ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม หลังอุปทานมีแนวโน้มตึงตึวขึ้น

ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม หลังอุปทานมีแนวโน้มตึงตึวขึ้น

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 51 - 56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 59 - 64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ( 4 – 8 ก.พ. 62 )

 

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากแรงหนุนของตลาดน้ำมันดิบที่ตึงตัว เนื่องจากอุปทานในกลุ่มโอเปก โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย เวเนซุเอลา และลิเบีย คาดว่าจะปรับตัวลดลง หลังโอเปกประเทศลดกำลังการผลิต ลิเบียเผชิญกับสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ และการประกาศคว่ำบาตรเวเนซุเอลาโดยสหรัฐฯ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนส่งสัญญาณที่ดีต่อตลาด หลังทั้งสองฝ่ายหันหน้ามาเจรจากัน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังความต้องการใช้น้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง แต่กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังคงปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

          จับตาการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่คาดว่าจะทำให้ตลาดน้ำมันดิบตึงตัวขึ้น หลังผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกร่วมมือกันปรับลดกำลังการผลิตลงราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยล่าสุด ซาอุดิอาระเบียจะปรับลดกำลังการผลิตในเดือนก.พ. 62 ลงต่ำกว่าที่ตกลงกันไว้ราว 200,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 10.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ รัสเซียเผยว่าจะร่วมมือลดกำลังการผลิตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในเดือนม.ค. ที่ผ่านมา รัสเซียปรับลดกำลังการผลิตลงราว 50,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตในเดือนต.ค.61 ซึ่งเป็นระดับอ้างอิง

ตลาดกังวลกับภาวะอุปทานตึงตัว หลังสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลา ในวันที่ 28 มกราคม ที่ผ่านมา เพื่อกดดันรัฐบาลของเวเนซุเอลาภายใต้การนำของประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร ที่ถูกวิเคราะห์ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาล่มสลาย และส่งผลให้เวเนซุเอลาไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบไปยังสหรัฐฯ ซึ่งหมายความว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาไปยังสหรัฐฯ ราว 500,000 บาร์เรลต่อวัน อาจต้องส่งออกไปยังประเทศอื่นแทนเช่น จีน อินเดีย เป็นต้น และในอีกด้านหนึ่ง สหรัฐฯ จำเป็นต้องหาแหล่งผลิตน้ำมันดิบอื่นมาทดแทนปริมาณที่ขาดหายไปจากการนำเข้าน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลา อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการบรรเทาอุปทานน้ำมันดิบที่ตึงตัวในสหรัฐฯ รัฐบาลกำลังพิจารณาขายน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve : SPR)

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียมีแนวโน้มปรับลดลง หลังสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศยังคงรุนแรง ส่งผลให้แหล่งผลิตน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดของลิเบียอย่าง แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara กำลังการผลิตราว 300,000 บาร์เรลต่อวัน ต้องหยุดดำเนินการตั้งแต่เดือนธ.ค. 2561 โดยบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (NOC) เผยว่าปัจจุบันกำลังการผลิตของประเทศอยู่เหนือระดับ 900,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งปรับลดลงจากค่าเฉลี่ยในปี 2560 ที่อยู่ที่ระดับ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มคลี่คลาย หลังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ หารือกันเพื่อแก้ปัญหาในวันที่ 30-31 ม.ค.62 โดยหลังจากการหารือ 2 วัน จีนให้คำมั่นว่าจะซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น และทั้งสองฝ่ายจะนัดประชุมกันอีกครั้งก่อนการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจะเริ่มบังคับใช้ในเดือนมี.ค. นี้ เพื่อยุติปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น หลังความต้องการใช้น้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง ประกอบกับ กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังคงปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 25 ม.ค. 2562 รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 0.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 445.9 ล้านบาร์เรล อันเป็นผลมาจากอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงราวร้อยละ 2.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 90.1 ในขณะที่ กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 11.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการบริการจีน ยอดค้าปลีกยูโรโซน ดัชนีราคาผู้ผลิตยูโรโซน ดัชนีภาคการบริการยูโรโซน และดัชนีราคาผู้ผลิตยูโรโซน

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (28 ม.ค. - 1 ก.พ. 62)

          ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 62.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกปรับตัวลดลง เนื่องจากกลุ่มโอเปกนำโดยซาอุดิอาระเบียเริ่มปรับลดกำลังการผลิตตามข้อตกลงเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดิบ ขณะที่ลิเบียเผชิญความขัดแย้งภายในประเทศ ทำให้ต้องหยุดดำเนินการแหล่งผลิตน้ำมันดิบชั่วคราว รวมถึงเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศของกลุ่มโอเปก ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมัน ส่งผลให้ตลาดกังวลกับภาวะอุปทานตึงตัว อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และ จีน รวมถึง ความไม่แน่นอนจากการที่อังกฤษอาจแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยไม่มีการทำข้อตกลง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มย่อตัวเล็กน้อย หลังอุปทานอาจไม่ลดลงตามคาดการณ์

ราคาน้ำมันดิบคาดปรับเพิ่ม หลังโอเปกปรับลดปริมาณการผลิตเกินคาด

ตลาดราคาน้ำมันดิบเพิ่มร้อยละ 5 หลังสหรัฐฯ-จีนประกาศพักสงครามการค้าชั่วคราว ทำน้ำมันไทยพรุ่งนี้ขึ้นอีก 30 สต./ลิตร

เด็กปั๊มโกงราคาน้ำมัน โดนสั่งพักงานแล้ว พร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริง

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์