- 23 ส.ค. 2560
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tnew.co.th
ล่าสุด Thaioil แจงราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มหลังสถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) ประกาศปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดสัปดาห์ ณ วันทื่ 18 ส.ค. ปรับลดลง 3.6 ล้านบาร์เรลมาปิดที่ 465.6 ล้านบาร์เรลแตะระดับต่ำสุดในรอบ 8 สัปดาห์ การปรับลดลงใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าไว้ที่ระดับ 3.5 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮม่า ปรับลดลงในระดับที่น้อยกว่าหรือราว 462,000 บาร์เรล สาเหตุหลักมากจากการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงราว 81,000 บารเรล มาอยู่ที่ระดับ 7.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- แม้ว่าโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ จะลดการดำเนินการผลิตลงราว 73,000 บาร์เรลต่อวัน แต่ปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังสหรัฐฯ กลับปรับเพิ่มรวม 3.4 ล้านบาร์เรล แสดงถึงความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปของสหรัฐฯ ที่อ่อนตัวลง
- อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นไปมากนัก เนื่องจากแหล่งน้ำมันดิบ El Sharara ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศลิเบีย เริ่มกลับมาเปิดดำเนินการท่อขนส่งน้ำมันดิบที่มีกำลังการผลิต 280,000 บาร์เรลต่อวัน อีกหลังประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) จากการถูกกลุ่มผู้ก่อการร้ายปิดล้อมตั้งแต่วัน 20 ส.ค. ที่ผ่านมา
ผู้ค้าน้ำมันดิบและน้ำมันเบนซินมีความกังวลเกี่ยวสภาพอากาศที่แปรปรวนจากพายุฤดูร้อน Harvey บริเวณอ่าวเม็กซิโก ที่มีโอกาสพัฒนาเป็นพายุเฮอร์ริเคนในช่วงปลายสัปดาห์และส่งผลให้เกิดดินถล่มในแถบชายฝั่งเท็กซัส ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขุดเจาะน้ำมันดิบและโรงกลั่นน้ำมันตลอดชายฝั่ง
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังตลาดน้ำมันเบนซินฝั่งสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม อุปทานในภูมิภาคยังค่อนข้างตึงตัว จากการปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉิน
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังความต้องการในภูมิภาคค่อนข้างเบาบาง เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูมรสุม ประกอบกับอุปทานส่วนเกินจากตะวันออกกลางและอินเดียยังคงกดดันตลาด
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 8 ติดต่อกัน หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ คงกำลังการกลั่นอยู่ในระดับสูงสุดต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันในประเทศและภูมิภาค รวมถึงการนำเข้าน้ำมันดิบที่คาดจะปรับลดลง
- ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนต่อเนื่องจากผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่พยายามเพิ่มความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประกาศลดการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ก.ย.60 ลง ในขณะที่อิรัก ปริมาณการส่งออกในเดือน ส.ค. มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยจากข้อมูลของ Reuters พบว่าปริมาณการส่งออก 14 วันของเดือน ส.ค. ปรับลดลง 80,000 บาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ระดับ 3.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน แสดงให้เห็นว่าอิรักมีแนวโน้มทำได้ตามข้อตกลงมากขึ้น
- จับตาปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียที่เพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มกลับมาส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบ โดยล่าสุดไนจีเรียคาดปริมาณการผลิตและส่งออกจะเพิ่มขึ้น หลังมีการประกาศยกเลิกเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) สำหรับการส่งออกน้ำมันดิบ Bonny Light กำลังการผลิต 200,000 บาร์เรลต่อวัน ในสัปดาห์ที่ผ่านมา