- 01 พ.ย. 2563
รศ.ดร. ต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ กรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ โพสต์แสดงความเห็นประเด็นร้อน ข้อเสนอทางออกประเทศ ผ่านโลกสื่อสาร ถูกตีความเข้าข้างม็อบการเมืองล้มเจ้า
กลายเป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากผ่านโลกโซเชียล จากคำพูดของ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องด้วยมีการตีความข้อเสนอ ไปในลักษณะด้วยการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จนนำไปสู่การแสดงความเห็นอย่างหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่เป็นไปในทางลบต่อสิ่งที่เป็นแนวคิดของ นายอานันท์ ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ
ล่าสุด รศ.ดร. ต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ กรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ได้โพสต์แสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า "จริงๆ นาย อานันท์ พูดอะไร ? นายอานันท์ ปันยารชุน ไม่ได้พูด ไล่ประยุทธ และไม่ได้พูดว่าประยุทธ์ผิดมาตั้งแต่ 7 ปี ที่แล้ว ! แค่เท่านั้น ยังมีข้อเสนอดีๆจำนวนมากที่ทั้ง 2 ฝ่ายควรเปิดใจรับ
อ่านที่นายอานันท์พูดอะไร จริงๆ เต็มๆที่เวทีเสวนา หัวข้อ “จากรุ่นแอนะล็อกสู่ยุคดิจิทัลเราจะลดช่องว่างการสื่อสารด้วยความจริงและความงามได้อย่างไร” ในเวทีนักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดโดยหน่วยงานโคแฟคท์ประเทศไทย (Cofact Thailand) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรหลายภาคส่วน นอกเหนือจากนายอานันท์ ยังมีตัวแทนสื่อมวลชน นักศึกษา ร่วมพูดคุยในเวทีนี้ด้วย เพื่อให้ความเห็น และร่วมหาทางออกด้วยกัน ในการลดช่องว่างทางการสื่อสาร จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม 2563
เรามาดูกันครับ ว่าจริงๆ แล้วนายอานันท์พูดอะไร
ประโยคสำคัญที่สื่อไทยไม่นำเสนอกัน อยู่ในประโยคสุดท้ายที่นายอานันท์ ย้ำว่า:
..."... ผมไม่สนใจที่จะเข้าไปร่วมด้วยทั้งสองฝ่าย มันมีมากกว่าสองฝ่ายหรือไม่ ผมไม่ทราบ
แต่เริ่มต้นสมมุติฐานก็ผิดกันแล้ว เด็กเริ่มต้นจาก 7 ปีที่แล้ว แต่นายกรัฐมนตรีเริ่มต้นบอกว่าทำอะไรผิด
พูดคนละภาษา เด็กพูดภาษาดิจิทัล รัฐบาลตอนนี้พูดภาษาแอนะล็อก สงครามต่อสู้กันคนละสนาม ไม่เคยเจอกัน แล้วพูดคนละประเด็น..."...
ขณะนี้คุณอานันท์ ถูกทั้ง2 ฝ่าย รุมทึ้ง เพราะจริงๆแล้ว ที่คุณอานันท์พูดมีเนื้อหาดีๆ ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาขัดแย้งครั้งนี้ได้
อ่านคำพูดของนายอานันท์ ที่ถอดเทปมาโดยไม่ตัดตอน โดย นายจิตกร บุษบา ที่วิจารณ์บทบาทของสื่อไทย และคนต่างๆที่อ่านแค่พาดหัวข่าวสั้นๆ แล้วก็วิจารณ์เสียๆหายๆ
อ่านที่นี่ได้ : https://www.naewna.com/politic/columnist/45786
ถ้ามีเวลา ควรฟังเทปที่คุณอานันท์ พูดทั้งหมด ที่ผู้จัด การเสวนา cofact เขาเอามาลง ดูแล้วฟัง แล้วเห็นว่าอย่างไรก็ว่ากันไป ไม่ว่ากัน:
https://www.facebook.com/CofactThailand/videos/730706797657503/?vh=e&extid=0&d=n
หมายเหตุ : ข้อความจากเวทีเสวนา หัวข้อ “จากรุ่นแอนะล็อกสู่ยุคดิจิทัล เราจะลดช่องว่างการสื่อสารด้วยความจริงและความงามได้อย่างไร” ในเวทีนักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดโดยหน่วยงานโคแฟคประเทศไทย (Cofact Thailand) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรหลายภาคส่วน
นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองไทยขณะนี้ว่า "วันนี้ทุกคนเข้าใจว่าสถานการณ์บ้านเมืองของเราอยู่ในขั้นที่บางคนเรียกว่าวิกฤติ บางคนในรุ่นผมก็อาจจะรู้สึกว่าไม่ใช่ของผิดปกติอะไร เพราะที่จริงเรามีเหตุการณ์แบบนี้ไม่รู้กี่ครั้งในระยะ 88 ปี ที่เราเรียกว่ามีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คนเราเมื่ออายุมาก ผ่านโลกมามาก เห็นร้อนเห็นหนาว เห็นเหวเห็นยอดเขา เห็นอากาศร้อนหนาว เมื่อเราผ่านสิ่งเหล่านี้มาแล้ว เห็นความสำเร็จ เห็นความล้มเหลว มีความผิดหวัง มีความดีใจ เมื่อผ่านทั้งหลายมาแล้ว ผมคิดว่าเราอยู่ในสถานะที่จะมองโลกในแง่ดี มากกว่าคนที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน อันนี้เป็นเรื่องของธรรมชาติ
ตัวผมเองรู้เลยว่า มันมีวิวัฒนาการในวิธีคิดของผม สมัยผมเป็นหนุ่ม ค่อนข้างจะเลือดร้อน ใจร้อน พูดอะไรไม่ใช่ตรงไปตรงมา บางครั้งก็ผิดกาลเทศะ พูดบางอย่างก็กระทบจิตใจคนโดยไม่จำเป็น แต่จากการที่เราพยายามดูตัวเองอยู่เสมอ ว่ามีข้อบกพร่องอะไร และเหตุการณ์ในชีวิตกล่อมให้เราก้าวหน้าไปในทางที่เหมาะสมกว่าในอดีต ฉะนั้นเรื่องอายุ หรือเรื่องนิสัยของคน เปลี่ยนแปลงได้หากตัวเองตั้งใจที่จะหาทางออก หรือหาทางที่จะคบค้าสมาคมกับคนทั่วไป
ในปัจจุบันปัญหาการเมืองไทย ก็เป็นปัญหาที่เรียกว่า เป็นปัญหาการเมืองเหมือนกับที่เคยมีมาในอดีต พอมีปัญหาทำไปทำมาก็สู้รบกัน เสร็จแล้วก็รัฐประหาร เมื่อรัฐประหารเสร็จก็เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วก็เลือกตั้งและตั้งรัฐบาล อีก 7-8 ปี ก็กลับมาวงเวียนเก่า มันไม่พ้นวงจรนี้ เพราะสิ่งที่เราทำมาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญ การตั้งรัฐบาล หรือการมีนโยบายต่างๆ เป็นเรื่องการมองผลในระยะสั้นเท่านั้น ไม่ได้มองประเด็น ที่ถึงแก่นรากของประเด็น มองประเด็นแต่ผิวเผิน เมื่อมองแต่ผิวเผินก็ไม่รู้ว่าเหตุที่เกิดประเด็นนี้ขึ้นมา มาจากอะไร เวลาแก้ไขก็ไม่ได้แก้ที่ราก ไปแก้ที่กิ่งใบสาขา เหล่านั้น
เพราะฉะนั้นการหาทางออกที่ผ่านมาในอดีต จึงมักเป็นทางออกระยะสั้น เช่น เมืองไทยต้องการสงบเรียบร้อย ไม่ต้องการให้มีการสู้รบ อย่างที่ราชประสงค์ ฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ตีกัน แล้วก็บอกว่าขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้น ก็ต้องคิดว่าดีขึ้นเพราะอะไร หากดีขึ้นเพราะกฎหมาย ซึ่งอาจจะเป็นจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม หรือดีขึ้นเพราะมีกฎกระทรวง มีพระราชบัญญัติคุมทหาร หรือคุมตำรวจเอง ก็เป็นความสงบที่ผิวเผิน ความสงบที่แท้จริงต้องไม่ได้มีการบังคับ ไม่ได้มาจากเบื้องบน ไม่ได้มาจากเบื้องล่าง แต่เป็นความสงบที่ทุก ๆ ฝ่าย เขาพูดคุยกันแล้ว ยอมรู้สึกว่า เขามีผลประโยชน์ร่วมกันที่จะมีความสงบ
เพราะฉะนั้น การตั้งคำถาม การตั้งระเบียบวาระ เป็นเรื่องจำเป็นมาก หลายสังคมต่างๆ เมื่อตั้งคำถามผิด โดยเฉพาะสังคมไทย เมื่อคุณไปหาคำตอบมา ถึงแม้ว่ามันจะถูก แต่สุดท้ายมันก็ไม่ได้แก้ปัญหา เพราะคำถามมันผิดอยู่แล้ว
หรือบอกว่า มันสงบเพราะมีเหตุการณ์โควิด มันก็ไม่ใช่ ความสงบต้องมองไปอีกว่า ความสงบจริงๆ แล้ว รากจริงๆ อยู่ที่ไหน มันมีคำพูด คนจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ “ตราบใดที่สังคมไม่มีความยุติธรรม มันไม่มีความสงบหรอก” ในสายตาของผม ซึ่งอาจจะผิดนะ ผมคิดว่าตราบใดที่สังคมไม่มีความยุติธรรม ไม่มีความเสมอภาค มันอาจจะสงบ 60% แต่มันไม่สงบจริงจัง มันไม่ยั่งยืน
ถามว่ามีสังคมไหนบ้าง ที่มีความสงบยั่งยืน 100% คำตอบก็คือไม่มี เพราะแม้แต่ความยุติธรรมก็ดี หรือปัญหารากฐานก็ดี ไม่ใช่จะแก้ไขได้ 100% แต่อย่างน้อยถ้าจับประเด็นที่ถูกต้อง จับเหตุที่ถูกต้องได้ โอกาสที่เราไปสู่สังคมที่มีความยุติธรรมมากขึ้น สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำน้อยลงไป สังคมที่มีโอกาสมากขึ้นดีกว่าเดิม ผมว่าเราก็น่าจะพอใจแล้ว เพราะเราจะไปคาดหวัง 100% เป็นไปไม่ได้
อีกประการที่อยากตั้งข้อสังเกตก็คือว่า ในสายตาของผม พูดได้เลยว่า นี่เป็น “ข้อขัดแย้งระหว่างคนละรุ่น” ขอตั้งขอสังเกต (หัวข้อ Mind the Gap between) Digital native and Digital immigrants ขาดไปมาก มันมีอีกคำคือ Digital ignorants คือคนอย่างผม ซึ่งไม่สามารถอพยพไปได้ เพราะไม่มีความต้องการ หรือไม่มีความอยากจะเป็นดิจิทัลได้เลย คุณทักษิณ (ชินวัตร) เคยบอกผมว่า ท่านนายกฯเป็น แอนะล็อก ตอนนั้นก็ไม่รู้ ซึ่งผมเป็นแอนะล็อก เจเนอเรชั่น ที่ไม่มีความสามารถจะอพยพไปอยู่ดิจิทัลได้เลย นี่เป็นข้อแรก
ข้อที่สอง ปัญหาของเรา ในสายตาผม ยากก็ยาก แต่จะมองว่าไม่ยากก็ไม่ยาก ถ้าไปเปรียบเทียบในประวัติศาสตร์โลก โรมันเอ็มไพร์ กรีกเอมไพร์ ออสโตมัน ครูเสด ต่างๆ ข้อขัดแย้งของเมืองไทยทุกสมัย เป็นข้อขัดแย้งของข้อพิพาทไม่ใช่ระหว่างสองฝ่าย แต่จริง ๆ ระหว่างคนสองกลุ่มเท่านั้น เป็นข้อพิพาททางการเมืองบ้างโดยมีผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง หรือเป็นข้อพิพาทในเรื่องวิธีคิดการเมือง หรืออุดมการณ์ แต่ไม่ใช่ข้อพิพาทที่อยู่บนพื้นฐานของ เรื่องสีผิว ศาสนา หรือเชื้อชาติ ของเราเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นมันไม่มีความซาบซึ้ง
ความวุ่นวายในปัจจุบัน จริงๆ แล้วหากดูให้ดี โดยผมจะไม่พูดถึงเรื่องข้อเรียกร้องของเขา ผมจะไม่พูดว่าอะไรผิดอะไรถูก แต่หากมองเหตุการณ์ดูแล้ว ความวุ่นวายปัจจุบันมันมีระดับความรุนแรงน้อยกว่าความวุ่นวายในอดีตไม่ว่าจะเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ หรือ 6 ตุลาฯ ที่เป็นข้อพิพาททางด้านการเมืองเหมือนกัน แต่ทั้งสองเหตุการณ์จบด้วยการปะทะกัน แต่คราวนี้แม้จะเป็นความคิดทางการเมือง แต่การชุมนุมต่างๆ ไม่ว่าคนจะเป็นหมื่นหรือแสน ผมไม่ทราบ แต่ไม่มีการพกอาวุธ ไม่มีปืน ไม่มีมีด อาจจะมีปลายร่มนิดๆหน่อย
ฉะนั้นทุกอย่างเป็นระเบียบ ไม่มีการเผาสถานีตำรวจ ไม่มีการปิดถนนอย่างไม่ยอม ไม่มีการเผายางรถยนต์ รถบัส หรือแม้แต่รัฐบาลก็ไม่มีการใช้อาวุธ อาจจะตอนใช้น้ำอัดฉีดเรียกว่าเกินความเหมาะสมไปบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้คนต้องเสียชีวิต ฉะนั้นความรุนแรงครั้งนี้มีการกำหนดกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งต้องชมทั้งสองฝ่าย ไม่มีการถือโอกาสลักขโมยของในร้านค้าต่างๆ
อีกเรื่องที่อยากตั้งข้อสังเกตก็คือว่า การเรียกร้องอะไรก็แล้วแต่ หากจะทำทุกอย่างตามอำเภอใจของเรา คุณจะไม่ประสบผลสำเร็จ ในฐานะที่ผมอยู่ด้านการเมืองมา 2 ปีครึ่ง ไม่ได้เข้าไปอยู่เพราะใจชอบหรือใจรัก แต่เข้าไปเพราะต้องไปทำงานด้านการเมือง ประสบการณ์บอกผมอย่างหนึ่งว่า ถ้าจะหวังว่าให้สำเร็จในสิ่งที่คิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
เราต้องคำนึงเสมอว่าเราทำคนเดียวไม่ได้ รัฐบาลนี้ทำได้เพราะมีอำนาจทางทหาร มีอำนาจทางสภา แต่ผมเข้าไปไม่มีอำนาจสักอย่าง ผมต้องหาอำนาจประชาชน ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเรากำลังจะทำอะไร หากเราคิดว่าสิ่งที่เป็นของสำเร็จรูปทำใส่กล่องอย่างดีไปให้ประชาชน อันนี้ไม่ใช่ความสำเร็จ แต่เรียกว่าไปกำหนดไปบังคับให้ประชาชนรับสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุด แต่ประชาชนจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เขารับไปแต่จะไม่รู้จักคุณค่า
ดังนั้นเราตั้งระเบียบวาระของเราจะมี 8 ข้อ 10 ข้ออะไรก็ตาม แต่เราทำตามอำเภอใจไม่ได้ เราต้องเลือกประเด็นปัญหาที่มีความเร่งด่วน แต่ถ้าบอกว่ามี 8 เรื่อง 10 เรื่อง ไม่บอกว่าจะทำที่ไหนก่อน ทุกอันที่ยกประเด็นขึ้นมาหากไม่สอดคล้องกับความเห็นส่วนใหญ่ของประชาชน โอกาสที่จะสำเร็จจะน้อยมาก อันนี้ไม่ใช่เรื่องของผิดถูก อย่าไปคิดว่าระบอบประชาธิปไตยมันจะต้องถูกเสมอไป เพราะผิดหรือถูกไม่ได้ขึ้นอยู่กับสาระอย่างเดียว แต่ผิดหรือถูกขึ้นอยู่กับกาลเทศะด้วย
ฉะนั้นคนที่จะทำอะไรต้องวางยุทธศาสตร์ วางแผนงานให้ดี ยุทธศาสตร์ที่ผมบอกก็คือ ต้องพยายามเลือกประเด็นที่สอดคล้องกับความคิดกับประชาชนส่วนใหญ่ ถ้าเลือกประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับประชาชนส่วนใหญ่อันนั้นยิ่งเสร็จใหญ่เลย อย่าดูถูกประชาชน เขาจะถูกหรือผิดอย่างไร เป็นความคิดของเขา ฉันใดฉันนั้นเราไม่ดูถูกความคิดเด็กรุ่นใหม่ ไม่ดูถูกความคิดของรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจ เพราะการจะคบกัน การอยู่ร่วมกันต่อไปในผืนแผ่นดินไทย ต้องเปิดใจกว้าง ไม่ใช่ว่าต้องเห็นด้วย แต่ต้องเข้าใจกันและกัน
การใช้ภาษาก็สำคัญ วิธีเขียนประเด็นสำคัญมาก หากเริ่มต้นเขียนเชิงลบก็บาดหมางน้ำใจกันแล้ว มันมีวิธีเขียนครับ เขียนออกมาเป็นเชิงบวก อย่าไปเขียนออกมาแล้วคนด่าทันที มันต้องรักษาน้ำใจซึ่งกันและกัน และต้องเข้าใจเหตุผลของความแตกต่างกัน
นายอานันท์ กล่าวด้วยว่า สังคมไทยจะผิดจะถูกอย่างไรผมไม่รู้ สังคมไทยที่บอกว่าสังคมอนุรักษ์นิยม สังคมไทยยังเคารพเรื่องประเพณี เรื่องคุณค่าเก่าๆ แล้วถามว่าปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ไม่มีความกตัญญูกตเวทีหรือไม่ ก็ไม่ใช่ เพราะเขาก็มี แต่เขามีคำถาม เพราะหลายสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนไปแล้ว ผมรู้สึกว่าการเขียนรัฐธรรมนูญ จะเรียกว่าการเขียนฉบับใหม่หรือปรับปรุงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็แล้วแต่ ผมว่าถ้าเราวางหลักเกณฑ์ก่อนว่าควรจะสั้นกว่านี้ อย่าลงรายละเอียดมากเกินไป และดูมาตราที่สร้างปัญหาก่อน
แน่นอนมาตราที่สร้างปัญหา คือมาตราที่ให้มีการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และไม่ใช่แค่แต่งตั้ง ส.ว. 250 คนที่ถือว่าแปลกแล้ว แต่ยังให้อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย อันนี้ต้องเอาออกไปแน่ๆ และ ส.ว.หลายคนมีความรู้สึกอย่างนั้นแต่ไม่กล้าพูดออกมา ฉะนั้นต้องเข้าใจว่าอันนี้คือประเด็นใหญ่ ที่ทำให้เกิดการเดินขบวน เป็นสิ่งที่เยาวชนรุ่นใหม่ และคนรุ่นเก่าอย่างผม อยากที่จะเห็นว่าจะไม่มีประโยคนี้ ไม่มีมาตรานี้อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ ไป
ส่วนเรื่องมาตรา 112 ผมก็พูดมา 7-8 ปีแล้ว ผมพูดคนแรก ๆ เลยว่าต้องปรับปรุงใหม่ ไม่ได้บอกว่าต้องล้มล้างนะ แต่สิ่งที่ต้องทำทันทีคือ มาตรา 112 ต้องไม่เป็นคดีอาญา คือไม่มีการลงโทษ แต่ต้องเป็นคดีแพ่งคือการปรับ แต่ไม่ใช่ปรับจำนวนเงินที่สูงเกินไป เหมือนเราจะสั่งสอนเด็ก ไม่ใช่ทุบหัวให้แตก แค่ตีก้นให้รู้สึกว่าผิด ไม่ต้องตีให้มันช้ำให้มันแตก ฉะนั้นหลักการเขียนรัฐธรรมนูญต้องวางหลักเกณฑ์ให้แน่นอน
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมว่าจะเป็นปัญหา แต่ผมไม่อยู่ในฐานะที่จะพูดว่าควรหรือไม่ควรทำนะ แต่เด็กยืนยันว่าท่านนายกรัฐมนตรีเป็นตัวปัญหานะ คนรุ่นใหม่เขามองว่า นายกรัฐมนตรีเป็นคนเดียวที่สามารถปลดล็อกได้ จะปลดล็อกด้วยวิธีใดผมไม่รู้ ท่านจะไม่ลาออก ผมก็ไม่ว่าอะไรเพราะเป็นสิทธิ์ของท่าน แต่ท่านต้องรู้นะ ว่าเขาเรียกร้องอย่างนั้น แล้วถ้าจะเถียงกับคนรุ่นใหม่ อ้างปัญหากฎหมาย อ้างกฎเกณฑ์ต่างๆ มันไปไม่ถึงไหน เพราะเด็กมองว่ามันผิดมา 7 ปีแล้ว คุณอาจจะไม่เห็นด้วย ผมก็ไม่เห็นด้วยทุกอย่างนะ แต่พยายามเข้าใจ เหมือนอย่างผมพยายามทำความเข้าใจสถานะของท่านนายกรัฐมนตรี หรือสถานะของรัฐบาลเหมือนกัน แต่ถ้ามันไม่เข้าใจซึ่งกันและกันก็ต้องคุยกัน
ผมไม่สนใจที่จะเข้าไปร่วมด้วยทั้งสองฝ่าย มันมีมากกว่าสองฝ่ายหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่เริ่มต้นสมมติฐานก็ผิดกันแล้ว เด็กเริ่มต้นจาก 7 ปีที่แล้ว แต่นายกรัฐมนตรีเริ่มต้นบอกว่าทำอะไรผิด พูดคนละภาษา เด็กพูดภาษาดิจิทัล รัฐบาลตอนนี้พูดภาษาแอนะล็อก สงครามต่อสู้กันคนละสนาม ไม่เคยเจอกัน แล้วพูดคนละประเด็น ผมถึงบอกว่าในสังคมโลกเขาพูดกันเลยว่า คุณจะมีสันติภาพไม่ได้ ถ้าคุณไม่มีความยุติธรรม ..."
Lazada ลดแหลก แจกกระจาย ถูกสุดในรอบปี!11.11 ฟรีจัดส่ง ลดสูงสุด 90%