- 10 ส.ค. 2565
เปิดเอกสาร "มีชัย"ไขปม นายกฯประยุทธ์ 8 ปี??? ชี้ชัด "8 ปี นายกฯ" นับย้อนตั้งแต่ดำรงตำแหน่งก่อนปี 60 นายกฯอยู่เกิน8 ปีไม่ได้
เปิดเอกสาร “มีชัย”ชี้ 8 ปีนายกฯนับรวมก่อนปี 60 ชัดเจน"ประยุทธ์"อยู่เกิน 8 ปีไม่ได้ ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2560 โดยเรื่องวาระนายกฯประยุทธ์ ครบ 8 ปีแล้วหรือยัง ยังคงมีประเด็นใหม่เป็นเอกสารบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประชุมเมื่อปี 7 ก.ย.61 เป็นการประชุมครั้งที่ 500 พอดี
ในบันทึกการประชุมสรุปว่ามีการหารือเรื่องการนับวาระนายกฯ ว่าถ้าดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญปี 60 บังคับใช้ ต้องนับรวมด้วยหรือไม่ ปรากฏว่า รองประธาน กรธ. คุณสุพจน์ ไข่มุกด์ และประธาน กรธ. คือ อ.มีชัย ฤชุพันธุ์ บอกว่าต้องนับรวม
เบื้องต้นได้ตรวจสอบกับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งที่มีชื่อในผู้เข้าร่วมประชุมแล้ว (ดูรายชื่อผู้เข้าประชุมตาม เอกสาร 1) ยอมรับว่าเป็นเอกสารจริง / มีการประชุมครั้งที่ 500 จริง / ส่วนการหารือเรื่องนี้ในปี 61 หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ไปแล้ว เพราะเป็นช่วงจัดทำกฎหมายลูก และจัดทำ "เอกสารความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญฯ" หรือที่เรียกว่า "เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ" นั่นเอง
ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องพิรุธที่มีการประชุมเรื่องเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ไปแล้ว
แต่ในเอกสารความมุ่งหมายฯ หรือที่เรียกว่าเจตนารมณ์นั้น ไม่มีข้อความเหมือนในบันทึกการประชุม เพราะในเอกสารความมุ่งหมายฯ หน้า 275 เขียนถึงเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมมนูญ มาตรา 158 เอาไว้แค่นี้เอง
“นอกจากนี้ ได้กำหนดหลักการใหม่เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนับระยะเวลา กล่าวคือ การนับระยะเวลาแปดปีนั้น แม้บุคคลดังกล่าวจะมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลดังกล่าวแล้วเกินแปดปี ก็ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่าการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีในระหว่างรักษาการภายหลังจากพ้นจากตำแหน่ง จะไม่นับรวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว การกำหนดระยะเวลาแปดปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤติทางการเมืองได้”
ข้อส้งเกตในเรื่องนี้ก็คือ...
1.บันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่
2.การแสดงความเห็นในที่ประชุมของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ถือเป็นมติของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ หากบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีน้ำหนักในแง่ของการเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในมาตรา 158 เพราะผู้แสดงความเห็นก็เป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นมือกฎหมายชั้นเซียน และอีกคน (คุณสุพจน์) ก็เคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาก่อน
หากเป็นเช่นนั้นก็จะเท่ากับวาระการดำรงตำแหน่งของนายกฯประยุทธ์ จะครบในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ แต่คนที่วินิจฉัยเรื่องนี้ในขั้นตอนสุดท้ายคือศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งฝ่ายค้านจะยื่นคำร้องในวันที่ 17 ส.ค.65
จากการพูดคุยกับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญท่านหนึ่ง ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ข้อความที่ไฮไลท์สีเขียว เป็นแค่บันทึกการประชุมที่มีการหยิบยกขึ้นมาพูด แต่ไม่ได้นำมาเป็นประเด็นในการลงมติว่าเป็นความมุ่งหมายฯ หรือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อเทียบกับเอกสารบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 ฉบับเดียวกัน ในส่วนของบทสรุปและมติของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จะพบว่าในมติ ไม่มีประเด็นตามความเห็นของ อ.มีชัย และ คุณสุพจน์
มีข้อสังเกตเพิ่มเติมจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญท่านนี้ว่า การพิจารณาวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญ มักจะไม่นำความคิดเห็นที่เสนอหรือถกเถียงกันในที่ประชุมมาใช้ประกอบการพิจารณา และหลายๆ ครั้งศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ยึดเอาบันทึกการประชุม เจตนารมณ์ หรือความมุ่งหมายฯ มาใช้ในการพิจารณาเลยด้วยซ้ำ หากเนื้อหาตามสารบัญญัติชัดเจนอยู่แล้ว
แต่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญท่านนี้ และที่ปรึกษา กรธ.ที่ไม่ได้เข้าประชุม บอกตรงกันว่า เมื่อมีเอกสารนี้เผยแพร่สู่สาธารณะ พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมเหนื่อยยิ่งขึ้น และศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยยากขึ้น หากจะฟันธงว่า วาระการดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ครบ 8 ปี
ด้านนายสุพจน์ ไข่มุกต์ อดีตรองประธานกรรมการร่างรธน.เปิดเผยผ่านรายการ เจาะลึกทั่วไทย ดำเนินรายการโดย ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ ถึงประเด็นบันทึกรายงานการประชุม ที่มีการแสดงความเห็น วาระดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ในครั้งนั้นว่า ข่าวที่ออกเป็นบันทึกประชุม ความเห็นของตนเองและนายมีชัย ฤชุพันธ์ เเต่ไม่มีมติกรธ. บันทึกฉบับเต็มเปิดเผยหาได้ตามห้องสมุด
"ครั้งนั้นเป็นการแสดงความเห็นในมุมมองของผม อย่างไรก็ตามอาย68ปีนายก นับเเต่ รธน.2560 ประกาศใช้ เเต่สุดท้ายรอศาลรธน.วินิจฉัย"
ด้าน นิด้าโพล ได้สำรวจความคิดเห็น เรื่อง 8 ปี นายกรัฐมนตรีกับอนาคตทางการเมืองของ 3 ป. ระหว่างวันที่ 2-4 สิงหาคม 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ จำนวน 1,312 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 8 ปี กับอนาคตทางการเมืองของ 3 ป. ซึ่งจากโพลก็เห็นได้ว่า ประชาชนชาวไทยเห็นตรงกันว่า 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เเละ อนาคตทางการเมืองของ3 ป. ควรสิ้นสุดลงได้เเล้ว
โดยในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 จะเป็นวันชี้ชะตาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งสุดท้ายเเล้วก็จะไปจบที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
cr.bangkokbiznews
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม thainewsonline