- 08 ม.ค. 2562
อธิบดี สถ. เปิดธนาคารคัดแยกขยะประกันชีวิต อบต.บางบัวทอง ยกเป็นโมเดลแก้วิกฤติขยะ “เปลี่ยนขยะให้เป็นเป็นหลักประกันของครอบครัว”
เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2562 เวลา 09.00 น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานในพิธีและร่วมเป็นเกียรติในการแถลงข่าวเปิดโครงการธนาคารคัดแยกขยะประกันชีวิต ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางบัวทอง โดยมี นายอำพล อังคภากรณ์กุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ดร.ชนาธิป ผาริโน อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายวิวัฒน์ อินทร์ไทยวงษ์ นายอำเภอบางบัวทอง ดร.วิเชียร เจริญนนทสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางบัวทองและประธานคณะกรรมการบริหารธนาคารคัดแยกขยะประกันชีวิต นายชรินย์ โพธิ์เจริญรักษ์ ประธานอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกตำบลบางบัวทอง และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศถือเป็นวาระของชาติ ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก ในการขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งท่านพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโดยมีการกำหนดแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ขึ้น ซึ่งนโยบายด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและขยะมูลฝอยแบบยั่งยืนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ต้องเริ่มจากภายในหน่วยงาน เพื่อการเป็นแบบอย่างที่ดีก่อนถ่ายทอดนโยบายสู่ประชาชน โดยให้ อปท. สร้างรูปแบบการจัดการขยะที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ ภายใต้หลัก"ประชารัฐ" ซึ่งเป็นการสร้างความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน ด้วยการถ่ายทอดความรู้ การปลูกฝังจิตสำนึก การสร้างกลุ่มเครือข่ายเพื่อการเฝ้าระวังและรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องชื่นชมจังหวัดนนทบุรีที่ถ่ายทอดแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ให้แก่ อปท. ในจังหวัดนนทบุรี ด้วยกรอบการดำเนินงาน 3 ระยะ ได้แก่ ต้นทาง คือการลดปริมาณขยะและส่งเสริมการคัดแยกขยะที่ต้นทาง กลางทาง คือ การจัดทำระบบเก็บและขนอย่างมีประสิทธิภาพ และปลายทาง คือ ขยะมูลฝอยได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักการ 3 ช (3 Rs) ใช้น้อย (reduce) ใช้ซ้ำ (reused) และนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle)
อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวชื่นชมและยกย่องโมเดลธนาคารคัดแยกขยะประกันชีวิต ของ อบต.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ว่าถือเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาขยะในระดับประเทศ ที่สำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของผู้นำท้องถิ่น นั่นคือ ดร.วิเชียร เจริญนนทสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางบัวทอง ทีมงานท้องถิ่น และที่สำคัญที่สุดคือจากความเข้มแข็งของพี่น้องประชาชนในชุมชนที่รวมตัวกันได้อย่างเป็นกลุ่มก้อน สะท้อนผ่านตัวเลขจำนวนอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ใน อบต.บางบัวทอง ซึ่งมีจำนวนกว่า 890 คน และหากท้องถิ่นทั่วประเทศสามารถสร้างความร่วมมือระหว่าง อปท.และชุมชนได้เช่นนี้ ก็เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาวิกฤติขยะได้ในที่สุด
จะเห็นได้ว่า การจัดตั้งธนาคารคัดแยกขยะประกันชีวิตขององค์การบริหารส่วนตำบลบางบัวทองนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการคัดแยกขยะจากต้นทางจนปริมาณขยะเหลือน้อยที่สุดก่อนนำไปกำจัด ขยะที่คัดแยกออกมาแปรเปลี่ยนเป็นสิทธิประโยชน์ ที่สร้างความมั่นคงแก่สมาชิก การดำเนินงานโครงการนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก ผู้บริหารท้องถิ่น อำเภอบางบัวทอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประธานอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก โครงการดำเนินงานใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหารงานฯ มีการออกระเบียบว่าด้วยการจัดตั้งธนาคารคัดแยกขยะประกันชีวิต โดยมีผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ และพนักงานส่วนตำบลทุกรายเป็นผู้นำร่วมขายขยะภายในเดือนแรกที่จัดตั้งโครงการฯ จากนั้นจึงขยายผลสู่ชุมชน ซึ่งปัจจุบันเป็นเวลากว่า 6 เดือน ธนาคารคัดแยกขยะประกันชีวิตมีสมาชิกทั้งสิ้น 2,532 คน มีจุดรับซื้อขยะกว่า 24 จุด มีกลุ่มประชาชน “จิตอาสา” ผู้ปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็ง จากปัจจัยทั้งหมดนี้ก่อเกิดแรงขับเคลื่อนนโยบายธนาคารคัดแยกขยะประกันชีวิตขององค์การบริหารส่วนตำบลบางบัวทอง ให้มั่นคง เข้มแข็ง และยั่งยืน และ กรมฯ เชื่อว่าโครงการธนาคารคัดแยกขยะประกันชีวิตนี้จะสามารถเป็นต้นแบบด้านการบริหารจัดการขยะด้วยชุมชนให้แก่พื้นที่อื่นๆต่อไปได้อย่างแน่นอน
อีกเรื่องหนึ่งที่อยากฝากท่านผู้บริหารทุกท่าน คือ การดำเนินการตามแผนรณรงค์ "แยกก่อนทิ้ง" ซึ่งเป็นนโยบายของท่าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอีกเช่นกัน ซึ่งจะจัดกิจกรรมเริ่มต้นพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 9 มกราคม 2562 มีการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการสร้างวินัยแยกก่อนทิ้ง และหลักการ 3 ช. จัดทำถังขยะอินทรีย์รวม มีจุดรวบรวมขยะอันตราย และ ให้ อปท.จัดทำถังขยะแยกประเภทอย่างน้อย 2 ถัง (ขยะทั่วไป/ขยะรีไซเคิล) ในพื้นที่สาธารณะให้ครบทุกพื้นที่ด้วย นายสุทธิพงษ์กล่าว
ณ วันที่ 6 มกราคม 2562