- 30 ก.ย. 2563
กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองทันที หลังจากเกิดกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทยมีการทาบทามให้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย และ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" กลับมาร่วมงานอีกครั้ง หลังจากมีการเตรียมกระบวนการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ภายหลัง นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ขณะที่คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์ฯ ก็ยืนยันไม่ขอรับตำแหน่งใด ๆ สำหรับคณะผู้บริหารพรรคเพื่อไทย
กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองทันที หลังจากเกิดกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทยมีการทาบทามให้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย และ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" กลับมาร่วมงานอีกครั้ง หลังจากมีการเตรียมกระบวนการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ภายหลัง นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ขณะที่คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์ฯ ก็ยืนยันไม่ขอรับตำแหน่งใด ๆ สำหรับคณะผู้บริหารพรรคเพื่อไทย
( คลิกอ่านข่าวประกอบ : เจ๊หน่อย เปิดใจทำไม ลาออกปธ.ยุทธศาสตร์เพื่อไทย ยันไม่เกี่ยวคุณหญิงอ้อ )
ล่าสุดปรากฎว่า นายชัชชาติ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นกระแสข่าวที่เกิดขึ้น ว่า "ข่าวที่ออกมาว่าผมจะกลับไปทำงานการเมืองกับพรรค หรือ หลีกทางให้ผู้สมัครบางท่านนั้น ไม่เป็นความจริงนะครับ ... ตอนนี้ผมยังลงพื้นที่เพื่อดูปัญหาของชุมชนต่างๆ ในนามอิสระ อย่างต่อเนื่องครับ ล่าสุดเพิ่งลงไปเขตประเวศมาครับ"
ถอดประเด็นคำพูดของนายชัชชาติ ย่อมสะท้อนจุดยืนทางการเมือง ได้อย่างนัยสำคัญ ว่า โอกาสที่จะกลับไปทำงานการเมืองระดับชาติ กับพรรคเพื่อไทย มีความเป็นไปได้น้อย และเป้าหมายส่วนตัวก็ยังคงที่จะเสนอตัวลงสนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามอิสระ ตามที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้น
ประเด็นสำคัญ ๆ ที่น่าจะเป็นองค์ประกอบ ทำให้ นายชัชชาติ ไม่ต้องคิดมาก เมื่อเกิดกระแสข่าวลือ ถูกทาบทามกลับไปพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วยหลายเหตุผล อาทิเช่น
1.ในช่วงการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา ชื่อของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ถูกวางตัวอยู่ในบัญชีนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย และเจ้าตัวก็แสดงความพร้อมสุดขีด ที่จะลงแข่งขันทางการเมืองในฐานะว่าที่ผู้แข่งขัน ชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย
"วันที่ 31 ธ.ค. 2561 นายชัชชาติ โพสต์ภาพตนเอง ในลุคซูเปอร์ฮีโร่ในภาพยนตร์เรื่อง Avengers หรือ ภาพกราฟิค ลักษณะคล้ายกับ hulk โดยมีภาพคุณหญิงสุดารัตน์ คล้ายกับ Captain Marvel เป็นทีมสนับสนุน พร้อข้อความประกอบว่า "ในปีใหม่ 2019 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ขอให้พวกเราทุกคน มีกำลังใจและกำลังกายที่แข็งแกร่ง พร้อมมาร่วมเป็นทีม Avengers ที่จะลุย ศึกครั้งสุดท้าย The Final Battle นี้ ไปด้วยกันครับ"
ต่อมาวันที่ 1 ม.ค. 2562 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย กล่าวย้ำว่า "เรื่องการสนับสนุนให้นายชัชชาติ เป็นรายชื่อบัญชีนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย ไม่ใช่กระแสข่าว แต่เป็นเรื่องที่ในที่ประชุมของพรรค มีการพูดคุยกันแล้ว โดยจะทำงานส่งเสริมซึ่งกันและกัน"
2.ต่อมาวันที่ 31 ม.ค.2562 นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย เพื่อพิจารณารายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย โดยเบื้องต้นมีมติเห็นชอบจำนวน 3 รายชื่อ ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ , นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ นายชัยเกษม นิติสิริ เนื่องจากเห็นว่าบุคคลทั้ง 3 มีความสามารถเหมาะสมในแต่ละด้าน ทั้งการเมือง , เศรษฐกิจ และ กฎหมาย
3.วันที่ 4 มิ.ย.2562 หรือ เพียง 1 วันก่อนกำหนดที่ประชุมรัฐสภา นัดโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ปรากฎว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แถลงมติพรรคเรื่อวการเสนอชื่อผู้เข้าชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า พรรคเพื่อไทยและ 6 พรรคร่วม เห็นชอบเสนอชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และว่าที่นายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคอนาคตใหม่ เป็นผู้สมควรให้เป็นนายกรัฐมนตรี ให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติเห็นชอบ แข่งขันกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พร้อมอ้างว่า การไม่เสนอชื่อ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หรือนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ ตามบัญชีรายชื่อของพรรค ก็เพื่อรักษาแนวร่วม 7 พรรคการเมืองไว้ เพื่อเป็นพลังทางการเมืองต่อสู้กับกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรมในบ้านเมือง
"ยืนยันพรรคยังรักษาสัญญาที่ให้ไว้ โดยจะไม่เป็นเงื่อนไขในการขอรับตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น พรรคเข้าใจดีว่าประชาชนหลายล้านคนในพื้นที่ต่างๆ จาก 136 เขตเลือกตั้ง อยากสนับสนุนพรรคเพื่อไทยให้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ด้วยกติกาที่เป็นอยู่ทำให้ไปไม่ถึงเป้าหมาย จึงจำเป็นต้องรักษาความร่วมมือของทั้ง 7 พรรคเอาไว้"
4.ผลการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี วันที่ 5 มิ.ย. 2562 ปรากฎว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับคะแนนเสียง จากส.ส.และส.ว. จำนวน 500 เสียง ขณะที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้รับคำแนนเสียง 244 เสียง โดยในจำนวนนี้เป็นการลงคะแนนของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ให้การสนับสนุนถึง 136 เสียง
5. วันที่ 30 พ.ย. 2562 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประกาศเปิดตัวขอสมัครผู้ว่ากรุงเทพมหาคร ในนามอิสระ "เมื่อเปิดรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ตนจะลงสมัครในนามอิสระ โดยไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย เพราะไม่ต้องการให้เกิดภาพของความขัดแย้ง ที่ผ่านมาได้อธิบายเรื่องนี้ให้ผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยฟังแล้ว เชื่อว่าหากลงอิสระจะได้เแนวร่วม เพราะมีคนจำนวนมากที่เบื่อกับการเมือง ยิ่งสถานการณ์ และสภาพปัจจุบัน คนยิ่งเบื่อหนัก แต่ทุกคนต้องการเห็น กทม.และประเทศไทยดีขึ้น ดังนั้นจึงพิจารณาว่ามีทางเลือกไหนหรือไม่ ที่สามารถไปด้วยกันได้ ไม่ทะเลาะ การลงอิสระจะได้แนวร่วมมากขึ้น และการทำงานคล่องตัว ซึ่งตนมองในเชิงบริหารมากกว่าการเมือง เพราะงานการเมืองตนไม่มีฐานเสียง"
ประการสำคัญ นายชัชชาติ ที่พลาดหวังจากการได้รับการเสนอชื่อจากพรรคเพื่อไทย ในการโหวตเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ระบุชัดเจนว่า "ขณะนี้ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยแล้วด้วย"
6.ถึงแม้จะไม่มีคำพูดอย่างชัดเจนของการทิ้งพรรคเพื่อไทย แต่ด้วยปฏิกริยาทางการเมือง ย่อมสะท้อนได้เป็นอย่างดี ถึงเหตุปัจจัยทำไม ระหว่างพรรคเพื่อไทย กับนายชัชชาติ จึงเกิดช่องห่างและทำให้ต้องออกมาปฏิเสธข่าวเรื่องจะกลับไปทำงานกับพรรคเพื่อไทย
รวมถึงต้องเข้าใจความรู้สึกของนายชัชชาติ ต่อกรณีข้อความโพสต์จาก นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2563 ใจความสำคัญ ระบุว่า "ก่อนการเลือกตั้งปี 2554 คนในพรรคเพื่อไทยไม่มีใครรู้จักคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ส่วนประชาชนทั่วไปยิ่งไม่มีใครรู้จัก
หลังจากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง นายกฯยิ่งลักษณ์ได้แต่งตั้งให้คุณชัชชาติเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ และต่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตามลำดับ ท่ามกลางความแปลกใจของคนในพรรค เพราะเป็นคนนอกที่ไม่มีใครรู้จักและเป็นกระทรวงใหญ่ ผมทราบต่อมาว่านายกฯยิ่งลักษณ์ต้องการให้คุณชัชชาติ ที่เป็นวิศวกรมาดูแลโครงการรถไฟความเร็วสูง
เมื่อคราวที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เสนอ พ.ร.ก. เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทต่อสภาผู้แทนราษฏร คุณชัชชาติได้โอกาสแสดงบทบาทชี้แจงต่อสภาในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งทำได้ดีทำให้ประชาชนที่ดูการถ่ายทอดสดประทับใจ และรู้จักคุณชัชชาติตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา คุณความดีครั้งนี้ต้องยกให้นายกฯยิ่งลักษณ์ที่กล้าแต่งตั้งคุณชัชชาติ ซึ่งในวันนั้นไม่มีใครรู้จักให้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่เป็นกระทรวงใหญ่ที่สุด
หลังการยึดอำนาจคุณชัชชาติหายไปจากการเมืองอีก ผมมาเจอคุณชัชชาติอีกครั้งเมื่อคุณชัชชาติ มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยก่อนการเลือกตั้งปี 2562 จากนั้นพรรคได้เสนอชื่อคุณชัชชาติในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีต่อจากคุณหญิงสุดารัตน์ แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ผมก็ไม่ได้เจอคุณชัชชาติอีก....!!
เมื่อรัฐบาลประกาศจะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ภายในปี 2563 ที่ประชุมภาค กทม. เห็นว่าพรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคใหญ่และมี ส.ส. ใน กทม. จะต้องส่งผู้สมัครในนามของพรรคเพื่อรักษาฐานเสียงและให้เกียรติชาว กทม. พวกเราเห็นว่าต้องให้โอกาสคุณชัชชาติซึ่งสนใจจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นคนแรก จึงมอบหมายให้คุณหญิงสุดารัตน์ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการสรรหา ไปเชิญคุณชัชชาติมาลงสมัครในนามพรรค ผมทราบจากสื่อมวลชนว่าคุณชัชชาติปฏิเสธแต่ไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริงว่าปฏิเสธเพราะอะไร
หากคุณชัชชาติจะลงสมัครผู้ว่า กทม. ผมคิดไม่ออกถึงเหตุผลที่คุณชัชชาติปฏิเสธที่จะลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย เพราะการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์หรือเป็นแคนดิเดทนายกร่วมกับคุณหญิงสุดารัตน์ ในนามพรรคเพื่อไทยคุณชัชชาติก็เคยยอมรับมาแล้ว ผมจึงไม่คิดว่าการลงสมัครผู้ว่า กทม. ในยามที่พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านและถูกไล่ล่าคือเหตุผลที่ทำให้คุณชัชชาติปฏิเสธพรรค แต่เพื่อความเป็นธรรมคงต้องรอฟังเหตุผลที่แท้จริงจากคุณชัชชาติอีกครั้ง
เรื่องของผู้สมัครผู้ว่า กทม. จึงไม่ใช่เรื่องระหว่างคุณชัชชาติกับคุณหญิงสุดารัตน์ เพราะคุณหญิงสุดารัตน์เป็นคนที่พรรคตั้งใจ จะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ได้ตั้งใจจะให้ลงสมัครเป็นผู้ว่า กทม. อย่างที่พยายามใส่ร้ายป้ายสี
แต่คุณหญิงก็มีหน้าที่ต่อพรรคที่จะต้องไปหาผู้สมัครมาลงในนามพรรคให้ได้ ถ้าคุณชัชชาติปฏิเสธและคุณหญิงไม่สามารถหาผู้ที่เหมาะสมได้ คุณหญิงก็จะต้องรับผิดชอบต่อพรรคซึ่งผมก็ยังเชื่อว่าคนอย่างสุดารัตน์คงพร้อมที่จะสู้กับพรรคไม่ว่าในยามที่พรรครุ่งเรืองหรือเป็นฝ่ายถูกไล่ล่าก็ตาม ศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นนักการเมืองก็วัดกันตรงนี้แหละครับ"