- 23 พ.ย. 2560
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 เวลา 11.00 น. ณ โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพมหานคร พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้เกียรติเสวนาพิเศษ เรื่อง แนวทางการจัดการขยะมูลฝอย ร่วมกับนายกิตติ เกียรติมนตรี รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง โดยมี นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง นายณรงค์ สืบตระกูล รองอธิบดีกรมที่ดิน และนายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เข้าร่วมฟังการเสวนา
พลเอกอนุพงษ์ กล่าวว่า จากแนวโน้มปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกือบทุกแห่ง ประสบปัญหาปริมาณขยะมูลฝอยที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้ต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในการเก็บ ขน และกำจัด ประกอบกับข้อเท็จจริงในทางกายภาพ ว่าพื้นที่ซึ่งมีความเหมาะสมสำหรับการกำจัดขยะมูลฝอยเริ่มมีจำนวนน้อยลงและจัดสรรเพิ่มเติมได้ยากจากการที่มักถูกประชาชนต่อต้านหากสถานที่กำจัดขยะอยู่ในแหล่งชุมชนของตน ตลอดจนพื้นที่ฝังกลบที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่มีการฝังกลบที่ไม่ถูกหลักสุขาภิบาล การริเริ่มโครงการที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณและโครงสร้างองค์กรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้น การรวมกลุ่มพื้นที่ (Clusters) ในการจัดการขยะมูลฝอยร่วมกันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงเป็นประโยชน์มากกว่า เนื่องจากสามารถควบคุมได้ทั้งงบประมาณและมลพิษที่เกิดขึ้นจากการกำจัดขยะมูลฝอย ตลอดจนนำไปสู่วิธีการกำจัดที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้การกำจัดขยะมูลฝอยมีประสิทธิภาพ สามารถกำจัดได้โดยเร็ว และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บ ขน และกำจัดขยะมูลฝอย เพื่อให้สามารถนำงบประมาณดังกล่าวไปให้บริการสาธารณะด้านอื่นให้แก่ประชาชน
ซึ่งการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นจะประสบความสําเร็จและพัฒนาไปสู่ระบบจัดการ และการกำจัดมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติได้นั้น ต้องเริ่มจากการลดปริมาณ และคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในพื้นที่ ตั้งแต่ประชาชน ครัวเรือน บ้านพักอาศัย สถานประกอบการ หน่วยงานราชการ วัด ศาสนสถาน รวมถึงพื้นที่ทางการเกษตร ตลาดสด ร้านค้า และห้างสรรพสินค้า ซึ่งก็ต้องขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะที่กำกับและดูแลในพื้นที่ ต้องเป็นผู้แทนของส่วนกลางในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรม และกำหนดมาตรการในการการลดปริมาณและคัดแยกขยะมูลฝอย โดยให้เริ่มตั้งแต่สถานที่ราชการในพื้นที่ ที่ทุกแห่ง ต้องจัดให้มีการลดปริมาณขยะและคัดแยกขยะเพื่อเป็นต้นแบบให้แก่ประชาชนผู้มาติดต่อราชการ และให้ขยายผลการดำเนินการไปยังประชาชนในพื้นที่ในการลดปริมาณขยะและคัดแยกขยะที่ต้นทาง และพื้นที่นอกบ้าน เช่น ถนน ทางสาธารณะสถานที่สาธารณะ โดยเน้นการใช้หลักการ 3 ช คือ ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ 3Rs : Reduce Reuse Recycle ในการลดปริมาณขยะ และการคัดแยกขยะตามประเภท ได้แก่ ขยะมูลฝอยทั่วไป ขยะอินทรีย์หรือขยะเศษอาหาร ขยะมูลฝอยนำกลับมาใช้ใหม่ และขยะมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน นอกจากนี้ ก็ต้องให้มีการสนับสนุนการจัดตั้งภาคีเครือข่ายความร่วมมือในพื้นที่จากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ศาสนสถาน บ้านพัก โรงเรียน ชุมชนและหมู่บ้าน เพื่อร่วมกันรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง และประสานขอความร่วมมือกับภาคเอกชน ได้แก่ ผู้ประกอบการ ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ในพื้นที่ ให้มีการคัดแยกขยะมูลฝอย สำหรับผู้ประกอบการหรือห้างสรรพสินค้าอาจขอให้ลดการใช้ถุงพลาสติก และส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่นำถุงผ้ามาใช้ในการซื้อสินค้าหรือบริการ ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ต้องช่วยกันตรวจตราและสอดส่องไม่ให้มีขยะเกิดขึ้นริมถนน ทั้งถนนสายหลักและถนนสายรอง ตลอดจนสถานที่สาธารณะในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อรักษาความสะอาดและสร้างภาพลักษณ์ของจังหวัดให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว
พลเอกอนุพงษ์ ได้เน้นย้ำในเรื่องการสร้างจิตสำนึก ให้สังคมตระหนักรู้ถึงหลักการ 3Rs หรือ 3ช (ใช้น้อย - Reduce /ใช้ซ้ำ -Reuse / นำกลับมาใช้ใหม่ - Recycle) ต้องร่วมกันคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งนั่นคือ พี่น้องประชาชนที่ต้องช่วยกัน โดยให้ผู้บริหารท้องถิ่นและท้องที่ เป็นแกนนำหลักในการสร้างจิตสำนึก และสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน ว่าคนทำต้องรับผิดชอบ ขยะเกิดที่ใด ต้องหาทางกำจัดที่นั่น ตามหลักการ ใครก่อขยะ เป็นภาระของคนนั้น ซึ่งหากทุกคนช่วยกันพัฒนาและต่อยอดพัฒนาให้ดีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ก็จะสามารถเป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนอื่นๆต่อไปได้ และทางด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้บอกว่า จะดำเนินการขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 7,851แห่ง ให้ร่วมกันสร้างปรากฏการณ์ Change for Good เปลี่ยนเพื่อโลกที่ดีกว่า ในวันที่ 1 มกราคม 2561 เพื่อขอให้คนไทยทุกคนช่วยกันมอบของขวัญปีใหม่คืนให้แก่แผ่นดิน ซึ่งผมได้เตือนแล้วว่าให้เริ่มเมษายน ท่านอธิบดีสุทธิพงษ์ก็ไม่ยอม ยืนยันขอให้เป็นวันที่ 1 มกราคมท่าเดียว ก็ขอให้ทุกท่านร่วมช่วยกันรณรงค์ด้วย เพราะปัญหาขยะมูลฝอยนี้ เป็นอีกปัญหาสำคัญของชาติจริงๆ
ในตอนท้าย พลเอกอนุพงษ์ กล่าวชื่นชมองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และนายกิตติ เกียรติมนตรี รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ที่มีความพยายามหาทางในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย เช่น การพัฒนาระบบคัดแยกขยะ RDF หรือโครงการก่อสร้างสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยชุมชน (ศูนย์อำเภอแกลง) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การแก้ปัญหาขยะมูลฝอย เกิดเป็นรูปธรรม และสัมฤทธิ์ผลเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป