- 26 ม.ค. 2565
เพชรซาอุฯ ย้อนรอยคดีอาถรรพ์ บลูไดมอนด์ กาลเวลา 30 ปีผ่านไป เจ้าชายซาอุดีอาระเบีย ส่งคำเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ หารือข้อราชการ
ถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่ประเทศไทยได้รับคำเชิญ ของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พร้อมคณะจากประเทศไทยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่ สำนักพระราชวังซาอุดีอาระเบีย (Royal Court) พระราชวังอัล ยะมามะฮ์ (Al Yamamah Palace)
ย้อนคดีร้าวฉาน คดี เพชรซาอุฯ ทำ 2 ประเทศแตกหัก
เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อปี 2531 กับผู้ชายต้นเรื่องที่ชื่อ เกรียงไกร เตชะโม่ง หนุ่มเมืองเถิน จ.ลำปาง ที่เรียนจบ ม.3 ก็ยอมกู้เงินมาจ่ายให้นายหน้า 2 หมื่นบาท เพื่อไปขุดทองที่ ซาอุดีอาระเบีย ตามความฝันของนักเสี่ยงโชคในยุคนั้น และทันที่เดินทางไปยังเมืองทะเลทราย นายเกรียงไกร ก็ได้เข้าไปทำงานเป็นคนงานในบริษัทรับเหมารักษาความสะอาดให้พระราชวังของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด อัล ซะอูด
- ประยุทธ์ เข้าเฝ้า เจ้าชายมุฮัมหมัด บิน ซัลมาน ยันพยายามสะสางอย่างที่สุดแล้ว
จนกระทั่งวันหนึ่งใครเลยจะรู้ว่า ประวัติจะได้จารึกชื่อของเขาในฐานะ จอมโจรขโมยเพชรซาอุฯ เนื่องจากในเดือนที่ทะเลทรายร้อนแรงกว่าปกติ เจ้าชายไฟซาล ก็ได้พาครอบครัวเดินทาง ไปตากอากาศ ณ เมืองท่าริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และเวลาเดียวกันนั้นเองบริษัทฯ ที่ นายเกรียงไกรทำอยู่ ได้เข้าทำความสะอาดพระราชวังของเจ้าชายตามวงรอบพอดี
ฉับพลันที่ นายเกรียงไกร ได้เห็นพระราชวังโอ่อ่าซึ่งตั้งอยู่ชานเมืองหลวงบนเนื้อที่กว่า 10 ไร่ ภายในมีอาคารหลายหลัง มีห้องยิบย่อยต่างๆ อีกกว่า 100 ห้อง และมีรั้วสูงกว่า 3 เมตร ล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน แทบทุกห้องประดับประดาด้วย อัญมณีมีค่า แววตาเขาเป็นประกายกับเพชรนิลจินดา สร้อย แหวน นาฬิกา ที่วางเกลื่อนกลาดตามตู้โชว์ โต๊ะแต่งตัว แม้แต่ตู้เซฟก็มีกุญแจเสียบคาไว้ เสมือนสิ่งของไร้ค่า เพราะกฎหมายของที่นี่ ถือว่ารุนแรงมาก โดยเฉพาะคดีลักทรัพย์ ต้องถูกตัดมือสถานเดียว
ทว่ากฎหมายมาตรานี้ไม่อยู่ในสายตาของหนุ่มไทยที่ถูกความโลภครอบงำ นายเกรียงไกร ค่อยๆ ลอบดูลาดเลาพร้อมหาทางหนีทีไล่กับแม่บ้านที่คอยทำหน้าที่เปิด - ปิดประตูวัง เมื่อรอจนคนงานทำความสะอาดของบริษัทกลับออกไปจนหมด เขาตัดสินใจแอบซ่อนตัวเหมือนหนูตัวเล็กๆ ในพระราชวังอันโอ่โถง
เมื่อกวาดทรัพย์สินจำพวกเพชรได้ก็ใส่กระสอบปุ๋ย ได้ 4 กระสอบ แล้วนำไปโยนไว้นอกรั้ววัง แล้วก็เดินหลีกเร้นผ่านสายตาของเจ้าหน้าที่รักษาการณ์เพียงไม่กี่คนไปได้ หลังได้ทรัพย์สินจำนวนมากมาแล้ว เขาก็ขอไปอาศัยชั่วคราวกับเพื่อนแรงงานชาวไทยที่สนิทกันในวงไฮโลเพื่อรอแพ็คใส่กล่องปะปนกับข้าวของเครื่องใช้ส่งพัสดุทางอากาศมายังเมืองไทย เมื่อส่งของเสร็จแล้วเขาก็รีบบึ่งไปยังสนามบินเพื่อหลบหนีกลับบ้านเกิดแทบจะทันที
เมื่อถึงแผ่นดินไทย ณ สนามบินดอนเมือง นายเกรียงไกร จึงตามไปรับของที่เขาส่งมาก่อนหน้านี้ โดยไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ศุลกากรระดับล่างที่ทำหน้าที่ตรวจตรา พร้อมทั้งอ้างว่าภายในกล่องที่ส่งมาเป็นข้าวของเครื่องใช้และเครื่องไม้เครื่องมือที่นำไปทำงานที่ซาอุฯ พร้อมทั้งมอบเงินจำนวนหนึ่งให้เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวเป็นค่าอำนวยความสะดวก
เจ้าหน้าที่คงเห็นว่าเขาเป็นแค่คนบ้านนอก แต่งตัวเหมือนแรงงานทั่วไป ข้างในสัมภาระคงไม่มีอะไรผิดกฎหมาย จึงเปิดดูแต่ด้านบนเพียงผิวเผิน แล้วพยักหน้าอนุญาตให้จอมโจรขโทยเพชรเข้าประเทศพร้อมเครื่องเพชรที่ซุกอยู่ก้นลัง จากนั้นเขาก็รีบออกจากสนามบิน มุ่งตรงกลับ จ.ลำปาง บ้านเกิดทันที
ครั้นถึงบ้านเกิดเขาเริ่มต้นใช้ชีวิตสุรุ่ยสุร่าย ราวมหาเศรษฐีโปรยหว่านเงินที่ได้จากการขายเพชรพลอยที่ขโมยมาไปทั่วเมือง ทั้งแจกญาติพี่น้องเพื่อนฝูง และปรนเปรอสาวๆ จนชื่อเสียงของชายหนุ่มที่ทยอยขนเพชรมาขายเริ่มขจรขจายไปทั่วเมืองเถิน จนดังข้ามภาคไปเข้าหูของ นายสันติ ศรีธนะขันธ์ พ่อค้าเพชรรายใหญ่จากเมืองกรุง และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของ อาถรรพ์เพชรซาอุฯ ที่สร้างความสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน ชื่อเสียง เกียรติยศ ศักดิ์ศรีของชาติ มากมายจนประเมินค่าไม่ได้
ขณะเดียวกัน ณ เวลานั้น บรรยากาศภายในพระราชวังกำลังร้อนรุ่มยิ่งกว่าอากาศตอนกลางวันของที่นั่น เมื่อ เจ้าชายไฟซัล กำลังฉุนเฉียวกับการตามหานาฬิกาเรือนโปรด แต่ยิ่งหากลับยิ่งพบว่าเครื่องประดับสูงค่าหลายร้อนชิ้นต่างหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย เจ้าชายถึงกับโกรธอย่างมาก สั่งการเจ้าหน้าที่ตามล่าหามือมืดเพื่อนำสมบัติกลับคืนมา
ด้าน บริษัททำความสะอาดถูกทางการซาอุฯ เรียกมาสอบสวน ก่อนพุ่งเป้าผู้ต้องสงสัยอันดับหนึ่งมาที่ นายเกรียงไกร เตชะโม่ง ที่หนีออกจากบริษัทโดยไม่บอกกล่าวทั้งๆ ที่ยังเหลือสัญญาจ้างอีก 2 ปี จากนั้น ทางการซาอุฯ ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ฝีมือดีพร้อมทีมทูตชุดใหญ่มาเมืองไทย เพื่อขอความร่วมมือจาก พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น
กระทั่ง พล.ต.ต.ชลอ เกิดเทศ , พล.ต.ต.โสภณ สะวิคามิน และตำรวจน้อยใหญ่ฝีมือดีอีกมากมาย ถูกเรียกตัวมาคลี่คลายคดีตามหาเพชรคืนเจ้าของ ชุดคลี่คลายคดีใช้เวลาไม่นานนักก็ตามรวบ นายเกรียงไกร ได้ขณะกบดานอยู่ในโรงแรมกับหญิงค้าบริการ ริมตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ด้านแม่สอด จากนั้นปฏิบัติการสอบสวน นายเกรียงไกร อย่างหนักเพื่อให้คายข้อมูล
ว่ากันว่าที่ดินทุกตารางนิ้วรอบบ้านของเขาถูกเจ้าหน้าที่ขุดจนพรุนเพื่อค้นหาเพชร ต่อมา นายเกรียงไกร ถูกพามาแถลงข่าวที่เมืองกรุง พร้อมเครื่องเพชร-ทองของล้ำค่า ที่ตามยึดคืนได้ เมื่อเกรียงไกรติดคุก ขบวนการขนของมีค่าคืนเจ้าของก็เริ่มขึ้น แต่เมื่อเจ้าชายนับทรัพย์สินที่สูญหายไปปรากฏว่า ได้ของกลางคืนไม่ครบ และหลายชิ้นยังเป็นของปลอม
แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับ บลูไดมอนด์ เพชรเม็ดใหญ่ประจำราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย ที่ประเมินค่าไม่ได้ กลับไม่อยู่ในของกลางที่ทางการไทยส่งคืนให้ นับแต่นั้นเป็นต้นมา ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศก็ขาดสะบั้นหั่นแหลกจนยากที่จะกลับคืนมาดังเดิมได้อีก
แม้มหากาพย์คดีโจรกรรมสะท้านโลก ผ่านมานานกว่า 30 ปี ทั้งนี้ เจ้าชายไฟซัล เจ้าของเพชรก็ได้สิ้นพระชนม์ไปนานแล้ว อีกทั้งลูก - เมียสันติ พ่อค้าเพชร สังเวยชีวิตจากวิธีการเค้นสอบนอกรีตของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วน นายเกรียงไกร คนต้นเรื่อง รวมถึง พล.ต.ท.ชลอ และทีมงาน ก็ต่างชดใช้เวรกรรมในคุกกันหมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม ส่วนปริศนาใครเอาชีวิตเจ้าหน้าที่ทูตซาอุ ฯ - ใครยังครอบครองเพชรบลูไดมอนด์ ที่ลืออ้างกันว่ามีอาถรรพ์บนคำสาปแช่งอยู่ในนั้นยังคงเป็นประวัติศาสตร์ที่ดำมืดต่อไป กระทั่งผ่านพ้นมา 30 ปี ปริศนาที่ว่า เพชรบลูไดมอนด์อยู่ที่ใครก็ยังไม่สามารถทราบได้ แต่ที่หลายคนเชื่อก็คือ อาถรรพ์เพชรซาอุฯ เป็นคำสาปที่ต้องจับตา
ภาพจาก ไทยคู่ฟ้า