- 16 พ.ย. 2563
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานวิปรัฐบาล เผยมติที่ประชุม รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เฉพาะ 1 และ 2 อุบท่าทีไม่หนุนไอลอว์ อ้างรอฟังอภิปรายก่อน
เข้าสู่โหมดการนับถอยหลังสำหรับทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่มีการเรียกร้องในหลากหลายรูปแบบ ถึงขั้นมีการนัดหมายชุมนุมที่หน้ารัฐสภา เพื่อกดดันให้มีการรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของกลุ่มโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ โดยไม่มีเงื่อนไข ของฝ่ายมวลชนคณะราษฎร ขณะที่กลุ่มไทยภักดี ก็รวมตัวคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ฝ่ายค้าน และไอลอว์ ด้วยเห็นว่ามีการเปิดช่องให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขในหมวดหมู่ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ว่าด้วยการลดทอนพระราชอำนาจ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ มีแนวโน้มจะเป็นไปเพราะผลประโยชน์ของนักการเมืองไม่ใช่ของประชาชน
( คลิกอ่านข่าวประกอบ : อดีตบิ๊กข่าวกรอง ซัดโซรอส คนจ่ายเงินไอลอว์ ย้อนถามโหม กดดันรื้อ แก้รธน. เคยถามปชช.จริงๆหรือไม่ )
ล่าสุด นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส. นครศรีธรรมรราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล ได้เปิดเผยถึงผลการประชุมวิปรัฐบาล ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาระเบียบวาระที่จะประชุมร่วมรัฐสสภา ในวันที่ 17-18 พ.ย. เริ่มต้นด้วยรายงานของคณะกรรมาธิการ(กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก่อนเข้าวาระรับหลักการ ทั้ง 6 ฉบับ ที่ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งวิปรัฐบาล มีมติรับทราบรายงานของ กมธ.
หลังจากนั้นจะเป็นการพิจารณาเรื่องด่วน คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ร่าง โดยที่ประชุมวิปรัฐบาลมีมติให้รวมพิจาณาทั้ง 7 ร่าง จากนั้นให้ลงมติโดยการเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผยในคราวเดียวกันทีละฉบับ ซึ่งวิปรัฐบาลมีมติว่า รับหลักการร่าง 1และร่าง2. ส่วนร่างที่ 3-6 งดออกเสียง ส่วนร่างที่ 7 คือร่างของไอลอว์ ที่ประชุมขอฟังการแถลงและการอภิปรายของสมาชิกก่อน จากนั้นวิปรัฐบาลจะนัดพิจารณาอีกครั้ง
"โดยเมื่อลงมติเรียบร้อยแล้ว จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ...พ.ศ.....) จำนวน 45 คน แบ่งเป็น ส.ว. 15 คน ส.ส.30 คน โดยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล 17 คน พรรคร่วมฝ่ายค้าน 13 คน"
ขณะที่ก่อนหน้านั้น พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค , นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคและประธานวิปรัฐบาล ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่อกำหนดท่าทีของพรรคต่อการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระที่ 1
โดย น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. โฆษกพรรคพลังประชารัฐ แถลงว่า มติพรรคพลังประชารัฐยืนยันตามมติวิปรัฐบาล คือ รับหลักการในร่างที่ 1 ของนายสมพงษ์ อมรวิฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและคณะเป็นผู้เสนอ และร่างที่ 2 ของนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาลและคณะเป็นผู้เสนอ ส่วนร่างที่ 3-6 งดออกเสียง เพราะเนื้อหาครอบคลุมเหมือนกับร่างที่ 1 และ 2 แล้ว สำหรับร่างที่ 7 ของกลุ่มไอลอว์ จะขอฟังจากสมาชิกทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้าน ส.ส.รัฐบาล และ ส.ว. ก่อนจะตัดสินใจในการลงมติอีกครั้ง
ทั้งนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของพรรครัฐบาล-ฝ่ายค้าน และฉบับประชาชาชน จำนวน 7 ฉบับ ประกอบด้วย
1.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 (นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์กับคณะ เป็นผู้เสนอ)
2. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 (นายวิรัช รัตนเศรษฐกับคณะ เป็นผู้เสนอ)
3. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ยกเลิกมาตรา 270 และมาตรา 271 (นายสมพงษ์กับคณะ เป็นผู้เสนอ)
4.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 259 และยกเลิกมาตรา 272 (นายสมพงษ์กับคณะ เป็นผู้เสนอ)
5. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ยกเลิกมาตรา 279 (นายสมพงษ์กับคณะ เป็นผู้เสนอ)
6. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 91 มาตรา 92 และมาตรา 94 และยกเลิกมาตรา 93 มาตรา 101 (4) และมาตรา 105 วรรคสาม (นายสมพงษ์กับคณะ เป็นผู้เสนอ)
7. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ยกเลิกมาตรา 65 มาตรา 88 มาตรา 203 มาตรา 217 มาตรา 270 มาตรา 272 มาตรา 275 และมาตรา 279 และยกเลิกหมวด 16 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 142 มาตรา 159 วรรคแรก มาตรา 162 วรรคแรก มาตรา 252 วรรคสอง มาตรา 256 และมาตรา 269 และเพิ่มหมวด 17 (นายจอน อึ๊งภากรณ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 98,041 คน หรือ ฉบับไอลอว์เป็นผู้เสนอ)