- 07 ต.ค. 2563
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โหมโรงใหญ่ ปลุกระดมอย่าปล่อยให้นศ.สู้ลำพัง แนวคิดปฏิรูปสถาบันฯ ลั่นเป็นโอกาสจะได้เปลี่ยนแปลงประเทศ
กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองขึ้นมาในทันที หลังจากมีความพยายามใช้เหตุการณ์ทางการเมืองในอดีต มาเป็นกระแสปลุกระดม มวลชนเข้าร่วมการชุมนุมวันที่ 14 ต.ค. 2563 ขณะที่ภาพการเคลื่อนไหวมีความชัดเจนมากขึ้น ว่ารูปแบบของกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม มีความเชื่อมโยงในรูปแบบใด ผ่านองค์กรนักศึกษาสถาบันต่าง ๆ
( คลิกอ่านข่าวประกอบ : กงล้อประวัติศาสตร์ถูกบิดเบือน? สภานักศึกษา มธ.มอบรางวัล อานนท์-ไมค์ แกนนำโหมคุกคามสถาบันฯ เจ้าตัวเทียบชั้นวีรชน 6 ตุลา )
จุดสำคัญ คือ กลุ่มการเมืองได้มีการโหมระดมความเห็น เรื่องการสร้างเวทีวิพากษ์วิจารณ์สถาบันเบื้องสูง เป็นแนวทางคู่ขนานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการชี้ให้ผู้คนเข้าใจว่า ข้อเรียกร้องว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นเรื่องถูกต้อง ชอบธรรรม ทั้ง ๆ ที่วิธีการนำเสนอ และเนื้อหาการปราศรัยของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม มีเนื้อหาเข้าข่ายคุกคาม ก้าวล่วง ด้วยข้อมูลอันเป็นการบิดเบือน
อาทิ กรณีที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ไปกล่าวในงานเสวนารำลึกครบรอบ 44 ปี 6 ตุลา จัดโดยสโมสรนิสิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุใจความบางช่วงตอนในเพจเฟซบุ๊ก หัวข้อ "สานต่อภารกิจ 6 ตุลา อย่าทิ้งเพื่อนเราให้โดดเดี่ยว" ระบุว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ระหว่างอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง และอำนาจที่มาจากจารีตประเพณี ซึ่งมาถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าเราจะให้อำนาจไหนเป็นอำนาจนำในสังคม
ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของสายธารประวัติศาสตร์ เป็นผู้รับภารกิจการต่อสู้มาจากคนยุค 6 ตุลา มีภารกิจที่เราต้องทำร่วมกันให้สำเร็จ คือการแก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หากทำเช่นนั้นได้ เราจึงจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้สำเร็จ
"ผมยืนยันว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ พูดด้วยความปรารถนาดี ด้วยความหวังว่าสังคมจะร่วมกันหาทางให้สถาบันกษัตริย์อยู่ร่วมกับประชาธิปไตยได้อย่างมั่นคงและสง่างาม หากปล่อยให้มีคนแค่ไม่กี่คนพูดเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คุณจะโดดเดี่ยวพวกเขา ปล่อยให้พวกเขาเผชิญกับคดีความและการคุกคาม เมื่อเป็นเช่นนี้จะไม่มีใครออกมาสู้เพื่อพวกคุณ มาเรียกร้องแทนพวกคุณ เราประชาชนมีเพียงจำนวน เราไม่มีตุลาการ ไม่มีปืน ไม่มีรถถัง เรามีแต่ปริมาณ เราเป็นจำนวนนับ ถ้าเราทิ้งเพื่อนของเรา จะไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาสู้อีกเลย
อย่าลืมว่ากว่าเราจะเดินมาถึงวันนี้ ต้องสูญเสียชีวิต เลือดเนื้อไปเท่าไหร่ จากคนในยุค 6 ตุลา มาจนถึงคนเสื้อแดง ....คุณจะตอบพวกเขาอย่างไรหากปล่อยโอกาสนี้ให้หลุดลอยไป โอกาสที่เราจะได้เปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นอย่างที่เราฝันอยากให้เป็น"
ทั้งนี้ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2563 นายธนาธร ในฐานะประธานคณะก้าวหน้า ก็มีการพูดถึงแนวทางการสร้างพื้นที่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ โดยระบุถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการหยุดยั้งระบอบประยุทธ์ โดยการเริ่มต้นแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ก่อนจะพาดพิงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ว่า ถึงแม้มีการแก้รัฐธรรมนูญได้ แต่ยังไม่ใช่ชัยชนะของประชาชน คือเป็นแค่บันไดก้าวแรกเท่านั้น เพื่อไม่ให้กลับไปเป็นแบบที่ผ่านมา และมีอีก 4-5 ประการต้องทำคือ 1.ปฏิรูประบบราชการที่ส่วนกลาง คืนอำนาจงบประมาณให้ต่างจังหวัดมีอำนาจตัดสินอนาคตตัวเอง 2.ปฏิรูปกองทัพให้อยู่ใต้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง 3. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด 4.ยกเลิกการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจในประเทศไทย เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดกลางเล็กแข่งขันกัน และ 5.การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
"เราพร้อมหรือยังที่จะเผชิญหน้ากับความจริง เรามีวุฒิภาวะพอหรือยังที่จะเผชิญเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา ไม่เอาปัญหาซุกไว้ใต้พรมให้คนรุ่นหลังแก้กันเองอีก เราจะพูดเรื่องนี้อย่างมีเหตุผลได้หรือยัง นี่คือคำถามที่นักศึกษาได้ตั้งคำถามและท้าทายเรา ตนอยากเรียกร้องให้ทุกคนพูดกันเรื่องนี้กันด้วยความหวังดี การพูดเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาเท่านั้นที่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับประเทศอย่างเป็นประชาธิปไตยได้ ที่ผ่านมาการชุมนุมไม่มีใครเรียกร้องให้ล้มล้างระบอบเลย แต่เราต้องยอมรับความจริงว่าพวกเรามีส่วนทำให้สังคมไทยมาถึงทางตันนี้ เรื่องสถาบันกษัตริย์จะไม่เป็นปัญหาเลยถ้าเราไม่ดึงสถาบันลงมายุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะด้วยวาทกรรม "เราจะสู้เพื่อในหลวง" หรือ พฤติการณ์ของอดีตประธานองคมนตรีที่กล่าวว่าทหารคือม้า รัฐบาลเป็นแค่จ๊อกกี้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามแม้ว่า นายธนาธร จะมีหลักคิดสนับสนุนให้มีการเคลื่อนไหว เรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ผ่านข้อเรียกร้องของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม แต่ที่ผ่านมา นายธนาธรก็ปฏิเสธ มาโดยตลอดเช่นกันว่า ไม่ได้เป็นกลุ่มการเมืองที่อยู่เบื้องหลังการจัดการชุมนุมทางการเมือง และพูดในสิ่้งที่เป็นประเด็นการโจมตีสถาบันเบื้องสูง ด้วยการปราศรัย บิดเบือนข้อเท็จจริง กล่าวหาสถาบันเบื้องสูง ด้วยถ้อยคำหยาบ รวมถึงไม่เคยยอมรับกระแสท้าทายให้ออกมายืนหน้า เป็นผู้นำการชุมนุมด้วยตัวเอง แทนกลุ่มบุคคลที่ออกมาแสดงตัวในชื่อกลุ่มเคลื่อนไหวต่าง ๆ และต้องกลายเป็นผู้ต้องหาในหลายคดีอาญา 8-9 ข้อหา อาจมีโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และองค์ประกอบความผิดอื่น ๆ
"ทั้งตนเองและ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ไม่มีความอยากที่จะเป็นผู้นำม็อบ ไม่ใช่ว่าไม่พร้อม ถ้าสถานการณ์จำเป็น หรือ มีความต้องการในทางการเมืองที่จะต้องไปนำการเคลื่อนไหวของประชาชน เราก็พร้อมทำ แต่วันนี้นักศึกษาทำไปแล้ว เขาทำออกมาได้สวยงาม สร้างสรรค์มากด้วย เป็นการชุมนุมอย่างสันติ สร้างสรรค์ และมีพลัง ทำได้ดีกว่าคนรุ่นเราด้วยซ้ำไป ดังนั้นไม่มีความจำเป็น เราทุกคนต่างมีหน้าที่ ถ้านักศึกษาเขาสามารถรวมพลังของประชาชนได้ เราพร้อมสนับสนุนเต็มที่ ไม่จำเป็นต้องแย่งชิงการนำอะไร"
โดยเฉพาะกับพฤติกรรมปรากฎล่าสุด ที่กำลังเป็นกระแสวิพากษ์อย่างมาก ถึงสิ่งที่ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน และ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว กระทำผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งแสดงเจตนาก้าวล่วงสถาบันเบื้องสูงอย่างชัดเจน เพียงแต่นายธนาธร และแกนนำคณะก้าวหน้า เลือกจะไม่พูดถึงพฤติการณ์เหล่านี้ แต่หยิบยกเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ มาเป็นสาระในการนำปลุกระดมมวลชน ให้ออกมารวมตัวผ่านเวทีการชุมนุมตามสถานที่ต่าง ๆ
( คลิกอ่านข่าวประกอบ : อัษฎางค์ เดือดปุด พฤติการณ์ จ่านิว - เพนกวิน จาบจ้วงสถาบันฯ นับวันภาพชัดปชต.ล้มเจ้า )