- 26 ธ.ค. 2565
แสบถึงทรวง ฉายารัฐบาล - รัฐมนตรี ปี 2565 ทายเล่นๆ ใครเอ่ย แปดเปื้อน - ลองนายกฯ - เครื่องจักรซักล้าง เด็ดสุดประกันไรได้
ฉายารัฐบาล - รัฐมนตรี ปี 2565 ทายเล่นๆ ใครเอ่ย แปดเปื้อน เด็ดสุดประกันไรได้ ใกล้จะสิ้นปีเก่า 2565 แน่นอนว่าอีกหนึ่งสีสันของคนไทยคือ รอลุ้นฉายารัฐบาลชุดนี้ ซึ่งล่าสุด มีรายงานว่า การตั้งฉายารัฐบาล และ รัฐมนตรีประจำปี ของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ที่ยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน เป็นการสะท้อนความคิดเห็นของสื่อมวลชนต่อการทำงานของรัฐบาล โดยปราศจากอคติ ได้มีมติร่วมกันตั้งฉายารัฐบาล รัฐมนตรี และ วาทะแห่งปี ประจำปี 2565 ดังนี้
ฉายารัฐบาล : "หน้ากากคนดี"
เป็นอีกหนึ่งปี ที่ทุกคนยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะเดียวกัน ภายใต้หน้ากากของรัฐบาล ที่สร้างภาพจำตลอดเวลาว่าเป็นคนดี นโยบายทุกอย่างทำเพื่อบ้านเมือง และประชาชน แต่กลับเกิดข้อกังขาว่ายังเดินตามเจตนารมณ์ที่ประกาศไว้ได้หรือไม่ เช่น
นโยบายกัญชา ที่อวดอ้างทำเพื่อประชาชน แต่เมื่อเกิดผลกระทบจากการใช้ผิดวัตถุประสงค์ กลายปัญหาสังคมบานปลาย แม้แต่การออกกฎหมายควบคุมการใช้ยังทำไม่ได้ สุดท้ายผลักภาระเพิ่มให้ตำรวจ เพียงเพราะต้องการเช็คลิสต์ตามนโยบายที่หาเสียงไว้ นโยบายประชานิยมที่ออกแนวหาเสียง ให้ทั้งเบ็ด ทั้งปลา
หรือ การประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็มีความคลุมเครือ ว่าประโยชน์ที่ได้นั้น เป็นของประชาชนหรือนักการเมืองกันแน่ แต่ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของพรรคการเมืองใด เมื่อออกมาในนามรัฐบาล ประชาชนจึงเกิดความเคลือบแคลงสงสัย ว่าภายใต้หน้ากากที่ประกาศเป็นคนดีนั้น จริงหรือไม่?
- ฉายารัฐมนตรี 2565
1. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม : "แปดเปื้อน"
ปมวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี สั่นคลอนภาพลักษณ์ของพลเอกประยุทธ์ ตลอดปีที่ผ่านมา และกลายเป็นข้อครหา ถึงความชอบธรรมในการครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อเนื่องยาวนาน พลเอกประยุทธ์ ถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย ที่ศาลมีคำสั่ง ให้หยุดปฎิบัติหน้าที่
แม้จะเพียงแค่ 38 วัน ก็ทำให้สังคมเคลือบแคลงสงสัยในตัวของ พล.อ. ประยุทธ์ ที่มักจะพูดเสมอว่าไม่ยึดติดอำนาจ ทุกอย่างทำเพื่อบ้านเมือง และประชาชน ไม่เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง ยิ่งเมื่อปัญหาใต้พรมถูกขุดคุ้ยขึ้น ใกล้ตัวเกินกว่าจะปัดความเกี่ยวโยงได้ ทั้งนโยบายประชานิยม ทุนสีเทาสนับสนุนพรรคการเมือง หรือ แม้แต่นักการเมืองใกล้ตัว นายทหารใกล้ชิด ที่ได้ไปนั่งอยู่ในบอร์ดบริหารบริษัทพลังงาน แม้พิสูจน์กันทางกฎหมายไม่ได้ แต่ก็ทำให้ถูกมองว่า ไม่ได้ใสสะอาด ผุดผ่องอีกต่อไป
2. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี : "ลองนายกฯ"
แม้จะเป็นเวลาเพียง 38 วัน ที่ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่พลเอกประวิตรก็ได้ทำอย่างสุดกำลัง ถึงแม้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่ได้ลองเป็นนายกฯ หลายครั้งที่ตัวจริงอย่างพลเอก ประยุทธ์ ต้องไปปฏิบัติภารกิจต่างประเทศ พี่ใหญ่ในกลุ่ม 3 ป. ในฐานะ สร.2 ก็ทำหน้าที่แทนมาตลอด แต่อาจไม่ยาวนานเช่นครั้งนี้ ซึ่งมีอำนาจเต็ม(ในขณะนั้น) หากจะยุบสภาฯ ก็สามารถทำได้
บรรดากองหนุนและกองเชียร์ ปั่นกระแสจนเคลิ้ม ถึงกับประกาศใช้ "ใจบรรดาลแรง" ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ลุยงานรัวๆ ทำเอากองเชียร์นายกฯ ตัวจริง ร้อนๆ หนาวๆ แต่สุดท้ายก็ได้แค่ "ลอง" เท่านั้น
3. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี : "เครื่องจักรซักล้าง"
ความเอกอุด้านกฎหมายระดับปรมาจารย์ในตำนาน ถูกใช้สนองตอบความต้องการของรัฐบาลทุกช่องทาง ทั้งพรรคหลักพรรคร่วม ไม่มีเลือกปฏิบัติ ช่วยยกภูเขาออกจากอก ลดปัญหาหนักใจ ทำหน้าที่เหมือนเครื่องจักรกล คอยซักล้างความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลให้ผ่านพ้น เรื่องไหนผ่านมือเนติบริกรคนนี้ อย่าหวังว่าจะมีใครโต้แย้งได้ เช่น ปม 8 ปีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือ แม้แต่เรื่องเหมืองทองอัครา
4. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข : "ภูมิใจดูด พูดแล้วดอย"
"พูดแล้วทำ"คือ สโกแกนพรรคภูมิใจไทย แต่ทำแล้วสำเร็จหรือไม่เป็นอีกเรื่อง แม้จะปลดล็อกกัญชาจากการเป็นยาเสพติด แต่กฎหมายควบคุมกลับค้างเติ่งติดดอย ไปต่อไม่ได้ เกิดเป็นปัญหาสังคมบานปลาย เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงกัญชาได้อย่างง่ายดาย เมื่อจวนตัวกลับโยนให้เป็นภาระของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติ หัวจะปวดกันทั้งประเทศ
ขณะที่ บทบาทพรรคร่วมรัฐบาล ถือได้ว่าเป็นเด็กดีมาโดยตลอด แต่เมื่อเสียงปี่กลองเลือกตั้งดังขึ้น กลับสวมบทไดโวโชว์พลังดูด ส.ส. นักการเมือง ทั้งจากพวกเดียวกัน และต่างขั้ว ชนิดไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม โดดเด่นไม่แพ้การนำเสนอนโยบายกัญชา
5.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ : "ประกันไรได้"
"ประกันรายได้" เป็นนโยบายหาเสียงหลักของพรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ในฐานะหัวหน้าพรรค แถมยังนั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีและกระทรวงค้าขาย ก็จัดหนักนโยบายนี้ จนแทบไม่โฟกัสงานอื่น ข้าวของขึ้นราคาไม่หยุด แต่สินค้าเกษตรกลับต้องทุ่มเงินไปประกันอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดคำถามกับการแก้ปัญหาของรัฐบาลด้วยวิธีประกันรายได้ ว่าถูกทางจริงหรือ? ที่ว่าประกันนั้น 'ประกันไรได้บ้าง'
6. นายดอน ปรมัติวินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ : "ลุ่มๆ ดอนๆ"
APEC ถือเป็นงานใหญ่งานหนึ่งในรอบ 20 ปีของไทย ที่มาพร้อมโอกาสทางเศรษฐกิจหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 นโยบายเปิดประเทศจึงเป็นความหวังของทุกคน ที่จะทำให้ประเทศพ้นกับดักต่างๆ แต่บทบาทในฐานะรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง กลับไม่สามารถสร้างการรับรู้ หรือ ดึงดูดความสนใจของคนในประเทศได้เท่าที่ควร
การเป็นเจ้าภาพ APEC จึงเหมือนรับรู้กันเฉพาะในวงที่เกี่ยวข้อง ไม่ต้องพูดถึงความสนใจจากทั่วโลกที่ดูน้อยมาก จนเกิดการเปรียบเทียบกับรัฐบาลในอดีตที่เคยเป็นเจ้าภาพจัดงานสำคัญ ล้มเหลวตั้งแต่ระบบลงทะเบียน ลามไปจนถึงกิจกรรมประชาสัมพันธ์โหมโรง ที่ไม่ลุกโชนตามความตั้งใจ แม้แต่ธงโบกสะบัดยังปักเป็นหย่อมๆ ก่อนงานเพียงไม่กี่วัน และ มีเสียงเล่าลือกันหนาหู ว่าการทำงานในกระทรวงร่วมกับข้าราชการ ก็ลุ่มๆ ดอนๆ ไม่เปิดกว้างรับฟัง เกิดเป็นภาพการทำงานที่ล่าช้า ตกยุค ไม่ทันสมัย
7.นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน : "Powerblank"
วิกฤตพลังงาน เป็นปัญหาที่หนักหนาสาหัสสำหรับคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก หลายมาตรการที่เข็นออกมาไม่ขาดสาย นอกจากชักเนื้อรัฐบาลมาอุดหนุน ก็ยังไม่เห็นว่ามีสิ่งไหนทำได้จริง ยิ่งการล้วงเงินจากกระเป๋าเอกชนอย่างโรงกลั่นน้ำมัน โครมครามอยู่พักใหญ่ แล้วก็หายไปกับสายลม เหมือนการขายที่ดินให้ต่างชาติแลกเงินลงทุน เกิดกระแสตีกลับระเนระนาด ถอยตั้งหลักแทบไม่ทัน จึงเกิดข้อสงสัยกันว่า เป็นรัฐมนตรีพลังงาน หรือ รัฐมนตรีไม่มีพลังงานกันแน่
8. พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย : "หน้าชัด หลังเบลอ"
ในบรรดาพี่น้อง 3 ป. พลเอก อนุพงษ์ สามารถควบคุมภาพลักษณ์ ที่แสดงออกต่อสาธารณชนได้สงบนิ่งที่สุด แม้สื่อมวลชนจะได้สัมผัสความหลากของอารมณ์ขึ้นลง ไม่ต่างจากพี่น้องอีก 2 ป.ก็ตาม เบื้องหน้าเราจะได้รับรู้และเห็นเฉพาะในสิ่งที่ต้องการให้เห็นเท่านั้น แต่ฉากหลังกลับคลุมเครือไม่ชัดเจน เรียกได้ว่า เก็บมิด ปิดเงียบ ถ้าไม่ได้เห็นคะแนนไว้วางใจที่มาเป็นอันดับโหล่ ก็ไม่มีทางรู้เลยว่า เกมเขย่าเก้าอี้ มท.1 ไต่ระดับทะลุ 10 ริกเตอร์ไปแล้ว
9. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน : "รมต.แรงลิ้น"
ยังคงคอนเซ็บต์ ปากหวานไม่สร่าง ขยันอวย พลเอก ประยุทธ์ ขั้นสุดในทุกด้าน เอ่ยปากแต่ละครั้งก็แรงจัดชัดเจน ต้นปีเปิดศึกแตกหักบ้านใหญ่เมืองชล จนเกิดวิวาทะ “ทรยศ หักหลัง” สนั่นออนไลน์ ปลายปีตีจาก “บิ๊กป้อม” คนที่ออกปากเองว่ารักเหมือนพ่อ พร้อมข้อครหาหอบส.ส. ตาม “บิ๊กตู่” ที่ปากบอกว่ารักเหมือนแม่ ไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ ลิ้นมหาเสน่ห์วาดวิมานในทุ่งลาเวนเดอร์ จะขนพลพรรค มาเป็นฐานดัน "บิ๊กตู่" สู่เก้าอี้นายกฯอีกสมัย แว่วว่าเจ้าที่บ้านหลังใหม่แรงไม่แพ้ใคร เกิดอาการลิ้นคับปาก คับที่อยู่ยาก คับใจก็ต้องทนอยู่
10.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม : "วันทอง 2 ป."
ด้วยรักและเคารพพี่น้อง 2 ป. ทั้ง "พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร" ไปไหนไปกัน ตามติดแทบทุกภารกิจ ครั้นมาถึงทางแยก ต้องเลือกว่าจะอยู่ไหม หรือไปต่อกับใคร จึงเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจ เหตุการณ์ที่ทำเอานักข่าวลืมไม่ลง นั่นคือ วันที่ 2 ป.มีภารกิจชนกัน แม้แยกร่างไม่ได้ แต่มีวิชาแยกเงา เช้าบึ่งรถไปส่ง พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นเครื่อง ก่อนส่งทีมงานตามติดไปแทน บ่ายรีบบึ่งรถรีบไปเดินตาม พล.อ.ประวิตร ทำภารกิจลงพื้นที่ เรียกได้ว่าไม่มีขาดตกบกพร่อง เปรียบเสมือนกับนางในวรรณคดีอย่าง "วันทอง" ที่รักขุนแผนแต่แพ้ความดีขุนช้าง ยากจะตัดสินใจว่าจะไปต่อกับใครดี
'วาทะแห่งปี' : "เกลียดหรือไม่เกลียดก็ช่างคุณเถอะ เพราะผมไม่รู้"
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 65 ที่สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ในหัวข้อ บทบาทของภาครัฐ เอกชน และการเมือง ในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline