- 06 ก.ย. 2566
เปิดคำแถลงนโยบายรัฐบาล "เศรษฐา ทวีสิน" ต่อรัฐสภา 11 ก.ย. นี้ วางกรอบนโยบายบริหารและพัฒนาประเทศ เร่งด่วน ระยะสั้น กระตุ้นเศรษฐกิจ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดเหลื่อมล้ำ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้ประชาชน
หลังจากที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2566 ก่อนปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ โดยไทม์ไลน์หลังจากนี้ นายเศรษฐา จะได้เรียกประชุมครม.นัดพิเศษ ในวันที่ 6 ก.ย. 2566 เพื่อซักซ้อมความเข้าใจก่อน "แถลงนโยบายรัฐบาล" ต่อที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 11 ก.ย. 2566
โดยมีสาระสำคัญ ในการวางกรอบนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศ ตามกรอบความเร่งด่วน ได้แก่
กรอบระยะสั้น รัฐบาลมีความจําเป็นที่จะต้องกระตุ้นการใช้จ่าย จุดประกายให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง ประกอบกับการเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของประชาชนอย่างเร่งด่วน และรวดเร็ว
กรอบระยะกลาง และระยะยาว รัฐบาลจะเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชน ผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้กับประชาชนทุกคน
อย่างไรก็ตาม มีนโยบายเร่งด่วน 4 เรื่องสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้
นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่ระบุว่า "จะทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศตื่นขึ้นมาอีกครั้ง" เราจะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้จ่ายใช้สอยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพและเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกหลายรอบ รัฐบาลเองจะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี
นอกจากนี้คำแถลงยังระบุถึงการแก้ไขปัญหา หนี้สินทั้งภาคเกษตร ภาคธุรกิจและภาคประชาชน ซึ่งระบุว่า นโยบายเร่งด่วน คือการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนอันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจ รัฐบาลจะสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในทันที
นโยบายเร่งด่วนหน้าที่ 6 ระบุถึงการดำเนินการ "แก้ไขรัฐธรรมนูญ" ฉบับประชาชนมีส่วนร่วมออกแบบ โดยไม่แก้ไขหมวด พระมหากษัตริย์
และตอนท้ายมีการระบุว่า จะดำเนินการฟื้นฟู "หลักนิติธรรม" ที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ถือว่าเป็นการลงทุนที่ใช้งบน้อยที่สุด แต่สร้างประสิทธิภาพสูงสุดในการพัฒนาประเทศหลายๆด้าน
อ่านรายละเอียดเอกสารฉบับเต็มที่นี่