- 19 ส.ค. 2562
ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 19 - 23 สค. 62 และสรุปสถานการณ์ฯ 12 - 16 สค. 62
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดัน หลังตลาดกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอย และปริมาณน้ำมันดิบสหรัฐฯ สูงขึ้น
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 19 สิงหาคม 2562
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 52 – 57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 56 - 61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (19 – 23 ส.ค. 62)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะสั้นสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว ส่งผลให้ตลาดกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ประกอบกับ ปริมาณน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังท่อขนส่งน้ำมันในสหรัฐฯ สามารถส่งออกน้ำมันดิบจากแหล่ง Permian ไปยังท่าส่งออกในรัฐเท็กซัสได้เป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางที่ปรับตัวลดลงโดยเฉพาะ ซาอุดิอาระเบีย และอิหร่าน นอกจากนี้ ตลาดจับตาผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่อาจมีทิศทางดีขึ้น หลังจีนเตรียมหารือกับสหรัฐฯ เพิ่มเติม
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกที่อ่อนแอซึ่งส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เกิดภาวะ inverted yield curve ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย เป็นผลจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นอายุ 2 ปี ปรับตัวสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอายุ 10 ปี เนื่องจากนักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจ ในระยะสั้นอาจชะลอตัวลงจึงตัดสินใจเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงมากขึ้น โดยเฉพาะพันธบัตรระยะยาว นอกจากนี้ ตัวเลขการเติบโตของอุตสาหกรรมจีนเดือน ก.ค. 62 ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าเดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 4.8 จากระดับร้อยละ 6.3 ซึ่งเป็นตัวเลขระดับต่ำที่สุดในรอบ 17 ปี
ปริมาณน้ำมันดิบสหรัฐฯ คาดปรับตัวสูงขึ้น หลัง สหรัฐฯ สามารถส่งออกน้ำมันดิบจากแหล่ง Permian ไปยังท่าส่งออก Corpus Christi รัฐเท็กซัสได้เป็นครั้งแรกผ่านท่อขนส่งน้ำมัน Cactus II โดยกำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 9 ส.ค. 62 ทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่ม 1.6 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 441 ล้านบาร์เรล เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีทิศทางดีขึ้น หลังสหรัฐฯ ประกาศเลื่อนการปรับขึ้นภาษีสินค้าจากจีนรอบใหม่ออกไปเป็นวันที่ 15 ธ.ค. 62 จากเดิมที่มีกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ โดยสินค้าที่ได้รับการชะลอเก็บภาษีรอบใหม่ได้แก่ คอมพิวเตอร์แลพท็อป โทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่นวิดีโอเกม จอคอมพิวเตอร์ ของเล่นบางชนิด รองเท้า และเสื้อผ้า เป็นต้น ส่วนสินค้าที่เหลือจะถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 10 ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ ตามแผนเดิม โดยการเลื่อนบังคับใช้มาตราการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน เพราะสหรัฐฯ ต้องการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลคริสมาสต์ นอกจากนี้ ทางจีนเปิดเผยว่าจะจัดการเจรจาประเด็นข้อพิพาททางการค้ากับสหรัฐฯ ภายในสัปดาห์หน้า
ปริมาณน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังซาอุดิอาระเบียมีแผนที่จะรักษาระดับปริมาณส่งออกน้ำมันดิบให้ต่ำกว่า 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. และ ก.ย. 62 ประกอบกับกลุ่มโอเปก 11 ประเทศ ยังคงมีแผนปรับลดกำลังการผลิตลง 0.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบจากอิหร่านมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง หลังมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้การส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่านในเดือน ก.ค. 62 ปรับลดลงราว 130,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 2523
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 2/62 ของเยอรมนี ดัชนีภาคการผลิตของยูโรโซนเดือน ส.ค. 62 ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 62 และจับตารายงานนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางยุโรป
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (12 – 16 ส.ค. 62)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่ม 0.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 54.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่ม 0.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 58.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 58.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนหลังสหรัฐฯ ประกาศเลื่อนการปรับขึ้นภาษีสินค้าจากจีนบางรายการรอบใหม่ออกไปเป็นวันที่ 15 ธ.ค. 62 จากเดิมที่มีการกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ย. 62 ประกอบกับ ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่านในเดือน ก.ค. 62 ปรับลดลงสู่ระดับ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 2523 นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบียมีแผนที่จะรักษาระดับปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบให้ต่ำกว่า 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. และ ก.ย. 62 ทางด้านกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรยังคงปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องตามข้อตกลงที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกมีทิศทางอ่อนแอ หลังเกิดภาวะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นของสหรัฐฯ อยู่สูงกว่าพันธบัตรระยะยาว ซึ่งทางสถิติบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มเผชิญภาวะถดถอย ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจของจีนและเยอรมนีออกมาในทิศทางที่อ่อนตัวลง