- 24 ม.ค. 2564
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีนโยบายให้เอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ได้ โดยขอให้ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนวัคซีนกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีนโยบายให้เอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ได้ โดยขอให้ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนวัคซีนกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ถูกต้อง อย. จะพิจารณาตรวจสอบวัคซีนที่จะขอนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย ซึ่งจะต้องได้รับการประเมินก่อนนำไปใช้จริง
โดยทาง อย.จะประเมินทั้งในด้านคุณภาพ ด้านความปลอดภัย และด้านประสิทธิผลของวัคซีน ว่าเหมาะสมกับคนไทย โดยผู้ที่ต้องการขึ้นทะเบียนจะต้องแสดงข้อมูลเอกสารหลักฐานเพื่อประเมินคุณสมบัติของวัคซีนทั้ง 3 ด้านดังกล่าวอย. ได้ปรับการทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 อย่างเต็มที่ ด้วยการระดมเพิ่มผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอกมาร่วมพิจารณา เพื่อให้สามารถอนุมัติวัคซีนได้โดยเร็วที่สุด แต่ยังคงไม่สามารถผ่อนคลายกฎเกณฑ์หรือลดหย่อนการกำกับดูแล เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชน
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า “การจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 นี้ ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ภายใต้สถานการณ์ที่มีความต้องการใช้สูงทั่วโลก อีกทั้งวัคซีนที่มีอยู่ เพิ่งเสร็จจากงานวิจัยเข้าสู่กระบวนการผลิตของแต่ละบริษัท ดังนั้นการนำเข้าวัคซีนต้องมั่นใจว่าเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย มีคุณภาพมาตรฐาน และมีประสิทธิผล เนื่องจากวัคซีนที่อย. รับขึ้นทะเบียนเป็นวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ที่จะต้องมีระบบการกำกับติดตาม เฝ้าระวังความปลอดภัยจากการใช้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับวัคซีนโควิด-19ของบริษัทแอสตราเซเนกา ที่ผลิตในประเทศอิตาลี ได้ผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย. แล้วเพื่อใช้ฉีดในภาวะฉุกเฉิน โดยมีระยะเวลาการขึ้นทะเบียน 1 ปี ในระยะแรกบริษัทฯ จะจัดส่งวัคซีน จำนวน 50,000 โดสซึ่งจะถึงประเทศไทยในเดือน ก.พ.นี้ และส่วนที่เหลืออีก 150,000 โดส จะตามมาในเดือน มี.ค. และ เม.ย.