- 10 ก.ย. 2564
"นฤมล ภิญโญสินวัฒน์"อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เคลื่อนไหวเเล้วหลังถูกปลด เผยทำภารกิจสุดท้ายประชุมร่วมกับ"บิ๊กป้อม"
กรณีประกาศราชกิจจานุเบกษา ได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจากตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ เเละปลด นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นเก้าอี้ รมช.แรงงาน ซึ่งภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมายอมรับว่า ตนเอง เป็นคนสั่งปรับ ธรรมนัส-นฤมล พ้นครม. ซึ่งการปรับออกไม่ต้องแจ้งใคร เป็นเหตุผลส่วนตน ให้ประชาชนดูกันเอาเอง ว่า2 รมช.ทำงานเป็นอย่างไร
ความเคลื่อนไหวล่าสุด ในส่วนของ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ได้โพสต์ภาพผ่านเพจของตนเอง ขณะที่เป็นประธานในพิธียกฉัตรพระสังกัจจายน์และพระอุปคุต ณ วัดวชิรธรรมมาวาส โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นในวันที่ 9 กันยายน 2564 เวลา 16.00 น.
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9ก.ย.64 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ได้ทำภารกิจสุดท้ายในหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เพิ่งเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ครั้งที่ 4/2564 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม
ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาและเห็นชอบแผนพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (พ.ศ.2565 – 2570) ขณะนี้มี 2 อุตสาหกรรม จาก 12 อุตสาหกรรมที่จัดทำแผนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ รวมไปถึงแผนปฏิบัติการด้านพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการเพื่อรองรับการประกอบอาชีพ โดยจะได้แต่งตั้งคณะทำงานและรีบดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน ยังได้กำหนดแนวทางการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย โดยอ้างอิงข้อมูลจากหน่วยงาน สมาคม สถานศึกษาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะนำข้อกฎหมายเฉพาะที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว มากำหนดเป็นส่วนหนึ่งในคุณสมบัติของผู้เข้ารับการทดสอบ ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการทดสอบจะได้รับหนังสือรับรองเพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาจ้างงานของนายจ้าง รวมถึงค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน นอกจากนี้ยังสามารถนำไปแสดงเป็นหลักฐานประกอบการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ
พลเอก ประวิตร ยังได้กำชับ กพร. ให้เร่งขับเคลื่อนโครงการ เพื่อให้แรงงานประเภทต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ทั้งผู้ประกันตน ม.33 ที่มีรายได้น้อย กลุ่มแรงงานสูงอายุ และคนพิการที่ไม่มีงานทำ จะต้องได้รับการช่วยเหลือและพัฒนา เพื่อยกระดับฝีมือแรงงาน เป็นการพัฒนาส่งเสริมให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต รวมถึงส่งเสริมการประกอบอาชีพที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล รองรับตลาดแรงงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศได้ต่อไป
ที่มา
เพจ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์