- 26 พ.ย. 2563
26 พฤศจิกายน 2563 ที่ห้องพิจารณา 811 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ คดีดำ อ.2890/2562 ที่ น.ส.ชลิตา บัณฑุวงศ์ รองหัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ร.อ.หรือนายทรงกลด ชื่นชูผล หรือ “ผู้กองปูเค็ม” แนวร่วม กปปส. ทีมการ์ดชาตินิยม (TWG) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328
26 พฤศจิกายน 2563 ที่ห้องพิจารณา 811 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ คดีดำ อ.2890/2562 ที่ น.ส.ชลิตา บัณฑุวงศ์ รองหัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ร.อ.หรือนายทรงกลด ชื่นชูผล หรือ “ผู้กองปูเค็ม” แนวร่วม กปปส. ทีมการ์ดชาตินิยม (TWG) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328
คำฟ้องโจทก์ระบุพฤติการณ์ความผิดจำเลยสรุปว่า เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2562 จำเลยโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “ผู้กองปูเค็ม” เชิญชวนให้คนไปที่ม.เกษตรศาสตร์ เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนโจทก์ต่ออธิการบดี กล่าวหาว่าโจทก์ปลุกปั่น แยกดินแดน ขัดรัฐธรรมนูญ และ วันที่ 3 ต.ค. 2562 จำเลยเฟซบุ๊กไลฟ์ที่ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวถ้อยคำใส่ความโจทก์ด้วยถ้อยคำหยาบคาย และกล่าวหาว่า โจทก์ มีแนวคิดกบฏ
นอกจากนี้ วันที่ 3 ต.ค. 2562 จำเลยยังได้มีหนังสือร้องเรียนถึงม.เกษตรศาสตร์ ขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ โดยกล่าวหาการกระทำโจทก์ส่อว่าให้มีการแบ่งแยกรัฐ หรือสนับสนุนให้มีการแบ่งแยก และเติมเชื้อไฟให้สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ในวันที่ 31 ต.ค. 2562 จำเลยยังโพสต์ข้อความว่า “การแอบอ้างเสรีทางวิชาการเพื่อแบ่งแยกแผ่นดินนั้น ควรถูกตัดหัวเสียบประจาน จริงมั๊ย ชลิตา?” และข้อความอื่นๆ
การกระทำของจำเลย ล้วนเป็นข้อความอันเป็นเท็จทำให้โจทก์ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เพราะความจริงแล้วโจทก์มิได้ยุยงปลุกปั่นประชาชนแยกดินแดนแต่อย่างใด
คดีนี้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์แล้ว มีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 มี.ค.2563 ให้ยกฟ้อง เนื่องจาก เห็นว่า ข้อความดังกล่าวแม้จะเป็นถ้อยคำที่รุนแรงไปบ้าง ก็ถือเป็นเพียงการกล่าวถ้อยคำไม่สุภาพและคำหยาบเท่านั้น ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ หรือทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษากันแล้ว เห็นว่า โจทก์และจำเลยมีสิทธิ เสรีภาพเท่าเทียมกันในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่ไม่ได้ไปละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น แต่ปรากฏว่าจำเลยไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นในเนื้อหาเกี่ยวกับการเสวนาของจำเลย แต่มุ่งแสดงความเห็นที่เป็นการทำลายชื่อเสียง ศักดิ์ศรี และคุณค่าฐานะทางสังคมของโจทก์ จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือติชมด้วยความเป็นธรรม อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น คดีมีมูล พิพากษากลับให้ประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณาต่อไป
ศาลอาญาจึงนัดสอบคำให้การจำเลย และตรวจพยานหลักฐานวันที่ 8 ก.พ.2564 เวลา 09.00 น.
ภายหลัง น.ส.ชลิตา ให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกดีใจ เพราะไม่คิดว่า ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษามาลักษณะนี้ คิดว่าจะยืนตามศาลชั้นต้น ทำให้ตนมีความรู้สึกเชื่อมั่นกับกระบวนการยุติธรรมขึ้นมาอีกพอสมควร โดยส่วนตัวตนคิดว่าเคสแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับใครคนอื่นด้วย