- 11 ส.ค. 2564
นาย"พริษฐ์ วัชรสินธุ" ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu ระบุเนื้อหาดังนี้
นาย"พริษฐ์ วัชรสินธุ" ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu ระบุเนื้อหาดังนี้
[ #ยกเลิก112 : กระดุมเม็ดแรก สู่สังคมที่ประชาธิปไตยและสถาบันพระมหากษัตริย์ อยู่ร่วมกันได้ในโลกยุคใหม่]
1 ปีที่แล้ว (10 สิงหาคม 2563) แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ประกาศ 10 ข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
1 ปี ผ่านมา ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกพูดถึงโดยหลายกลุ่มอย่างกว้างขวางขึ้น
ไม่ว่าจะคิดเห็นอย่างไร ทุกข้อเสนอมีความสำคัญยิ่งต่อโครงสร้างทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอด้านกฎหมาย (เช่น การแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112) ข้อเสนอด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (เช่น การปรับลดงบประมาณรายจ่ายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์) หรือข้อเสนอด้านประเพณีปฏิบัติ (เช่น การบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล)
ไม่ว่าจะถูกเสนอโดยใครหรือด้วยวิธีใด ทุกข้อเสนอมักถูกโจมตีจากบางกลุ่มที่คัดค้านการปฏิรูปสถาบันฯว่าเป็น ‘การล้มล้าง-เปลี่ยนแปลงการปกครอง’ ไปเป็นระบอบสาธารณรัฐ
แต่หากเราวิเคราะห์ตัว “แก่น” หรือใจความสำคัญของข้อเสนอทั้งหมด เราจะสังเกตเห็นว่าข้อเสนอต่างๆ ล้วนเป็นข้อเสนอ ที่ไม่เพียงแต่อยู่ภายในกรอบของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและสอดคล้องกับหลักสากลของหลายประเทศทั่วโลกที่ปกครองด้วยระบอบนี้ แต่ยังเป็นการพยายามยืนยันและยับยั้งไม่ให้ประเทศเราไถลหลุดจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ ราชาธิปไตยที่มีประชาธิปไตยเป็นเพียงไม้ประดับ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การบริหารประเทศภายใต้ระบอบประยุทธ์ทำให้หลายคนเกิดข้อกังขามากขึ้นต่อสถานะ ‘เหนือการเมือง’ และ ‘ใต้รัฐธรรมนูญ’ ที่ควรจะเป็นของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย เพราะการกระทำของระบอบประยุทธ์ที่ตั้งใจลาก หรือ ปล่อยให้สถาบันฯ ไหลเข้ามาในความขัดแย้งทางการเมือง ผ่านการกล่าวอ้างและผูกขาดความจงรักภักดีไว้กับตนเพียงผู้เดียว จนทำให้เกิดคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับคณะรัฐประหาร ผ่านความไม่กล้าหาญของนายกรัฐมนตรีที่จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ เมื่อมีการกระทำใดที่สุ่มเสี่ยงจะขัดกับหลักระบอบประชาธิปไตย หรือผ่านการไม่สามารถชี้แจงอย่างตรงไปตรงมาถึงการตัดสินใจสนับสนุนงบประมาณแก่บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์เพื่อผลิตวัคซีนโควิด จนเกิดข้อครหาเรื่องการเอื้อประโยชน์
1 ปีผ่านมา แม้กลไกนอกระบบจะทำให้เมล็ดพันธุ์ทางความคิดถูกหว่านไปกว้างขวางทั่วประเทศจากความตื่นตัวของภาคประชาชนทั้งบนท้องถนนและในโซเชียลมีเดีย แต่ยังไม่มีต้นใดเติบโตแข็งแรงจนก้าวข้ามหรือทะลุกำแพงของกลไกในระบบ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขกฎหมาย การพิจารณางบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์โดยใช้มาตรฐานเดียวกับการพิจารณางบประมาณของหน่วยงานอื่น ความกล้าหาญของสื่อหลักในการนำเสนอข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมแม้เป็นประเด็นอ่อนไหว
เมื่อผนวกกับที่ฝ่ายอำนาจรัฐมีมุมมองต่อผู้เสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ว่าเป็น “ภัยต่อความมั่นคงของชาติ” ที่ต้องถูกจับกุมดำเนินคดี ก็ยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิม โดยข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า นับตั้งแต่มีการเผยแพร่รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 116 ราย ใน 115 คดี ล่าสุดคือทนายอานนท์ นำภา ที่เมื่อวานนี้ได้เข้ามอบตัวตามหมายจับ กรณีการปราศรัยหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา
การกระทำเช่นนี้ นอกจากสะท้อนว่ารัฐไม่ใจกว้างมากพอจะเปิดใจเจรจารับฟัง ยังต้องการจะบดขยี้ผู้เห็นต่างให้อยู่อย่างยากลำบาก ทำให้หนทางในการเรียกร้องของผู้ชุมนุมหดแคบลงเรื่อยๆ และกำลังบีบให้พวกเขาต้องเลือก ระหว่างการทนอยู่ในระบอบปัจจุบันที่มีปัญหา หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว (ที่มวลชนทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็มี “คำตอบ” อยู่ในใจ)
โจทย์ของวันนี้จึงไม่ต่างจาก 1 ปีที่ผ่านมา คือจะทำอย่างไรให้เรื่องที่ถูกขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นอยู่นอกระบบ มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนจากทุกฟากฝ่ายมาร่วมถกเถียง และถูกผลักเข้าไปพิจารณาเพื่อความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในระบบ โดยไม่ต้องรอให้ “จุดต่ำสุด” เดินทางมาถึงและเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าหรือเกิดความสูญเสีย
แม้จะริบหรี่ลงไปมาก แต่ผมเชื่อว่าสังคมไทยยังพอมีโอกาสตอบโจทย์นี้ให้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม การพูดคุยเรื่องนี้จะทำไม่ได้เลย หากเราไม่ติดกระดุมเม็ดแรกที่สำคัญอย่างการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ขัดหลักสากลถึง 3 มิติ และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากรู้สึก “ไม่ปลอดภัย” ในการพูดคุยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา
มิติที่ 1 = ปัญหาในเชิงการบังคับใช้
มาตรา 112 ไม่ได้วางขอบเขตชัดเจนระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต กับการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย
ในเชิงกฎหมาย การวิจารณ์โดยสุจริตไม่น่าจะเข้าข่ายความผิด เพราะมาตรา 112 เขียนถึงแค่ความผิดจากการที่ “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย..” แต่ในทางปฏิบัติ หลายคนที่แม้จะวิจารณ์โดยสุจริต ก็ยังถูกตัดสินว่าผิด
นอกจากนี้ ความคลุมเครือและความไม่แน่นอนในการบังคับใช้ก็ปรากฎให้เห็นมาโดยตลอด เช่น กรณีการแชร์บทความของสำนักข่าวบีบีซี ซึ่งผู้แชร์ (คุณไผ่ ดาวดิน) ถูกตัดสินว่าผิดมาตรา 112 (ทั้งที่ไม่น่าจะเข้าข่ายหมิ่นประมาท) แต่สำนักข่าวก็ไม่ได้โดนข้อหานี้แต่อย่างใด (ซึ่งถูกต้องแล้วที่ไม่โดนข้อหา และยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าเนื้อหาในบทความไม่น่าจะเข้าข่ายหมิ่นประมาท)
การเพิ่มความชัดเจนตรงนี้ ไม่ควรเป็นเรื่องที่แก้ยาก เพราะการเขียนกฎหมายให้แยกแยะอย่างชัดเจน เป็นสิ่งที่มีตัวอย่างอยู่แล้วในกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ในขณะที่กฎหมายอาญามาตรา 329, 330 ระบุไว้ชัดเจนสำหรับการหมิ่นบุคคลธรรมดา ว่าการ ‘วิจารณ์โดยสุจริต’ หรือการกล่าว ‘ความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน’ เป็นข้อยกเว้นที่ไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท แต่ข้อยกเว้นเหล่านี้กลับไม่ได้ถูกเขียนกำกับกรณีการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ทั้งที่จริงแล้วการเปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตอาจเป็นประโยชน์ต่อสถาบันเองด้วย
มิติที่ 2 = ความหนักของโทษ
มาตรา 112 ของไทยกำหนดโทษจำคุกอยู่ที่ 3-15 ปี ซึ่งถือเป็นโทษที่หนักมาก ไม่ว่าจะเทียบกับมิติไหน
ถ้าเทียบกับกฎหมายอื่นๆ ของไทย จะเห็นว่าโทษของมาตรา 112 เทียบเท่ากับการฆ่าคนโดยไม่เจตนา
ถ้าเทียบกับกฎหมายของไทยในอดีตที่มีลักษณะเดียวกัน โทษของมาตรา 112 ในปัจจุบันหนักกว่าโทษในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่กำหนดโทษไว้ที่จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ 7 ปี (แล้วแต่ช่วงเวลา) เสียอีก
หรือหากเทียบกับกฎหมายลักษณะเดียวกันของประเทศอื่นๆ ที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 112 ของเราก็มีโทษหนักกว่าหลายประเทศ เช่น สเปน 0-2 ปี, เดนมาร์ก 0-8 เดือน, เนเธอร์แลนด์ 0-4 เดือน ส่วนสหราชอาณาจักร นอร์เวย์ และญี่ปุ่น ไม่ได้กำหนดเป็นกฎหมายอาญา แต่เป็นกฎหมายแพ่ง จึงไม่มีโทษจำคุก มีแต่การเรียกร้องค่าเสียหาย
มิติที่ 3 = ใครฟ้องก็ได้
การที่มาตรา 112 อยู่ในหมวดความมั่นคงทำให้เป็นคดีที่ยอมความไม่ได้ ใครๆ จึงสามารถกล่าวโทษและฟ้องคนอื่นได้ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาหลายปัญหาได้
คนบางกลุ่มอาจตัดสินใจฟ้องมาตรา 112 ด้วยเจตนาที่ต้องการปกป้องสถาบันฯ แต่เมื่อจำเลยถูกตัดสินว่าผิด ความคับแค้นใจก็ไปตกอยู่ที่สถาบันฯ ส่งผลให้สถาบันฯ กลายเป็นคู่กรณีโดยอัตโนมัติ แม้ในบางครั้งสถาบันฯ อาจจะไม่รับรู้ก็ตาม
อีกตัวอย่างหนึ่งของปัญหา คือการที่สถาบันฯ ถูกนักการเมืองบางกลุ่มจงใจนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองกลั่นแกล้งฝั่งตรงข้าม หรือการนำสถาบันฯ ไปใช้ปกปิดการทุจริต เช่น การระบุว่าเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ จนทำให้คนไม่กล้าเข้าไปตรวจสอบ
เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ หลายประเทศจึงมีการระบุ ‘ผู้ฟ้อง’ อย่างชัดเจน อาทิ พระมหากษัตริย์ต้องมีพระราชกระแสรับสั่งหรือยินยอมให้ดำเนินคดีผ่านสำนักราชเลขาธิการ (สหราชอาณาจักร นอร์เวย์) การให้อำนาจนายกรัฐมนตรี (ญี่ปุ่น) หรือกระทรวงยุติธรรม (เดนมาร์ก) เป็นคนฟ้องเท่านั้น
จะเห็นได้ว่า การยกเลิกมาตรา 112 ไม่ใช่ข้อเสนอของ “ผู้ไม่หวังดี-คิดล้มล้างเปลี่ยนแปลงการปกครอง” และไม่ใช่เรื่องที่น่าหวั่นวิตก - หากไม่มีมาตรา 112 พระมหากษัตริย์ยังคงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป
ในโลกที่ไม่มีมาตรา 112
1. ประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต สามารถทำได้ ไม่มีความผิด (เช่นเดียวกับข้อยกเว้นในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329-330) แต่หากเป็นการหมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย ก็ยังเอาผิดได้เช่นเดิม
2. ในการฟ้องร้อง จะต้องได้รับการอนุมัติจากพระมหากษัตริย์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในฐานะผู้เสียหาย
3. หากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดทำผิดจริง บุคคลนั้นก็ยังได้รับโทษทางอาญาเช่นเดียวกับการหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป (ซึ่งข้อนี้สามารถถกเถียงกันได้ว่าโทษจำคุก 0-2 ปี ฐานหมิ่นประมาท ณ ปัจจุบัน เป็นระยะเวลาที่สูงไปแล้วหรือไม่ ไม่ว่าสำหรับใครก็ตาม)
หากทั้งหมดนี้ยังไม่ทำให้รู้สึกสบายใจ หรือ กังวลว่าการคุ้มครองพระมหากษัตริย์ยังไม่ครอบคลุม ก็สามารถเพิ่มเติมข้อความต่อจากกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายลักษณะมาตรา 112 ที่อยู่ในหมวดความมั่นคง เช่น ที่ญี่ปุ่น เมื่อกังวลว่าข้อ 2 อาจทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องมาดำเนินการฟ้องร้องประชาชนเอง จึงระบุเพิ่มเติมในกฎหมายหมิ่นประมาทไปว่า หากผู้เสียหายคือพระมหากษัตริย์ นายกฯ (ในฐานะผู้นำรัฐบาล) จะเป็นผู้รับผิดชอบการฟ้องร้อง
การเสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 จะไม่เพียงแต่ทำให้กฎหมายของไทยสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยสากล คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และปกป้องเสถียรภาพ-เกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สง่างาม แต่ยังเป็นหนทางเดียวด้วยซ้ำที่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยได้อย่างยั่งยืน
หาก 1 ปีที่แล้ว การกล่าวถึงประเด็นปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของกลุ่มผู้ชุมนุม ถูกมองว่าเป็นข้อเสนอที่ “ทะลุเพดาน” มาถึงวันนี้ ผมอยากเชิญชวนให้ทุกคนมองว่าการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ควรเป็น “ข้อเสนอพื้นฐาน” ที่สังคมไทยต้องช่วยกันผลักดันให้สำเร็จ ทั้งเพื่อยุติสังคมแห่งความหวาดกลัว เพื่อเป็นหมุดหมายสำคัญของการคลี่คลายวิกฤติการเมือง และเพื่อยืนยันหลักการพื้นฐานที่ว่า การวิจารณ์โดยสุจริต หรือ เผยแพร่ความจริงเพื่อประโยชน์สาธารณะ แม้ไม่ถูกใจผู้ฟังทุกคน แต่กฎหมายต้องคุ้มครองอย่างเท่าเทียม
ป.ล. ผมเคยให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ ใครสนใจอ่านต่อได้ครับ คลิก
#ยกเลิก112