- 06 ต.ค. 2563
ครม.เห็นชอบจัดการเลือกตั้ง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) , เทศบาล , องค์กรปกครองรูปแบบพิเศษ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ทยอยจัดการแล้วเสร็จในปี 2564 พื้นที่กทม.เป็นจุดสุดท้าย
ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการพิจารณาวาระที่ครม.เห็นชอบจัดการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ชี้แจงว่าทุกอย่างเตรียมพร้อมหมดแล้ว แต่มีข้อเสนอการให้ยกเลิกหรือคงไว้ของสภาเขตกรุงเทพมหานคร (ส.ข.) เนื่องจากยังตกลงกันไม่ได้ และยังหาข้อยุติไม่ได้ จึงอาจจะต้องเลือกตั้งเป็นชุดสุดท้าย ฉะนั้นกทม.จะเลือกตั้งเป็นส่วนสุดท้าย
ทางด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงว่า ทุกอย่างพร้อมหมดแล้วทั้งประกาศการเลือกตั้งทั้ง 11 ฉบับ การอบรมสมาชิก อบรมเจ้าหน้าที่ก็พร้อมหมดแล้ว
ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงสาเหตุที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อบจ.และเทศบาล พร้อมกันได้ว่า เนื่องจากอาจจะเกิดความวุ่นวาย จึงมีความจำเป็นต้องค่อยๆเลือกทีละส่วน และแต่ละส่วนควรห่างกัน 60 วัน
นอกจากนี้นายวิษณุ ยังได้แสดงความคิดเห็น หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และการทำประชามติ จะส่งผลกระทบให้การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องเลื่อนออกไปด้วย รวมถึงจะทำให้รัฐบาลมีภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้น 5 ประเภท คือ อบจ. อบต. เทศบาล องค์กรปกครองรูปแบบพิเศษ (เมืองพัทยา) และกทม. โดยการเลือกตั้งอบจ.จะเกิดขึ้นก่อนในวันที่ 13 ธ.ค. เนื่องจากมีความพร้อมในเรื่องของงบประมาณ ที่จะใช้จำนวน 3,200 ล้านบาท และการเลือกตั้งที่คาดว่า จะเกิดขึ้นเป็นลำดับถัดไปคือ เทศบาล และ อบต.คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 28 ก.พ.ปี 2564 จากนั้นจะมีการจัดการเลือกตั้งองค์กรปกครองรูปแบบพิเศษ (เมืองพัทยา) และการเลือกตั้งกทม.คาดว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 25 ม.ย.ปี 2564
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตาม กระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้เสนอประเภทของการจัดการเลือกตั้งว่าจะเป็นประเภทใด โดยดูที่ความพร้อมและส่งให้ครม.พิจารณาเห็นชอบ จากนั้นกกต.จะเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้งและส่งเข้าครม.อีกครั้ง โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่าการเลือกตั้งทั้ง 5 ประเภทจะต้องเสร็จสิ้นในปี 64 ทั้งหมด
ก่อนหน้านั้น นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 จังหวัด โดยให้ กกต. เป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้งตามความเหมาะสม หลังจากที่ได้รับแจ้งจาก ครม. ภายใน 60 วัน
ปัจจุบันสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ได้ครบวาระการดำรงตำแหน่งทั่วประเทศแล้ว ในเดือนพฤษภาคม 2561 แต่ยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ประชุมหารือร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง
ล่าสุด น.ส. พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ว่า "“คณะก้าวหน้าทำงานคืบหน้าไปมาก ทั้งการเตรียมทีม เตรียมนโยบายเพื่อลงเลือกตั้ง อบจ. พร้อมเกือบ 100% แล้ว รอเพียงแต่การประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจนจากรัฐบาล เมื่อมีมติ ครม. ออกมาในวันนี้ คณะก้าวหน้าก็จะจัดแถลงข่าว เพื่อแนะนำผู้สมัครของเราจากทั่วประเทศ พร้อมกับจะมีการแสดงวิสัยทัศน์ของธนาธร เรื่องการปลดปล่อยศักยภาพประเทศไทย ผ่านการเมืองท้องถิ่น ทีมผู้สมัครของเราทุกคนจะเปิดตัวพร้อมกัน ในงานที่จะจัดขึ้นวันที่ 9 ตุลาคมนี้ ซึ่งถือเป็นการเปิดแคมเปญเลือกตั้งท้องถิ่นของคณะก้าวหน้าอย่างเป็นทางการ ”