อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แถลงผลการดำเนินงานกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รอบ 6 เดือน

อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แถลงผลการดำเนินงานกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รอบ 6 เดือน

อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แถลงผลการดำเนินงานกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รอบ 6 เดือน

          เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2561 เวลา 13.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แถลงผลการดำเนินงานกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รอบ 6 เดือน (ตุลาคม 2560 - เมษายน 2561) โดยมีนายดุษฎี สุวัฒวิตยากร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายธนา ยันตรโกวิท รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายขจร ศรีชวโนทัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้ารับฟัง ณ โรงแรมเฟลิกซ์ ริเวอร์แคว รีสอร์ท จังหวัดกาญจนบุรี

อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แถลงผลการดำเนินงานกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รอบ 6 เดือน

           นายสุทธิพงษ์ กล่าวถึงผลการดำเนินงานกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รอบ 6 เดือน (ตุลาคม 2560 - เมษายน 2561) ว่า กรมฯ ได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาการดำเนินงานตามบทบาท ภารกิจ ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นใน 7 ด้าน (24 กิจกรรม)เรื่องที่เป็นภารกิจหลัก ก็คือเรื่องของการบริหารจัดการขยะ โดยเฉพาะการบริหารจัดการขยะต้นทาง (ครัวเรือน) ซึ่งหมายถึงการคัดแยกขยะเปียกในครัวเรือน ที่ท่านดร.ปฤถา พรหมเลิศ ได้กรุณาชี้ทางสว่างของการแก้ไขปัญหาขยะ ให้มีความสำเร็จเป็นรูปธรรม โดยการเริ่มเชิญชวนให้กรรมการแม่บ้านมหาดไทย 17 จังหวัดภาคเหนือ ช่วยจัดทำ "ถังขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกครัวเรือน" เพื่อหมักเป็นปุ๋ยภายในบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งแนวทางดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นประโยชน์และเป็นวิธีการที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาขยะ กรมฯ จึงสานต่อโดยขอความกรุณาผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาดำเนินการขอความร่วมมือข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน รวมทั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ทุกแห่ง ช่วยจัดทำ "ถังขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกครัวเรือน" ในครัวเรือนของตน ตามหลักการ 3Rs หรือ 3ช : Reduce (ใช้น้อย) Reuse (ใช้ซ้ำ) และ Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่) รวมถึงให้ใช้จุดพื้นที่ที่ทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชนได้จัดทำไว้ นำไปเป็นศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะอินทรีย์และขยะเปียก ให้แก่พี่น้องประชาชน ทั้งนี้กรมยังจัดตั้งอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ซึ่งมีผู้สมัครกว่า 1.3 ล้านราย เพื่อร่วมมือกันดูแลครอบครัวให้รู้จักคัดแยกขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะพิษ รวมทั้งเป็นผู้นำในการสร้างจิตสำนึกให้แก่คนในครอบครัว ชุมชน ตำบล และหมู่บ้าน ให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยด้วย

อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แถลงผลการดำเนินงานกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รอบ 6 เดือน

          ด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษา กรมฯ มีความต้องการให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดการเรียนการสอนและกิจกรรมที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ มุ่งหวังให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา มีความพร้อมที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับการศึกษาขั้นต่อไป ซึ่งเด็กเล็กที่อายุระหว่าง 0-5 ปี เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาชีวิต จึงจะผลักดันให้มีแนวทางในการเปิดรับดูแลเด็กเล็กตลอดทั้งปี เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาในทุกๆด้าน ทุกๆวัน อย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน ทั้งยังให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ จัดตั้งที่อ่านหนังสือ "ท้องถิ่นรักการอ่าน" และตอนนี้จัดตั้งได้กว่า 4,300 แห่งแล้วทั่วประเทศ ทั้งยังให้บรรจุเรื่องการป้องกันการจมน้ำในเด็กปฐมวัยไว้ในกิจกรรมการเรียนรู้ของเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พร้อมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกในการส่งเสริมด้านการพัฒนาการของเด็ก เช่น สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา

อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แถลงผลการดำเนินงานกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รอบ 6 เดือน

ด้านการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น กรมฯ ได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใช้จ่ายเงินสะสมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลได้ ซึ่งทางกรมฯ ได้กำหนดเป้าหมายการใช้ยางพารา ไว้ที่ 74,000 ตัน ในการจัดทำโครงการก่อสร้าง/ปรับปรุงถนนที่มีส่วนผสมของยางพารา หรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่ใช้ยางพาราเป็นลำดับแรกอย่างน้อย 1 โครงการ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารารายย่อย

สำหรับการเสริมสร้างรายได้ให้แก่พี่น้องประชาชน กรมฯ ได้ร่วมมือกับ บริษัท โฮมโปรดักซ์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) จัดโครงการ ตลาดประชารัฐ ท้องถิ่นสุขใจ ในพื้นที่จังหวัดนำร่อง จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี สระบุรี นครราชสีมา และสมุทรสงคราม โดยได้ดำเนินการไปแล้วที่สาขาหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสาขาท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี การร่วมมือกันในครั้งนี้ ก็เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีรายได้เลี้ยงครอบครัวตามนโยบายตลาดประชารัฐของรัฐบาล เปิดโอกาสให้ได้นำของดีของท้องถิ่นตนเองมาขายในพื้นที่ตลาดปรัชารัฐท้องถิ่นสุขใจ ให้ผู้ประกอบการและผู้ซื้อได้มาพบกัน 

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อถึงการส่งเสริมการพัฒนาด้านสาธารณสุขว่า ในปัจจุบันนี้มีพื้นที่เฝ้าระวังในการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าหลายแห่ง กรมฯ จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ทราบและดำเนินการ รวมถึงแจ้งจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนทั่วไปตามโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี โดยจัดสรรงบประมาณให้แก่ อปท. ในการแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าแล้วกว่า 175 ล้านบาท เป็นค่าสำรวจและขึ้นทะเบียนสัตว์ ค่าวัคซีนและอุปกรณ์การฉีด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้าในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แถลงผลการดำเนินงานกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รอบ 6 เดือน

          ทางด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน กรมฯ ก็ได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยส่งเสริมให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกมิติ ร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนสังคม ภายใต้หลักคิดที่ว่า ผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์สูง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบการดำเนินการด้านผู้สูงอายุ อำเภอละ 1 แห่ง รวมทั้งสิ้น 878 อำเภอ ดังนี้ 1. ด้านการเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อวัยผู้สูงอายุ โดยการส่งเสริมการเข้าถึงและพัฒนาการจัดบริการการศึกษา และการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อเตรียมเข้าสู่วัยผู้สูงอายุที่เหมาะสม มีกิจกรรมรณรงค์ให้สังคมหรือชุมชนตระหนักถึงความจำเป็นของการเตรียมการเป็นผู้สูงอายุ และมีจิตสำนึก และตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุ เช่น การถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุกับคนทุกวัย 2. ด้านส่งเสริมการพัฒนาผู้สูงอายุ ก็ให้มีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในรูปแบบที่หลากหลายเหมาะสมกับผู้สูงอายุ เช่น การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ กิจกรรมนันทนาการ ส่งเสริมการฝึกอาชีพและจัดหางานที่เหมาะสมกับวัย การจัดทำทะเบียนผู้สูงอายุ หรือการสร้างเครือข่ายผู้สูงอายุ 3. ด้านการคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ ที่ให้ผู้สูงอายุรับสวัสดิการด้านรายได้พื้นฐาน เช่น เบี้ยยังชีพ จัดตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง 4. ด้านการบริหารจัดการเพื่อพัฒนางานด้านผู้สูงอายุและการพัฒนาบุคลากรด้านผู้สูงอายุ โดยการจัดทำและพัฒนาระบบข้อมูลผู้สูงอายุ ส่งเสริมสนับสนุนให้บุคลากรด้านผู้สูงอายุเข้าฝึกอบรมกับหน่วยงานที่มีการจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับการส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และ 5. ด้านการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านผู้สูงอายุ ที่จัดทำและพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้สูงอายุให้ถูกต้องและทันสมัย มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานการส่งเสริมและพัฒนาผู้สูงอายุในสอดคล้องกับแผนพัฒนาผู้สูงอายุแห่งชาติ

การดำเนินการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชน ที่กรมฯ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยกันสำรวจและลงทะเบียนรับเรื่องขอความช่วยเหลือของประชาชน โดยรวบรวมข้อมูลของประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือเดือดร้อนมาเป็นเวลานาน จัดทำในรูปแบบ Big Data มานำเสนอต่อคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสำหรับศูนย์ปฏิบัติการร่วมในการช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (สถานที่กลาง) ก็จะเป็นการทำงาน ในลักษณะของหน่วยบูรณาการการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในภาพรวม โดยเชื่อมต่อกับจังหวัดและส่วนกลาง เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการช่วยเหลือประชาชนและเป็นการเพิ่มช่องทางในการอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนได้มีที่พึ่งพิง สามารถยื่นขอรับความช่วยเหลือได้อีกช่องทางหนึ่ง

อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แถลงผลการดำเนินงานกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รอบ 6 เดือน

ในส่วนของการส่งเสริมการบริหารงานบุคคล กรมฯ ได้จัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีผู้เข้าสอบแข่งขัน จำนวน 628,243 คน มีผู้สอบแข่งขันได้ จำนวน 31,915 คน และ มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขอใช้บัญชีแล้ว จำนวน 5,471 แห่ง ส่วนทางด้านการสอบคัดเลือกผู้บริหารท้องถิ่นให้ดำรงตำแหน่งสายงานบริหาร ที่มีอัตราว่าง จำนวน 9,895 อัตรา มีผู้เข้าสอบจำนวน 20,925 คน มีผู้สอบผ่านข้อเขียนเพื่อเข้ารับการสัมภาษณ์ จำนวน 1,898 คน คิดเป็น 9.07% ของผู้เข้าสอบทั้งหมด และการดำเนินการสรรหาในครั้งนี้จะเป็นไปอย่างโปร่งใส ยุติธรรม ซึ่งผู้ที่มีความรู้ความสามารถจะได้รับการแต่งตั้งตามหลักความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง

และด้านการจัดทำและแก้ไขระเบียบกฎหมายท้องถิ่นนั้น กรมฯ ได้เสนอร่างกฎหมาย 6 ฉบับ กำลังอยู่ในระหว่างการยกร่าง 2 ฉบับ และ ยกร่างกฎหมายแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการปรับปรุงร่างกฎหมายอีก 4 ฉบับ 

จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา กรมฯได้ทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้พี่น้องประชาชนทุกคนได้รับประโยชน์ และต่อไป กรมฯ ก็ยังคงความมุ่งมั่นในการวางแผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาและส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนทุกคนอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดผลลัพธ์และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และจะคำนึงถึงปัญหา ข้อร้องเรียนต่างๆ พร้อมรับฟังเสียงของพี่น้องประชาชน และนำมาปรับ เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนทุกคน ให้ได้ อยู่ดีกินดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก็ขอให้คำมั่นว่า กรมฯ จะทำงานด้วยความสุจริต โปร่งใส และยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการทำงานต่อไป