- 18 พ.ย. 2564
แชร์ว่อน ผู้สมัครนายก อบต. เขตพื้นที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา สุดอ่อนน้อมถ่อมตน ก้มกราบชาวบ้าน 3 ครั้ง ขอคะแนนเสียง
อีกไม่กี่อาทิตย์ก็จะถึงวันเลือกตั้งลงคะแนนเสียง เพื่อเสาะหา นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลของแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศแล้ว ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ที่กำลังจะถึงนี้ ดังนั้นเชื่อว่า บรรดา เหล่าผู้สมัคร นายก อบต. และผู้สมัครสมาชิก อบต. จึงได้ลงพื้นที่หาคะแนนเสียงกันอย่างคึกคัก
อย่างล่าสุดในเขตพื้นที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ที่กำลังเป็นที่ฮือฮาและพูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์ เนื่องจากปรากฏภาพ ผู้สมัครแต่ละคนต่างงัดกลยุทธ์ออกหาเสียงตามบ้านเรือนประชาชน แต่ที่มาเหนือจนโซเชียลพากันแชร์สนั่นก็คือภาพก้มกราบชาวบ้าน ซึ่งทางเพจ สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว ได้นำมาโพสต์ลงเฟซบุ๊ก
พร้อมทั้งระบุข้อความว่า "หาเสียง นายก อบต. โค้งสุดท้าย ที่ พิมาย โคราช ครับ … ผู้กองเขียว ร.ต.อ.วีระพงษ์ แดนพิมาย อายุ 61 ปี ผู้สมัคร นายก อบต. ก้มกราบเท้าชาวบ้าน 3 ครั้ง ขอคะแนนเสียง ระบุ จริงใจ อยากรับใช้ปชช. ระหว่างการหาเสียง นายก อบต ตำบลกระเบื้องใหญ่ อำเภอพิมาย จ.นครราชสีมา"
โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้วันที่ 28 พ.ย.2564 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.) ทั้ง 5,300 แห่งทั่วประเทศ กรณีของผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ผู้นั้นจะถูกจำกัดสิทธิ ดังนี้
- สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. /ส.ถ./ผ.ถ. หรือสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว.
- สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
- เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอน ส.ถ.หรือ ผ.ถ.
- ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
- ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริการท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
- ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการ ประธานสภาท้องถิ่น และเลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น
- สำหรับการถูกจำกัดสิทธิ กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง
แต่สามารถการแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่อาจไปใช้สิทธิได้ เนื่องจากมีเหตุอันสมควร ให้แจ้งเหตุต่อนายทะเบียนอำเภอ (นายอำเภอ) ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยทำเป็นหนังสือ ซึ่งต้องระบุเลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้านภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือ ภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง สามารถแจ้งด้วยตัวเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
โดย เหตุจำเป็น ที่ไม่อาจเดินทางไปเลือกตั้ง มีดังนี้
- มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
- เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
- เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
- เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
- มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
- ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง
- มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่ กกต.กำหนด
- กรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แจ้งเหตุไว้แล้ว หากในวันเลือกตั้ง เหตุดังกล่าวได้สิ้นสุดลง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งได้
ภาพจาก เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว