- 26 ต.ค. 2563
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงข้อเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่ง คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ จะเข้าเงื่อนล็อคปัญหา ไม่มีช่องทางหานายกฯจากรัฐสภา รองฯวิษณุถามกลับเสียงเรียกร้อง จะหาคนใหม่นายกรัฐมนตรี มาจากไหน ด้วยขั้นตอนใด ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272
ไฮไลต์การประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่ออภิปรายทั่วไปตามมาตรา 165 วันแรกตามข้อเสนอของรัฐบาล เรื่องการร่วมหาทางออกประเทศ จากการชุมนุมทางการเมือง ช่วงหนึ่งการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงว่า จากข้อมูลอภิปรายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกหรือยุบสภา ถือเป็นความจำเป็นที่ต้องพูดให้ทุกคนเข้าใจว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในทุกเรื่อง และต้องการเร่งแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด
อาทิ ที่ผ่านมาได้ปรึกษากับฝ่ายกฎหมายและศึกษารัฐธรรมนูญแล้วว่า หากกรณีนายกรัฐมนตรีลาออก จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หากนายกรัฐมนตรีลาออก คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะตามมาตรา 167 (1) และต้องมี คณะรัฐมนตรีรักษาการณ์จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ และจะต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากรัฐสภาโดยต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา จะอาศัยเสียงส.ส.ไม่ว่าจะพรรคข้างใดข้างหนึ่ง ก็ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ต้องมีเสียง ส.ว.ด้วย
รวมถึงก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้มีการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว สำหรับแนวทางการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยรัฐสภาจะเร่งพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จวาระที่ 3 ภายในเดือนธันวาคมนี้ และสัปดาห์หน้า รัฐบาลจะเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มายังสภาผู้แทนราษฎร
"ส่วนการยุบสภาก็จะทำให้สมาชิกภาพของ ส.ส.ทุกคนสิ้นสุดลง ผมจึงไม่แน่ใจว่าต้องการเช่นนี้กันหรือไม่ ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากยังไม่เข้าใจจะมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ชี้แจง"
ทางด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การเสนอญัตติเพื่ออภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เป็นการเสนอตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ที่บัญญัติว่าเมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นว่ามีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน สามารถขอเปิดอภิปรายทั่วไปในเรื่องนั้นได้ ซึ่งญัตติไม่ได้มี 3 ข้อ และไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลถาม แต่เป็นลำดับความเป็นมาของเรื่องต่างๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น หากรัฐบาลไม่อธิบายความเป็นมาหรือข้อเท็จจริง สมาชิกรัฐสภาก็จะเกิดความสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นเหตุใดรัฐบาล จึงมาขอรับฟังความเห็น ทั้งหมดจึงเป็นเพียงลำดับข้อเท็จจริงเท่านั้น ดังนั้นสมาชิกจะอภิปรายเรื่องใดอย่างไรก็ได้
"ถ้าฟังจากการชุมนุมช่วง 10-20 วันที่ผ่านมา คงจะประมวลข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมที่เกี่ยวพันกับรัฐบาลได้ประมาณ 6-7 ข้อ ส่วนข้อเรียกอื่นๆ ที่มีการขอให้คืนอิสรภาพให้ฮ่องกงนั้น ก็หมดปัญญาที่รัฐบาลจะไปทำอะไรได้ โดยข้อ 1.การเรียกร้องให้เปิดสภาสมัยวิสามัญ ซึ่งขณะนี้ได้เปิดประชุมแล้ว 2.ขอให้มีการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ซึ่งขณะนี้ยกเลิกแล้ว 3.ขอให้เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะฉบับไอลอร์ตอนนี้เข้าสภาแล้วและนายกฯ ได้ชี้แจงแล้ว ซึ่งหากเปิดสภาสมัยสามัญ ก็สามารถนำมาพิจารณาได้ รวมถึงฉบับไอลอร์ด้วย
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร กราบเรียนซ้ำอีกครั้งว่า หากย้อนไปเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่มีการเชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐธรรมนูญและรัฐมนตรีอีกหลายคน เพื่อหารือเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเป็นข้อเสนอที่กำลังเดินทางไปสู่จุดหมาย ส่วนที่เหลือเพียงอีก 3 ข้อ คือ 4.ขอให้ยุบสภา ซึ่งก็ต้องถามว่า สภามีความผิดอะไร จึงต้องยุบสภา แต่ถ้าเป็นความประสงค์ หรือเจตนารมณ์นายกฯ ก็คงจะได้หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป 5.ข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกนั้น แล้วจะหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ มาจากไหน ด้วยขั้นตอนใด ซึ่งจะอยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และ 6.การปฏิรูปสถาบันฯ คืออะไร รัฐบาลไม่ทราบ จึงอยากฟังการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาเหมือนกัน
"เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ก่อนประชุม ครม. นายกฯ ได้เชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค และรัฐมนตรี 10 กว่าคน หารือว่าร่างรัฐธรรมนูญควรเดินหน้าต่อไปโดยเร็ว มีคนถามว่าจะส่งสัญญาณไปถึง ส.ว.และฝ่ายค้านอย่างไรได้บ้าง นายกก็บอกว่าสัญญาณก็ไปอยู่ดี แต่ถ้าจะเรียกหรือเชิญคงไม่เหมาะสม และความจริงสื่อมวลชนหลายที่เสนอไปแล้วว่า นายกฯ ได้ส่งสัญญาณอย่างไรไปยังพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ นายกฯ ได้ให้ผมทำไทม์ไลน์การแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าตามกฏหมายจะเดินอย่างไร นับแต่ที่เปิดสภาสมัยที่สอง ส่วนเหตุแทรกซ้อนไม่อาจคาดคิด เมื่อเปิดสมัยประชุมในเดือน พ.ย.ก็รับหลักการวาระที่หนึ่ง ตั้งคณะ กมธ. ส่วนสภาจะตั้ง กมธ.เต็มสภาหรือไม่ก็แล้วแต่"
>> Hot Sale ลาซาด้า ยกขบวนสินค้า ลดกระหน่ำทุกรายการ สูงสุด 90% <<