- 19 พ.ค. 2563
ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือ หม่อมปลื้ม วิจารณ์หนักเลื่อนเปิดเทอม หนนี้ไปไกลวิพากษ์พาดพิงมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
ถ้านับบรรดานักเคลื่อนไหวต้านรัฐบาลคสช. ต้องยอมรับว่า ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือ หม่อมปลื้ม นักจัดรายการคนดัง มีแนวทางชัดเจนในการคัดค้านแนวคิดการเลื่อนเปิดเทอมการศึกษา รวมไปถึงรูปแบบการสอนออนไลน์ในระหว่างรอกำหนดเปิดเทอมอย่างเป็นทางการ ประมาณวันที่ 1 ก.ค. 2563 แม้จะมีการแสดงความเห็นในประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง หลากหลายรูปแบบ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่ให้ความเห็นพึงตระหนัก เรื่องระบบสาธารณสุขเป็นสำคัญ เพื่อป้องกันเชื้อไวรัส โควิด -19 แพร่ระบาดซ้ำระลอกสอง
สอดรับกับสิ่งที่ทางการฝรั่งเศสต้องเผชิญล่าสุด เมื่อ นาย ฌอง มิเชล บลองเกร์ รัฐมนตรีสาธารณสุขฝรั่งเศส ออกมายอมรับถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด -19 ภายในสถาบันการศึกษาบางแห่ง ทำให้ต้องประกาศปิดตัวอีกครั้ง หลังจากเพิ่งจะกลับมาเปิดเรียนได้ไม่นาน โดยเป็นการเริ่มต้นพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ จำนวนประมาณ 70 ราย หลังจากประกาศเปิดการเรียนการสอน โรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนประถม 40,000 แห่งทั่วประเทศ หรือ คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของโรงเรียนทั้งประเทศ ตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ทางด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็โพสต์ล่าสุด แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ ที่มีการทดลองเรียนตั้งแต่ วันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า “ โควิด-19 กับการเรียนหนังสือของเด็ก การทดลองเรียนออนไลน์ในวันแรก มีความสับสนพอสมควร เป็นที่ทราบกันดีว่าเด็กนักเรียนเองก็สามารถที่จะรับเชื้อมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่ เมื่อเด็กนักเรียนติดเชื้อจะมีอาการน้อย และจะนำเชื้อนั้นไปแพร่กระจายที่บ้านก็จะสร้างปัญหาได้
ขณะเดียวกันเรื่องการเรียนของเด็กก็เป็นเรื่องสำคัญ ทำอย่างไรที่จะให้เหมาะสมสมดุล เรียนหนังสือได้แต่จะต้องไม่เป็นคนกลางแพร่เชื้อ ทำอย่างไรจึงจะควบคุมการแพร่เชื้อเมื่อเปิดเทอม เช่น การลดขนาดของจำนวนนักเรียน ในห้องเรียน คำนึงถึงระยะห่างของนักเรียน physical distancing ดูแลเรื่องสุขภาพอนามัย การล้างมือ การรับประทานอาหารที่สะอาด การใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อ การตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าโรงเรียนและในชั้นเรียน การเปิดหรือปิดโรงเรียนก็มีผลกระทบทั้งสองด้าน ควรจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบทั้ง 2 ด้านร่วมกัน ในเด็กเล็กและเด็กโตก็แตกต่างกัน
การพิจารณาเปิด-ปิดจะต้องมีการปรึกษาหารือกันระหว่างหมอโรคติดเชื้อ นักระบาดวิทยา จิตแพทย์เด็ก และการพัฒนาการของเด็ก คุณครูที่รู้เรื่องทางวิทยาศาสตร์ เข้ามามีส่วนร่วม การตัดสินใจเปิด-ปิดโรงเรียน จะต้องอยู่บนฐานของวิทยาศาสตร์ ข้อมูลหลักฐานที่เกิดประโยชน์ สุขภาพ ร่างกายและจิตใจ ไม่ใช่การเมือง”
อย่างไรก็ตามเมื่อกระทรวงศึกษาธิการ ยังคงยืนยันกำหนดเปิดเทอม ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบระลอกใหม่ ปรากฎว่าในเพจเฟซบุ๊ค หม่อมปลื้ม ได้มีการโพสต์คลิปและข้อความในประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติม อาทิ "หมอสายเหยี่ยวทำลายระบบการศึกษา เล็งยึดตัวเลขศูนย์ 21 ถึง 42 วันติดต่อกันก่อนเปิด
อย่าเข้าใจผิดครับ รมต.เขาไม่ได้บอกว่าให้เปิดโรงเรียนให้เด็กไปเรียนที่โรงเรียนตามปกติได้ในวันที่ 1 ก.ค.ครับ 1 ก.ค. ก็ยังไม่ได้ไปโรงเรียนหรอกยกเว้นซะว่า ศบค.เปลี่ยนเงื่อนไขที่สั่ง ศธ.มา จะเปิดก็ต่อเมื่อไม่มีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นเลยเป็นระยะเวลา 21 ถึง 42 วันติดต่อกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แม้กระทั่งใน ที่ ๆ ปลอดเชื้อปัจจุบันเพราะต้องเริ่มนับวันติดต่อกันใหม่ ตลอดทุกครั้งเมื่อมีการตรวจเจอผู้ติดเชื้อ ลองฟังที่แกให้สัมภาษณ์เต็มๆ ซิครับ
หมอสายเหยี่ยวที่ ศบค.ที่กำลังทำลายระบบการศึกษาอยู่ เล็งยึดตัวเลขศูนย์ 21 ถึง 42 วันติดต่อกันก่อนอนุญาตให้เปิดสถานศึกษาเเต่ละเเห่ง ซึ่งถือว่าเป็นการยึดตามตัวเลขอย่างไร้หลักการทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และโรคระบาดโดยสิ้นเชิง ไม่มีที่ไหนในโลกทำอย่างนี้ นายกฯ ไม่ให้เปิด เขาถึงสั่ง รมต.มาแจงเมื่อเย็นวานนี้ ไม่ได้มีข้อมูลใหม่เลย ยังบังคับให้เรียนนอกสถานที่ศึกษาอยู่เหมือนเดิมไปเรื่อยๆ มหาวิทยาลัย และโรงเรียนเอกชนทั้งหมด ถูกสั่งให้เตรียม E-Learning ไว้นานแล้ว " จะใช้วัดหรือลานหรือบ้าน อะไรก็ได้ แต่ไม่ใช่โรงเรียนในการเรียน" นี่คือคำพูดจากแถลงการเมื่อวานนี้ ย้อนกลับไปฟังสิครับ
คำสั่งครั้งนี้กระทรวงปฏิเสธไม่ได้ เขาถึงต้องดันทุรังปฏิบัติตามตามกันไปทั้งๆ ที่รู้ว่า DLTV และการเรียนทางไกลหรือเรียนอย่างไม่มีครูจริงๆ แต่เรียนกับคอมพิวเตอร์ไม่ได้ประโยชน์และด้อยคุณภาพ และแย่สำหรับเด็ก ทั้ง รมต.และนายกฯ ไม่กล้าที่จะผูกมัดตนเองกับการเปิดสถานศึกษาทั้งประเทศโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่ควรจะทำอย่างไม่มีเงื่อนไขได้แล้ว ประเทศได้พ้นภัยโรคระบาดนี้นานแล้ว
หลังจากเพิ่งโพสต์ข้อความดุเดือด ดังตัวอย่าง "รัฐรังแกเด็ก ไม่ใช่ปกป้องเด็ก ถ้าผู้ใหญ่ออกมาทำงานได้ เดินซื้อของได้ เด็กก็มีสิทธิออกมาเรียนหนังสือได้ เด็กไม่ได้แพร่เชื้อ" หรือ "รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญต่อการช้อปปิ้งในห้าง มากกว่าการไปเรียนหนังสือ คิดอย่างนี้ประเทศถึงเจริญวันเจริญคืน"
แม้แต่การพาดพิงไปถึง มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้วยข้อความว่า " มันมีเหตุผลเดียวที่เขาดันเรื่องเรียนทางไกล และต้องทำให้สำเร็จไม่มีทางเลือกเพราะมันเป็นงานไฟท์บังคับ เป็นงานมูลนิธิ ต้องโชว์ผลงานให้ได้ ไม่งั้นจะเสียหน้าขั้นรุนแรง งานเรียนทางไกลที่ต้องทำให้สำเร็จนี้ไม่ได้ทำเพื่อเด็ก การเรียนการสอนที่ดีขึ้น หรือทำเพื่อผู้ปกครองหรือครูหรือโรงเรียนหรือเพื่อการควบคุมการระบาดของไวรัสใดใดทั้งสิ้น มันเป็นไฟท์บังคับแค่นั้น เหยื่อคือครูและนักเรียนซึ่งทั้งครูและนักเรียนก็รู้ดีว่าถ้าทำอย่างนี้ในที่สุดเด็กไทยจะโง่ลง บังเอิญโดนสั่งมา เลยต้องทำ โอเคนะครับ สงสารกระทรวงเหมือนกัน"
อย่างไรก็ตามถ้าพิจารณาโดยข้อเท็จจริง จะพบว่า มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ( DISTANCE LEARNING FOUNDATION UNDER THE ROYAL PATRONAGE) ไม่ได้ก่อตั้งเพื่อมาแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องที่หม่อมปลื้ม หยิบยกมาวิพากาษ์วิจารณ์แต่อย่างใด
ในทางตรงข้าม มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ได้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2538 หรือ ประมาณ 25 ปีที่ผ่านมา และเริ่มออกอากาศการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม (Distance Learning Television : DLTV) เป็นปฐมฤกษ์ครั้งแรกในวันที่ 5 ธันวาคม 2538 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปีกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539 โดยพระองค์ทรงพระราชทานทุนประเดิมและตราสัญลักษณ์เฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ 50 ปี ให้เป็นตราของมูลนิธิฯ สืบมา
และเนื่องด้วยพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ที่มุ่งช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนครู ครูไม่ครบชั้น ครูไม่ตรงสาขา ของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล หรือ มีโรงเรียนขนาดเล็กและตั้งอยู่ในชนบทห่างไกล อาทิ โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กว่า 15,000 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กว่า 6,000 แห่ง และอื่น ๆ
ทำให้ครูและนักเรียนมากกว่า 2,200,000 คน สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม นอกจากนี้ มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังมีส่วนช่วยพัฒนาครูปลายทางทั่วประเทศให้มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานสอนได้อย่างถูกต้องและมีคุณภาพ ด้วยการถ่ายทอดสดการเรียนการสอนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตลอดจนการศึกษาสายอาชีพ อันเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี
ขณะที่ ม.จ.จุลเจิม ยุคล ได้โพสต์ถึงประเด็นร้อนดังกล่าวว่า "เปิดโรงเรียน ในช่วงไวรัสระบาด เด็กติดโรค โควิด-19 ใครจะรับผิดชอบ? คุณปลื้ม หรือ จาตุรงค์ จะรับผิดชอบไหวไหม ครับ ? โดยมีผู้เข้าไปแสดงความเห็นเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น นายตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด ได้เขียนข้อความว่า "กระหม่อมมีหลานสาววัยเรียน 2 คน สมมุติว่า..ถ้าเค้าไปติดโควิด-19 จากโรงเรียน กระหม่อมก็จะถามเหมือนฝ่าพระบาท (แต่อาจจะแรงกว่า) ว่า..ไอ้/อี..หน้าไหนจะรับผิดชอบ? "