- 19 ก.ย. 2562
จนถึงวันนี้ยังไร้วี่แววว่าจะมอบตัวในคดีอาญา ถูกศาลออกหมายจับถึง 2 สำนวนความผิดซ้อน ๆ จนทำให้เชื่อได้ว่า นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง น่าจะหนีออกนอกประเทศไปแล้ว เพื่อหลบเลี่ยงโทษจำคุก ทั้งคดีที่มีคำพิพากษาแล้ว และคดีอยู่ในกระบวนการยุติธรรม และ มิหนำซ้ำยังพาภรรยา อย่าง นางรพิพรรณ พงศ์เรืองรอง หนีตามไปเผชิญวิบากรรมร่วมกันด้วย ในฐานะจำเลยคดีกระทำผิดแจ้งบัญชีทรัพน์อันเป็นเท็จ
จนถึงวันนี้ยังไร้วี่แววว่าจะมอบตัวในคดีอาญา ถูกศาลออกหมายจับถึง 2 สำนวนความผิดซ้อน ๆ จนทำให้เชื่อได้ว่า นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง น่าจะหนีออกนอกประเทศไปแล้ว เพื่อหลบเลี่ยงโทษจำคุก ทั้งคดีที่มีคำพิพากษาแล้ว และคดีอยู่ในกระบวนการยุติธรรม และ มิหนำซ้ำยังพาภรรยา อย่าง นางรพิพรรณ พงศ์เรืองรอง หนีตามไปเผชิญวิบากรรมร่วมกันด้วย ในฐานะจำเลยคดีกระทำผิดแจ้งบัญชีทรัพน์อันเป็นเท็จ
ทั้งนี้นายอริสมันต์ เดิมทีก็เป็นศิลปินนักร้องที่เคยมีชื่อเสียง เหมือนกับคนดังหลายคนที่เข้าสู่เส้นทางการเมือง จากการได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ส.ส.สมัยแรกในปี 2538 สังกัดพรรคพลังธรรม
ก่อนจะโยกย้ายตามมาอยู่กับ นายทักษิณ ชินวัตร ในบ้านหลังใหม่ คือ ไทยรักไทย เมื่อปี 2541 และก็ทำงานการเมืองกับพรรคไทยรักไทย มาโดยตลอดต่อเนื่อง ก่อนจะเกิดความเปลี่ยนทางการเมือง ในช่วงเดือนกันยายน 2549
จากนั้นอริสมันต์ก็กลายเป็นแกนนำคนสำคัญของกลุ่มการเมืองที่เรียกตัวเองว่า แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ หรือ นปก. ที่มีคีย์แมนสำคัญ อย่างเช่น นายวีระ หรือ วีระกานต์ มุสิพงศ์ , น.พ.เหวง โตจิราการ , นายสมบัติ บุญงามอนงค์ , นายวรวุธ ฐานังกรณ์ หรือนายสุชาติ นาคบางไทร , นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย , นายก่อแก้ว พิกุลทอง , นายสมยศ พฤษาเกษมสุข , นายมานิตต์ จิตจันทร์กลับ
ก่อนที่นปก.จะยกระดับการจัดตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็น แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เดินหน้าต่อต้าน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. รวมทั้งยังโจมตี พาดพิง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ อย่างรุนแรง
@ กระทั่งเกิดการชุมนุมทางการเมืองใหญ่ในปี 2552 และ ปี 2553 ในการรุกฮือขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แล ะชื่อของนายอริสมันต์ ก็กลายเป็นข่าวดังในฐานะผู้นำมวลชนคนเสื้อแดงบุกพัทยา เพื่อขัดขวางการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนซัมมิท ต่อด้วยการแสดงบทบาทฮาร์ดคอร์ เสื้อแดง ผ่านวาทกรรมมากมายที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อความรุนแรง ในช่วงการชุมนุมทางการเมือง
ทั้งการปราศรัยเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2553 ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก อริสมันต์ ประกาศว่า “พี่น้องนัดกันคราวหน้า ถ้ารู้ว่าเขาจะปราบปราม ไม่ต้องเตรียมอะไรมาก มาด้วยกัน ขวดแก้วคนละใบ มาเติมน้ำมันเอาข้างหน้า บรรจุให้ได้ 75 ซีซี ถึง 1 ลิตร ถ้าเรามาหนึ่งล้านคนในกรุงเทพมหานคร มีน้ำมันหนึ่งล้านลิตร รับรองว่า กทม.เป็นทะเลเพลิงอย่างแน่นอน”
ไม่เท่านั้น นายอริสมันต์ ยังแสดงความก้าวร้าว ด้วยคำพูดเชิงปลุกระดม ว่า “การสู้ของคนเสื้อแดงแบบง่ายๆ .... บอกให้ทหารได้รับได้ทราบ ... ถ้าคุณทำร้ายคนเสื้อแดง แม้เลือดหยดแต่หยดเดียว นั่นหมายความว่า กรุงเทพฯ จะเป็นทะเลเพลิงทันที ส่วนต่างจังหวัด จตุพร (พรหมพันธุ์) ได้บอกแล้ว ให้รอฟังข่าวว่า พี่น้องที่อยู่ในต่างจังหวัด ไม่ได้มาไม่เป็นไร ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นทันทีรวมตัวกันที่ศาลากลาง ไม่ต้องรอเงื่อนไข จัดการให้ราพณาสูรเหมือนกัน”
ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2553 นายอริสมันต์ ปราศรัยผ่านเวทีการชุมนุมนปช. จังหวัดขอนแก่น มีใจความสำคัญว่า “พี่น้องที่จะเดินทางเข้าไปกรุงเทพฯ ด้วยกัน เตรียมตัวให้พร้อม อย่างแรกคือ 1 เสื้อผ้า ข้าวปลา อาหารแห้ง และขวดแก้ว 1 ขวด จำนวน 1 ล้านคน
เราจะไปที่กรุงเทพฯ ขวดของเรานั้นไม่ต้องใส่น้ำมันไปจากขอนแก่น ไปซื้อเอาที่กรุงเทพฯ คนละ 1 ลิตร... 1 ลิตรเพื่อต่อรองกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าคุณจะคืนรัฐธรรมนูญ 40 ให้กับคนเสื้อแดงหรือไม่ 1 ลิตรนี้เพื่อบอกกับอำมาตย์ว่า ถ้าคุณเข่นฆ่าคนเสื้อแดงเลือดตกยางออกสัก 1 หยด นั่นหมายความว่าคุณก็จะไม่มีชีวิตอยู่บนแผ่นดินนี้เหมือนกัน”
รุนแรงที่สุดคือการที่นายอริสมันต์ เปิดปราศรัยเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2553 บนเวทีชุมนุมนปช. จังหวัดอุดรธานี ระบุว่าใจความที่สื่อได้ชัดเจนถึงพฤติการณ์ความก้าวร้าว ว่า “ครั้งนี้จะเป็นการคิดบัญชีรัฐบาล ทรราชอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพวกอำมาตย์เฒ่าทั้งหลาย
คุณไม่ต้องมาบอกว่าสถานที่สำคัญที่เขาจะไปก่อวินาศกรรม คุณไม่ต้องไปปูดข่าวบอกว่าสถานที่ที่เป็นศาสนสถานของพวกมุสลิม โรงพยาบาลแล้วก็ถนนราชวิถี , สะพานข้ามแม่น้ำ , โรงพยาบาลศิริราช...คุณไม่ต้องบอก ถ้าหากว่าคุณใช้ความรุนแรงกับคนเสื้อแดง รับรองว่าไอ้สิ่งที่คุณพูดถึงนี้จะไม่เหลืออยู่ในประเทศไทยอย่างแน่นอน”
@หลังจากนั้น ชีวิตของอริสมันต์ก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ มาโดยตลอด จะมีหวือหวาบ้างในยุคพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แต่โดยสถานะก็ไม่ได้เป็นสุขจริง ๆ เพราะมีคดีความติดตัวมากมาย
โดยในช่วงปี 2553 นายอริสมันต์ เปิดปากเองว่าได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้หลบหนีไปอยู่ที่ประเทศกัมพูชา ก่อนจะเข้ามอบตัวกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2554 และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีต่าง ๆ ที่ทำไว้
ทั้งคดีหมายเลขดำ อ.4177/2552 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอริสมันต์ เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 กรณีเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2552 และวันที่ 17 ตุลาคม 2552
โดยการปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และหน้าทำเนียบรัฐบาล กล่าวหานายอภิสิทธิ์ และรัฐบาล กู้ยืมเงินมาเพื่อทุจริตคดโกง พร้อมกับมีการหยิบยกเรื่องสถาบันมากล่าวอ้าง และกล่าวหาว่าเป็นผู้หน่วงเหนี่ยว คำร้องฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับนายทักษิณ และรวมถึงสั่งทหารฆ่าประชาชน
โดยศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุก เป็นเวลา 12 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ซึ่งนายอริสมันต์ได้รับโทษจำคุก ในระหว่างที่ถูกศาลชั้นต้น และ ศาลอุทธรณ์ พิพากษาให้จำคุกคดีบุกล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ซัมมิท เป็นเวลา 4 ปี และรอการอุทธรณ์ประกันตัว เพื่อสู้คดีในชั้่นศาลฎีกา
จนกระทั่งศาลฎีกา มีคำพิพากษายืนให้จำคุก นายอริสมันต์ และ พวก เป็นเวลา 4 ปี ฐานความผิดร่วมกัน ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่อง ในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงานที่ไม่ให้มีการชุมนุมเกินกว่า 10 คนขึ้นไป และ พ.ร.บ.จราจร พ.ศ.2522
พร้อมออกหมายจับนายอริสมันต์ เนื่องจากเห็นว่ามีพฤติการณ์หลบหนีการลงโทษตามกฎหมาย แม้ว่าจะมีการอ้างว่าป่วยรักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วยโรคบ้านหมุนก็ตาม
@ชะตากรรมของผู้รับใช้ระบอบทักษิณ อย่าง นายอริสมันต์ ไม่ได้จบแค่นั้น ท้ายสุดอดีตแกนนำคนเสื้อแดงสายฮาร์ดคอร์ ที่เคยประกาศทำลายบ้านเมือง ก็เดินตามรอยนายใหญ่อย่าง ทักษิณ ชินวัตร โดยการทิ้งเพื่อนๆ ไว้เผชิญทุกข์โดยลำพัง
โดยประเด็นน่าสนใจและทำให้เชื่อว่า นายอริสมันต์ได้หลบหนีออกจากประเทศไปแล้ว ก็คือ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562 ทีผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดไต่สวนพยานคดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยจำนวน 14 คน ในคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ และ นอกเหนือจากนายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในยุครัฐบาลทักษิณ แล้วยังมี นายอริสมันต์ รวมอยู่ด้วย และปรากฎว่าเมื่อถึงเวลานัดหมาย นายอริสมันต์กลับไม่ปรากฎตัว
โดย นายธำรงค์ หลักแดน ทนายความนายอริสมันต์ อ้างว่า ไม่ทราบว่านายอริสมันต์ไปไหน และไม่สามารถติดต่อหรือตามตัวให้มาศาลได้ ศาลฎีกาฯเห็นว่า นายอริสมันต์ในฐานะจำเลยมีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ออกหมายจับเพื่อนำตัวกลับมาสู่กระบวนการพิจารณาต่อไป พร้อมสั่งปรับนายประกันเต็มจำนวน วงเงินประกัน 5 ล้านบาท
ซึ่งแน่นอนว่าการที่นายอริสมันต์เลือกไม่มาศาล ทั้ง ๆ ที่คดีในอยู่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ก็ย่อมชัดเจนในข้อเท็จจริงว่า นายอริสมันต์ นักการเมืองและแกนนำคนเสื้อแดง ที่เคยปากกล้าจะทำร้ายแผ่นดิน วันนี้เผ่นหนีความผิดไปแล้ว
ประจวบกับเป็นช่วงจังหวะเดียวกับถัดมาอีก 3 วัน หรือตรงกับวันที่ 16 กันยายน 2562 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาจำคุก นางระพิพรรณ พงศ์เรืองรอง อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ภรรยานายอริสมันต์ เป็นเวลา 2 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ ในคดีแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ และปกปิดข้อเท็จจริง อันควรแจ้งให้ทราบแก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พร้อมกันนี้ยังได้มีพิพากษาคดีร่ำรวยผิดปกติ สั่งยึดทรัพย์มูลค่ากว่า 42,816,226.64 บาท ให้ตกเป็นของแผ่นดินอีกด้วย
จุดสำคัญ ก็คือ กรณีของนางระพิพรรณ ศาลมีคำสั่งห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือ ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และได้ออกหมายจับนางระพิพรรณมาบังคับตามคำพิพากษา ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 อีกด้วย
บาปกรรมหรือการกระทำของนายอริสมันต์ ไม่ได้จบเพียงเท่านั้น เหตุกรณีคดีแพ่งตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6646-6647/2561 ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับการวางเพลิงเผาทรัพย์ ช่วงระหว่างการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ก็ถือเป็นอีกหนึ่งผลความผิดที่นายอริสมันต์ต้องชดใช้
เมื่อศาลฎีกาพิพากษากลับให้นายจตุพร , นายณัฐวุฒิ และ นายอริสมันต์ ร่วมกันรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จากเหตุการวางเพลิงเผาอาคาร จำนวน 3 คูหา ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณถนนราชปรารถ กรุงเทพมหานคร รวมเป็นเงิน 19.3 ล้านบาท แก่ผู้เสียหาย พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
โดยศาลฎีกาให้เหตุผลสรุปสาระสำคัญว่าคำพูดของ นายจตุพร, นายณัฐวุฒิ และนายอริสมันต์ ล้วนเป็นการปราศรัยที่ยุยงส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมร่วมกันแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ต่อการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ รวมถึงพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุให้เชื่อได้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่อาคารและทรัพย์สิน ที่ถูกบุคคลผู้ชุมนุมในกลุ่มนปช.วางเพลิงเผาทำลายนั้น
เป็นผลที่เกิดขึ้นจากคำกล่าวปราศรัยของนายจตุพร นายณัฐวุฒิ และนายอริสมันต์ด้วย ในลักษณะเป็นผู้ยุยงส่งเสริม ให้เกิดการทำละเมิดของบุคคลผู้ชุมนุมในกลุ่มนปช. ที่ร่วมกันเผาอาคารและทรัพย์สิน จึงเป็นเหตุผลที่ศาลฎีกาได้พิพากษาให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ... ซึ่งกรณีดังกล่าวน่าเป็นเหตุตัวอย่าง ให้เกิดคดีฟ้องร้องค่าเสียหายอื่น ๆ ตามมาในอนาคต จากผลคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว โดยนายอริสมันต์ ในฐานะผู้แสดงคำพูดยุยงถือเป็นคนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบในทุกกรรมที่เกิดขึ้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ศาลฎีกาออกหมายจับ กีร์ อริสมันต์ อีกหนึ่งคดี ไม่ไปร่วมไต่สวนทุจริตบ้านเอื้ออาทร สั่งปรับเงิน 5 ล้าน
-ศาลฎีกาพิพากษายืนโทษจำคุก 4 ปี อริสมันต์ กับพวกล้มการประชุมผู้นำอาเซียน
-ถึงเวลา “อริสมันต์” แกนนำแดง บุกล้มประชุมอาเซียนซัมมิท พัทยา ชดใช้บาปที่ทำกับแผ่นดิน!?
-ศาลฎีกาพิพากษากลับ สั่ง จตุพร-ณัฐวุฒิ-อริสมันต์ ชดใช้เงิน 19.3 ล้าน ฐานยุยงคนเสื้อแดงเผาเมือง