- 26 ก.พ. 2562
สถ. ลงพื้นที่ จ.ลำพูนเมืองสะอาด เปิดกิจกรรมเปิดจวนผู้ว่า “ครัวเรือนต้นแบบลด คัดแยกขยะที่ต้นทาง” พร้อมติดตามโครงการ “ถังขยะเปียก ลดโลกร้อน” ชูลำพูนเป็น 1 ในทุกมิติของการบริหารจัดการขยะ
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 09.30 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานเปิดกิจกรรมเปิดจวนผู้ว่า “ครัวเรือนต้นแบบลด คัดแยกขยะที่ต้นทาง” โดยมี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสาวอ้อวดี สุนทรวิภาต ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาระบบมาตรฐานและแผนพัฒนาท้องถิ่น นายจำลักษณ์ กันเพ็ชร์ ผู้ตรวจราชการกรม ร่วมคณะ และมีนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดลำพูน นายสำเริง ไชยเสน นายวรยุทธ เนาวรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน หัวหน้าส่วนราชการ และผู้นำชุมชน/หมู่บ้านในพื้นที่ ให้การต้อนรับ ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน จากนั้นเดินทางไปตรวจติดตามการจัดเก็บข้อมูลปริมาณขยะเปียกในระดับครัวเรือน และระดับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พร้อมทั้งตรวจเยี่ยมการดำเนินการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ในเขตพื้นที่ตำบลแม่แรง ตำบลอุโมงค์ และตำบลป่าสัก จังหวัดลำพูน
นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า จังหวัดลำพูน ได้แสดงให้เห็นถึงความตระหนักของปัญหาขยะมูลฝอยและมีการดำเนินการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ จนได้รับรางวัลชนะเลิศ จังหวัดสะอาด ในปีงบประมาณ 2560 และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย เป็นผลมาจากการรณรงค์ให้ประชาชนทุกหมู่บ้าน/ชุมชน บริหารจัดการขยะอินทรีย์ หรือขยะเปียกด้วยตนเอง เป็นจังหวัดแรกของประเทศ และในปีงบประมาณ 2561 จังหวัดลำพูนก็ได้ต่อยอด โดยการรณรงค์ให้ประชาชนในจังหวัดลำพูนร่วมกัน ลด ละ เลิก การใช้โฟมบรรจุอาหาร ซึ่งทุก อปท./อำเภอ สามารถประกาศเจตนารมณ์เป็นพื้นที่ปลอดโฟมบรรจุอาหารได้ครบทุกแห่งด้วย ซึ่งท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้ลงพื้นที่มาเยี่ยมชมด้วยตนเอง และยังได้กล่าวชื่นชมผ่านสื่อต่างๆ หลากหลายครั้งด้วย เพราะจังหวัดลำพูน ได้ทำให้คำมั่นสัญญาที่ประเทศไทยได้ให้ไว้กับ UNFCCC เมื่อปี 2558 ที่ว่าประเทศไทยจะช่วยรักษาโลกนี้ให้ยืนยาว เป็นโลกที่มีอนาคตที่สดใสนั้น กำลังจะเป็นจริง
นายสุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า จังหวัดลำพูนแสดงให้เห็นถึงการขยายผลเป็นปีที่ 3 โดยจัดกิจกรรมรณรงค์และประชาสัมพันธ์การคัดแยกขยะในโครงการจังหวัดเคลื่อนที่ของจังหวัดลำพูน และประสานความร่วมมือจากแม่บ้านมหาดไทย จังหวัดลำพูน ในการจัดกิจกรรมติดตามและประเมินผลการดำเนินงานคัดแยกขยะในครัวเรือน โดยเริ่มต้นจากผู้บริหารหน่วยงาน ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เครือข่าย ทสม. เครือข่าย อสม. และเครือข่ายอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) จึงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานที่ต่อเนื่องในระดับครัวเรือนและครอบคลุมทั้งจังหวัด อันจะส่งผลให้เกิดความยั่งยืนในการลดคัดแยกขยะที่ต้นทางอย่างต่อเนื่อง
การลงพื้นที่ในวันนี้ ก็เพื่อติดตามการดำเนินงานการจัดเก็บข้อมูลขยะเปียกครัวเรือน ในการทำวิจัยการประเมินและรับรองผลการบริหารจัดการขยะเศษอาหารตามแนวทางการทำถังขยะเปียกในการช่วยลดสภาวะโลกร้อนโดยเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของ 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ ประเภทครัวเรือน ประเภทศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และประเภทโรงเรียน ให้ได้ค่าเฉลี่ยอัตราการเกิดขยะเศษอาหารที่สามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงของ สถ. ในการลดภาระการบริหารจัดการขยะของส่วนรวม และสร้างมูลค่าเพิ่มจากสารบำรุงดินที่ได้จากการหมักขยะเศษอาหารในถังขยะเปียก ซึ่งในอนาคตการจัดทำถังขยะเปียกครัวเรือนสามารถประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้จากการดำเนินโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน หากได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองเพื่อพัฒนาคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำเร็จ ก็อาจมีรายได้ในอนาคตกลับคืนสู่ชุมชนได้ ซึ่งทาง รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเป็นผู้ที่จะพัฒนาระเบียบวิธีวิจัยการประเมินและรับรองผลการบริหารจัดการขยะเศษอาหารตามแนวทางการทำถังขยะเปียกในการช่วยลดสภาวะโลกร้อนโดยเทียบเท่าการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
ก็ต้องขอชื่นชมผู้บริหารจังหวัดลำพูน ท่านนายกเหล่ากาชาดจังหวัดลำพูน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน รวมทั้งแกนนำชุมชนที่มีความรู้ มีความตระหนัก และเป็นตัวอย่างที่ดี มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพื้นที่ที่ดำเนินการด้านเดียวกันแล้วนำมาประยุกต์ใช้ในชุมชนของตนเอง ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนในชุมชน โดยใช้หลักประชาธิปไตยและใช้หลักธรรมาภิบาล สามารถบูรณาการนวัตกรรมกับกิจกรรมอื่น ๆ ในการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เป็นอย่างดี จนทำให้จังหวัดสามารถเป็นจังหวัดตัวอย่างหรือจังหวัดต้นแบบให้แก่จังหวัดอื่นๆได้ จนกล่าวได้อีกว่า เป็นที่ 1 ในทุกมิติของการบริหารจัดการขยะ ที่เป็นวาระแห่งชาตินี้ได้เลยทีเดียว และขอขอบคุณที่ช่วยดำเนินการการจัดการขยะเปียกครัวเรือนนำร่อง เพื่อคำนวนหาค่าเฉลี่ยอัตราการเกิดขยะเศษอาหาร ในการลดภาระการบริหารจัดการขยะของส่วนรวม และสร้างมูลค่าเพิ่มจากสารบำรุงดินที่ได้จากการหมักขยะเศษอาหารในถังขยะเปียก ของพื้นที่เทศบาลตำบลแม่แรง เทศบาลตำบลอุโมงค์ และองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านปวง จำนวนกว่า 900 แห่งได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งความสำเร็จนี้ล้วนมาจากการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ที่จะช่วยผลักดันการจัดทำถังขยะเปียกครัวเรือนนี้ให้ครบทุกครัวเรือน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาบ้านเมืองของเราให้น่าอยู่ขึ้น ร่วมกัน Change For Good เปลี่ยนเพื่อโลกที่ดีกว่า เปลี่ยนให้เพื่อประเทศไทยที่สวยงามขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง นายสุทธิพงษ์กล่าว