- 27 มิ.ย. 2561
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tnew.co.th
MQDC บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับนานาชาติ ร่วมกับ GC บริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำ นำนวัตกรรม ‘Upcycled’ พัฒนาวัสดุก่อสร้างจากพลาสติกใช้แล้ว เพื่อนำมาใช้ในทุกๆโครงการของ MQDC เพื่อตอกย้ำพันธกิจในการร่วมแก้ปัญหาขยะพลาสติกในประเทศ
(27 มิ.ย. 2561) กรุงเทพฯ - แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) ร่วมกับบริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) เตรียมพัฒนาวัสดุก่อสร้างจากพลาสติกใช้แล้วเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร. ธัญบุรี) และศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนหรือศูนย์ RISC (Research & Innovation for Sustainability Center -RISC) โดยมีการประกาศความร่วมมือครั้งนี้ที่ศูนย์ RISC อาคารแมกโนเลียส์ ราชดำริ บูเลอวาร์ด
“MQDC มุ่งมั่นที่จะหาวิธีการใหม่ๆ ที่สามารถใช้วัสดุแปรรูปจากพลาสติกใช้แล้ว ตลอดจนเศษวัสดุต่างๆจากท้องทะเล ในโครงการของเรา” คุณวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MQDC กล่าว
“นวัตกรรม Upcycling เป็นวิธีการแก้ปัญหาพลาสติกเหลือทิ้งที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ โดยการนำขยะมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มโดยทำให้เป็นวัสดุใหม่ ที่สามารถนำมาใช้ได้ในรูปแบบใหม่ๆ โดยที่ไม่สร้างขยะกลับคืนสู่วงจรขยะพลาสติกอีกครั้ง กลยุทธ์การจัดการขยะพลาสติกนี้สอดคล้องกับปรัชญาของเราว่าด้วยนวัตกรรมยั่งยืนเพื่อคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน (Sustainnovation for all well-being) ซึ่งหมายรวมถึงมนุษย์ สัตว์ และสรรพสิ่งบนโลกใบนี้”
คุณวิสิษฐ์กล่าวอีกว่า “MQDC เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายแรกที่มุ่งมั่นในการนำวัสดุ Upcycling จากขยะพลาสติกมาใช้ในการพัฒนาโครงการของเราทุกๆ แห่งทั่วโลก เราหวังว่าความร่วมมือระหว่าง MQDC และ GC นี้ จะช่วยปลุกกระแสให้มีการนำวัสดุใหม่นี้มาใช้ในรูปแบบต่างๆ อย่างแพร่หลาย”
คุณวราวรรณ ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กร GC กล่าวว่า วัสดุก่อสร้าง Upcycled จะเป็นวัสดุที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในอนาคต
“GC ดำเนินธุรกิจภายใต้หลัก Circular Economy หรือเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน โดยให้ความสำคัญต่อการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และริเริ่มโครงการUpcycling Plastic Waste ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมการแปรรูปขยะพลาสติกให้กลายเป็นวัสดุที่มีมูลค่าเพิ่ม เป็นการสร้างชีวิตใหม่ให้กับขยะพลาสติก” คุณวราวรรณ กล่าว
“ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของ GC สู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากวัสดุ Upcycling จะถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง ช่วยจุดประกายและสร้างความตื่นตัวให้กับสังคม ด้วยคุณสมบัติของวัสดุที่คงทน แข็งแรง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราจึงหวังว่าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายอื่นจะหันมาสนใจใช้วัสดุ Upcycling กันมากขึ้น” คุณวราวรรณ กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์ RISC และผู้อำนวยการศูนย์ Scrap Lab มก. ผู้เป็นหัวหอกในการพัฒนาฉลาก Upcycle ของประเทศไทย กล่าวว่าความร่วมมือนี้จะเป็นการร่วมสร้างประสบการณ์ครั้งสำคัญให้กับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และยังช่วยให้วัสดุ Upcycling เป็นที่รู้จักมากขึ้นในประเทศไทย อีกทั้งยังนำไปใช้ในงานออกแบบโดย Scrap Lab คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
“นวัตกรรม Upcycling คือการให้ชีวิตใหม่กับของเหลือทิ้ง โดยการแปรรูปให้เป็นวัสดุใหม่ที่นำมาใช้งานได้ใหม่ในรูปแบบอื่นๆ และนี่ยังเป็นวิธีแก้วิกฤติขยะพลาสติกที่เรากำลังเผชิญอยู่ได้ ถึงแม้ว่าการแก้ปัญหานี้โดยหลักการแล้วจะต้องแก้ที่การร่วมมือกันเปลี่ยนวิถีบริโภคและวิธีจัดการขยะอย่างถูกต้องก็ตาม” รศ. ดร. สิงห์ กล่าว
“ทั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว GC จะทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อเพิ่มการรับรู้ด้านการจัดการขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทางอย่างถูกต้องและร่วมพัฒนากระบวนการสร้างคุณค่าใหม่ให้กับพลาสติกเหลือใช้ ในขณะที่ทาง มก. ศูนย์ RISC มทร. ธัญบุรี ศูนย์นวัตกรรมและ CSC (Customer Solution Center)ของ GC จะร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมในการแปรรูปขยะ และทาง MQDC จะนำวัสดุดังกล่าวมาใช้ในโครงการ การร่วมมือของทุกคนจะช่วยกันสร้างมิติใหม่ในการขจัดขยะพลาสติกเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและพิทักษ์ระบบนิเวศของเรา” รศ. ดร. สิงห์ กล่าว
อาจารย์ประชุม คำพุฒ ผู้อำนวยการ หน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยีแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล กล่าวว่าความร่วมมือนี้จะทำให้วัสดุใหม่แปรรูปจากขยะพลาสติกเกิดขึ้นในตลาดได้อย่างเป็นจริง
“การนำวัสดุแปรรูปจากพลาสติกมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมจะช่วยให้การแก้ปัญหาและการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการบริโภคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเนื่องจากเป็นวิธีที่ใช้พลังงานน้อยกว่าการรีไซเคิลแบบเดิม ๆ” อ.ประชุม กล่าวอีกว่า วัสดุแปรรูปใหม่นี้มีความแข็งแรงไม่ต่างจากวัสดุก่อสร้างทั่วไปแถมยังมีน้ำหนักเบากว่าอีกด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์รัชด ชมภูนิช รองอธิการบดี ฝ่ายพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์และสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าโครงการนี้จะช่วยสร้างความรับรู้ต่อปัญหาขยะพลาสติกและช่วยกระตุ้นผู้บริโภคให้ปรับพฤติกรรมการบริโภค
“เราสามารถให้แรงบันดาลใจแก่ผู้บริโภคให้ปรับพฤติกรรมมาเป็นการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบได้ ด้วยการหาวิธีการใหม่ในการจัดการกับขยะพลาสติกอย่างมีความรับผิดชอบ อย่างทาง มก. เองก็ได้ปฏิบัติตามแนวทางนี้ด้วยการนำนโยบาย “มหาวิทยาลัยเขียว” มาใช้ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ทั้งสี่วิทยาเขตของเรา”
“ทั้งผู้บริโภคและผู้อยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และสวยงามด้วยวัสดุก่อสร้าง วัสดุตกแต่งทำจากการ Upcycling นี้ จะเป็นกำลังหลักที่ช่วยกระตุ้นให้มีการบริโภคและกำจัดขยะพลาสติกอย่างเหมาะสม”