คณะกรรมการไต่สวน ชงยกคำร้อง พิธา เหตุไม่พบไอทีวีประกอบกิจการ-มีรายได้สื่อ

คณะกรรมการไต่สวน ชงยกคำร้อง" พิธา" เหตุไม่พบไอทีวีประกอบกิจการอยู่-มีรายได้จากสื่อ ในช่วงที่สมัคร สส. แต่ยังต้องลุ้นอนุฯวินิจฉัยสอบเพิ่ม

วันที่ 14 ส.ค. 2566 จากกรณี นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการ​การเลือกตั้ง​ (กกต.)​ ระบุเมื่อเร็วๆนี้ว่าสำนวนการสอบสวน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กรณีรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติ​ประกอบ​รัฐธรรมนูญ​ (พ.ร.ป.)​ ว่าด้วยการเลือกตั้งสส.มาตรา 151 เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งสส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6)เพราะเหตุมีชื่อถือครองหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด มหาชน จำนวน 42,000 หุ้น ได้ถูกส่งมายังชั้นสำนักงาน กกต.นั้น

 

คณะกรรมการไต่สวน ชงยกคำร้อง พิธา เหตุไม่พบไอทีวีประกอบกิจการ-มีรายได้สื่อ

มีรายงานว่า ผลสอบจากคณะกรรมการไต่สวน ได้เสนอความเห็นว่าเห็นควรให้ “ยกคำร้อง” ด้วยเหตุผลว่า การดำเนินการตามมาตรา 151 เป็นคดีอาญาที่ต้องมีพยานหลักฐานชัดเจน แต่ขณะเปิดสมัครรับเลือกตั้ง สส. วันที่ 4-7 เม.ย. ไม่พบว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) มีการประกอบกิจการอยู่และมีรายได้จากการเป็นสื่อแต่อย่างใด


ทั้งนี้คณะกรรมการไต่สวน ได้สรุปสำนวนและเสนอไปยังเลขาธิการกกต. ซึ่งได้มอบรองเลขาธิการกกต. ให้ดำเนินการจ่ายสำนวนดังกล่าวให้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยคำร้องพิจารณา ตามที่ระเบียบกกต. ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวนและการวินิจฉัยชี้ขาด 2563 กำหนด ก่อนจะเสนอให้ กกต.วินิจฉัย


อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเรื่องร้องเรียน ร้องคัดค้านของคณะอนุวินิจฉัยหลายกรณี เมื่อสอบสวนแล้วไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการไต่สวน โดยเมื่อคณะอนุวินิจฉัยได้รับสำนวนหากเห็นว่ามีประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน มีข้อสงสัยก็จะดำเนินสอบสวนเพิ่มเติม รวมทั้งการเรียกผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจง ซึ่งในกรณีคาดว่า คณะอนุวินิจฉัยฯจะมีการสอบสวนเพิ่มเติม และแจ้งให้ นายพิธา ได้มาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะรอคำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณี กกต. ยื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ขอให้วินิจฉัยสถานะ สส. นายพิธา จากเหตุเดียวกัน ก่อนที่จะสรุปสำนวนพร้อมความเห็นเสนอ กกต. พิจารณา เช่นที่เคยดำเนินการกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เมื่อครั้งถือหุ้นสื่อ บริษัทวีลัค มีเดีย จำกัด

 

คณะกรรมการไต่สวน ชงยกคำร้อง พิธา เหตุไม่พบไอทีวีประกอบกิจการ-มีรายได้สื่อ

สำหรับการดำเนินการตามมาตรา 151 นั้นหากที่สุด กกต.มีมติเห็นว่า ผู้สมัครรายนั้นรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งแต่ยังคงลงสมัคร ก็จะให้ทางเจ้าหน้าที่สำนักงาน ไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนเมื่อดำเนินการสอบสวนแล้วเสร็จก็จะส่งเรื่องให้กับอัยการเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ซึ่งที่ผ่านมาในกรณีของนายธนาธร แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่านายธนาธรมีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 แต่เมื่อกกต.ดำเนินคดีอาญาอัยการกลับมีคำสั่งไม่ฟ้อง


โดยมาตรา 151 นั้น กำหนดไว้ว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอม ให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อ เพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี