ ยังเน้นให้ทุกฝ่ายพึงตระหนัก ด้วยว่า ถ้อยคำถวายสัตย์ปฏิญาณ แม้เป็นสิ่งสำคัญตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แต่ยิ่งยวดที่สุดทุกรัฐบาลต้องกระทำ ก็คือ การบริหารประเทศให้เป็นไปตามคำถวายสัตย์ โดยที่ผ่านมารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 205 และ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 175 ก็มีการเขียนประเด็นว่าด้วยถ้อยคำถวายสัตย์ฯไว้เช่นกัน
ทั้งเรื่องความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน และการรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ แต่ประชาชนคนไทยล้วนประจักษ์ด้วยข้อเท็จจริงว่า รัฐบาลที่ผ่าน ๆ มา ได้ตระหนักหรือปฏิบัติตามคำถวายสัตย์ฯหรือไม่ อย่างไร
อย่างไรก็ตามเมื่อกระบวนการทั้งหมดมาถึงจุดนี้ จึงมิบังควรตีความใด ๆ ให้เป็นการกระทบต่อสถาบันเบื้องสูง และคงต้องติดตามดูขั้นตอนอื่น ๆ ที่มีการดำเนินการไปก่อนหน้า ว่าจะมีบทสรุปอย่างไร
อย่างกรณีคำร้องถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ล่าสุด นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงมติที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน ใน 3 ประเด็น คือ 1. ให้ยุติคำร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และ นายอัยย์ เพชรทอง เลขาธิการองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ ในประเด็นเดียวว่า หากการที่นายกฯถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง โดยผู้ตรวจฯ พิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีการถวายสัตย์ไม่ครบเป็นเรื่องของการกระทำ ไม่ใช่บทบัญญัติกฎหมาย จึงไม่ได้เป็นประเด็นว่าข้อความหรือถ้อยคำในการกล่าวถวายสัตย์ฯ มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อเป็นการกระทำก็เห็นว่าไม่ใช่การกระทำทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง จึงมติให้ยุติเรื่องในส่วนของ 2 คำร้องนี้
2.มติให้ยุติเรื่องกรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ขอให้พิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 46 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรและประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 252 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ ห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่ การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา
นอกจากนี้มติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งถือเป็นบทยกเว้นมาตรา 159 วรรคหนึ่งและวรรคสาม แม้ไม่ได้บัญญัติยกเว้นมาตรา 159 วรรคสอง ไว้ด้วยก็ตาม แต่มาตรา 159 วรรคสอง เป็นเพียงกำหนดหลักเกณฑ์ในการเสนอชื่อบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นการกระทำของ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จึงเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่ได้มีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ และฟังไม่ได้ว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจึงให้ยุติเรื่อง
และ 3.มติให้ส่งคำร้องของ นายภานุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 46 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 เพื่อให้วินิจฉัยว่าการที่นายกรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิเสรีภาพของนายภานุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่เป็นผู้ยื่นคำร้องหรือไม่
โดยผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า แม้พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี จะชี้แจงมาว่า ก่อนเข้ารับหน้าที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้ว เป็นการกระทำที่ครบถ้วนตามกระบวนการและขั้นตอน ถือว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ได้ปฏิบัติสำเร็จโดยสมบูรณ์ ทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัย แต่รัฐธรรมนูญตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ระบุ“รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้...”
แต่เมื่อถ้อยคำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงอาจเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปด้วย รวมถึงมีปัญหา ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของนายภาณุพงศ์ในฐานะผู้ร้องเรียน เป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อนหรือโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 46 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 และเป็นไปตามนัยมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ
@ โดยขั้นตอนก็คงเป็นไปตามกระบวนการทั้งหมดนี้ แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาประกอบ ก็คือ ท่าทีของนักการเมืองที่จุดเรื่องนี้ขึ้นมา ว่าจะขยายความไปในทิศทางไหน
ตัวอย่างสำคัญ คงหนีไม่พ้น นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่ดูเหมือนจะยังคงคาใจในพิธีการเข้ารับพระราชดำรัส พร้อมลายพระหัตถ์ ต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ เพราะมีการใช้คำพูดทำนองว่า อดีตที่ผ่านมา สมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการขอพระบรมราชานุญาต นำพระราชดำรัสมาตีพิมพ์เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อนำแจกจ่ายแก่ ครม. ทุกคน เพื่อให้เป็นเครื่องเตือนใจในการทำงาน เพียงแต่ในกรณีของพล.อ.ประยุทธ์ถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดพิธีดังกล่าว ซึ่งต้องถือว่าไม่ใช่การถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่
กล่าวโดยนัยแล้ว นายปิยบุตรยังคงค้างคาใจ ขั้นตอนการถวายสัตย์ของพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ว่า มีความสมบูรณ์ครบถ้วนหรือไม่ และต้องรอกระบวนการจากการที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แม้จะอ้างว่าส่วนตัวยืนยัน เรื่องนี้ไม่ได้หวังล้มรัฐบาล แต่ต้องการความแน่นอนชัดเจน เพื่อให้ครม. ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แบบตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น
ส่วนขั้นตอนการอภิปรายในสภาผู้แทนฯตามมาตรา 152 นายปิยบุตร กล่าวแต่เพียงว่า ยังไม่มีการหารือกับพรรคเพื่อไทย เนื่องจากสัปดาห์นี้ไม่มีการประชุมสภา แต่พรรคอนาคตใหม่ยืนยันว่าแม้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว แต่สภาผู้แทนราษฎรยังสามารถพิจารณาญัติติดังกล่าวได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาก่อน ซึ่งเป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ ซึ่งรัฐสภากับศาลรัฐธรรมนูญมีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากันไม่มีใครด้อยไปกว่าใคร
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-แค่ส.ส.สุรินทร์ไปขอบคุณ "บิ๊กตู่" ช่วยชาวบ้าน ถึงต้องกดดันเอาผิด ...แล้วถูกมั๊ยล่ะ ทักษิณเลือกจัดงบฯ ปลอดประสพ หยามคนภูเก็ต ??
-ศาลฎีกาพิพากษากลับ สั่ง จตุพร-ณัฐวุฒิ-อริสมันต์ ชดใช้เงิน 19.3 ล้าน ฐานยุยงคนเสื้อแดงเผาเมือง
-“ยุทธพงศ์” อดีตคนปชป. วันนี้ยกคำ เพื่อไทย ไม่รับใช้ทหาร ลุยเอาผิด 2 ส.ส.บุรีรัมย์ เพราะแสดงน้ำใจกับ ”บิ๊กตู่” ดูแลชาวบ้านในพื้นที่!??
-แฉบางพรรคระดมสมาชิกเข้ากลุ่มมิตรภาพรัฐสภาระหว่างปท.ฉวยโอกาสใช้เป็นเวทีการเมือง สุดพิลึก!สส.หลายคนไม่รู้เรื่อง