- 29 ม.ค. 2562
สถ. ผนึกพลัง จุฬาฯ , อบก. , สภาสตรีแห่งชาติฯ และชมรมแม่บ้าน สถ. ขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกจากโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน
เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 เวลา 11.30 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วย ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (ชม.สถ.) และประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ลงนามความร่วมมือพัฒนาและขับเคลื่อนการแยกขยะเศษอาหารสู่ถังขยะอินทรีย์หรือถังขยะเปียกครัวเรือน เพื่อแปลงเป็นสารบำรุงดิน และเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกจากโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน โดยภาคีเครือข่ายได้ใช้ศักยภาพหนุนเสริมซึ่งกันและกันให้บรรลุเป้าหมาย “ให้ประเทศไทยสะอาด โดยตั้งเป้าหมายว่า ทุกครัวเรือนต้องมีถังขยะอินทรีย์หรือถังขยะเปียกครัวเรือน ซึ่งหากพัฒนาโครงการได้สำเร็จจะเป็นภาพสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านสุขภาพอนามัย และด้านสิ่งแวดล้อม” ณ ห้องรับรอง ชั้น 2 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาขยะของประเทศไทย ถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ได้มีมติให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะของประเทศ ซึ่งขยะในประเทศไทยเข้าสู่ขั้นวิกฤตเนื่องจากมีการสร้างขยะเพิ่มมากขึ้น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ที่มีภารกิจหลักในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็เห็นว่า หนึ่งในหนทางการแก้ไขที่สามารถทำได้ทันที คือ การจัดทำถังขยะอินทรีย์หรือถังขยะเปียกประจำครัวเรือนและชุมชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งท่าน ดร.ปฤถา พรหมเลิศ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้มีดำริให้จัดทำ “ถังขยะอินทรีย์หรือถังขยะเปียกครัวเรือน” เริ่มจากจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นลำดับแรก และขยายผลไปยังส่วนราชการต่างๆ โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้สานต่อแนวทางดังกล่าวต่อไปยังสถานศึกษา โรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัด อปท. และศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน รวมไปถึงครัวเรือนของข้าราชการ ผู้บริหาร อปท. ครัวเรือนสมาชิกสภา อปท. ครัวเรือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และครัวเรือนของพี่น้องประชาชน เพื่อคัดแยกขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกครัวเรือน ไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำปุ๋ย สำหรับปลูกพืชชนิดต่างๆ ซึ่งมีเป้าหมายให้ทุกครัวเรือนมีถังขยะเปียกให้ครบ 100% ภายในเดือนเมษายน 2562 นี้
ในปี 2562 นี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทยจังหวัด และสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดทำโครงการวิจัยการประเมินและรับรองผลการบริหารจัดการขยะเศษอาหารตามแนวทางการทำถังขยะเปียกในการช่วยลดสภาวะโลกร้อนโดยเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้มีการดำเนินการวิเคราะห์อัตราการเกิดขยะเศษอาหารต่อคนต่อวันของคนไทย โดยลงพื้นที่ 4 จังหวัด ซึ่งเป็นตัวแทนภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือจังหวัดลำพูน ภาคกลางจังหวัดลพบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย และภาคใต้จังหวัดสงขลา เก็บตัวอย่างวัดปริมาณขยะจริงของครัวเรือนที่ร่วมโครงการจำนวน 2,400 ครัวเรือน นอกจากนั้นยังเก็บตัวอย่างในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 40 และ 20 แห่งตามลำดับเป็นเวลา 1 เดือน ให้ได้ค่าเฉลี่ยอัตราการเกิดขยะเศษอาหารที่สามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในการลดภาระการบริหารจัดการขยะของส่วนรวมและสร้างมูลค่าเพิ่มจากสารปรับปรุงดินที่ได้จากการหมักขยะเศษอาหารในถังขยะเปียก ซึ่งในอนาคตการจัดทำถังขยะเปียกครัวเรือนสามารถประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้จากการดำเนินโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน หากได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองเพื่อพัฒนาคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำเร็จอาจมีรายได้ในอนาคตกลับคืนสู่ชุมชน
"โครงการนี้มีส่วนสำคัญในการช่วยลดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นเทรนของโลก เพราะภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เนื่องจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนทั้งโลกแล้ว ดังนั้น หากทุกคนใส่ใจกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการแยกขยะเปียก ขยะแห้ง คุณก็มีส่วนสำคัญในการทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น และถือเป็นวิธีลดภาวะโลกร้อนในแบบที่ทำตามได้ในชีวิตประจำวันของทุกคน" นายสุทธิพงษ์กล่าว
ทางด้านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนาโครงการโดยให้การสนับสนุนด้านวิชาการ โดยมอบหมายให้ รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาระเบียบวิธีวิจัยการประเมินและรับรองผลการบริหารจัดการขยะเศษอาหารตามแนวทางการทำถังขยะเปียกในการช่วยลดสภาวะโลกร้อนโดยเทียบเท่าการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
ในส่วนขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) มีเป้าหมายให้ประเทศไทยลดก๊าซเรือนกระจกเป็นภารกิจโดยตรงอยู่แล้ว ซึ่งหากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นพัฒนาโครงการนี้ได้สำเร็จจะสร้างประโยชน์ให้สังคมโลกสืบไป
ท้ายนี้ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในฐานะเครือข่ายจิตอาสา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพลังสตรีหรือพลังแม่บ้านในการเป็นจิตอาสาห่วงใยสิ่งแวดล้อม ห่วงใยสังคม และชุมชน และเมื่อวันเสาร์ที่ 19 มกราคม 2562 ได้มีการเรียกประชุมชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และประธานชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทยจังหวัด เพื่อรับมอบนโยบายและเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะ โดยการคัดแยกขยะเศษอาหารตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือ ครัวเรือน ซึ่งแม่บ้านเป็นผู้ใกล้ชิดที่สุด โดยทำการคัดแยกขยะเศษอาหารหรือขยะเปียกออกจากขยะทั่วไป ด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดี โดยคณะกรรมการ และสมาชิกชมรมต้องมีถังขยะเปียกในครัวเรือน อีกทั้งรณรงค์สร้างความรับรู้ ความเข้าใจ และจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะและตระหนักถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะเพื่อสร้างสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดีแก่ตนเองและชุมชน อีกทั้งช่วยลดรายจ่ายจากการนำสารบำรุงดินที่ได้จากการทำถังขยะเปียกมาใช้ในการปลูกผักสวนครัว หรือประโยชน์ด้านเกษตรกรรมอื่นๆ ซึ่งช่วยลดการปนเปื้อนของขยะเปียกกับขยะประเภทอื่นส่งผลให้การจัดการขยะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการรักษ์โลก รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ดร.วันดี มีดำริ ให้จัดโครงการประกวดผลสำเร็จชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทยจังหวัด… ในการบริการจัดการขยะเศษอาหารจากครัวเรือน ซึ่งช่วงเริ่มต้นโครงการจะมีการสุ่มตรวจเยี่ยมมอบรางวัลให้กับชมรมฯ ที่มีการายงานข้อมูลคนแยกขยะเศษอาหาร และจำนวนถังขยะเปียกที่เยอะที่สุด และร่วมกระบวนการถอดบทเรียนเลือกชมรม ฯ ที่มีแนวทางการบริหารจัดการที่ดีที่สุด (Best Practice) โดยร่วมมือกับสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางประสานงานขององค์กรสตรีทั่วประเทศร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน อีกด้วย