ราคาน้ำมันดิบคาดปรับเพิ่ม จากอุปทานที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ

ราคาน้ำมันดิบคาดปรับเพิ่ม จากอุปทานที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 54 – 59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 60 - 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (11 - 15 พ.ย. 62)

          ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่มีแนวโน้มปรับลด หลังซาอุดิอาระเบียพยายามที่จะดันราคาน้ำมันดิบขึ้น ก่อนที่บริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศจะออกขาย IPO ในเดือนหน้า ประกอบกับปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลาคาดจะยังคงอยู่ในระดับต่ำและมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากมาตราการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ท่อขนส่งน้ำมันดิบ Keystone ที่ยังไม่สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้เต็มกำลัง และกำลังการกลั่นของโรงกลั่นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คาดส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง โดยยังคงต้องจับตาความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน หลังการเจรจาเพื่อลงนามสัญญาขั้นต้นถูกเลื่อนออกไปและยังไม่มีกำหนดการที่แน่นอน

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

กำลังผลิตน้ำมันดิบจากผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังซาอุดิอาระเบียพยายามโน้มน้าวให้กลุ่มผู้ผลิตปรับลดกำลังการผลิตมากขึ้น เพื่อหวังให้ราคาน้ำมันที่สูงขี้นก่อนที่บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดิอาระเบีย หรือซาอุดิอารามโกจะออกขาย IPO ช่วงกลางเดือนหน้า ขณะที่อิหร่านหวังว่ากลุ่มผู้ผลิตจะปรับลดกำลังการผลิตมากขึ้นเช่นกัน โดยกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกจะทำการประชุมเพื่อหารือกันถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในการประชุมวันที่ 5-6 ธ.ค. 62

ปริมาณน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลามีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังสหรัฐฯ ยังคงเข้มงวดต่อการคว่ำบาตรธุรกิจน้ำมันของเวเนซุเอลา โดยปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาในเดือน ต.ค. 62 ปรับตัวลดลงจากเดือน ก.ย. 62 ราวร้อยละ 3.7 แตะระดับ 812,000 บาร์เรลต่อวัน

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดปรับตัวลดลง หลังท่อขนส่งน้ำมันดิบ Keystone ซึ่งสามารถส่งน้ำมันดิบจากแคนาดาไปยังสหรัฐฯ ได้ราว 590,000 บาร์เรลต่อวัน ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้เต็มกำลัง หลังเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบราว 9,000 บาร์เรล รั่วไหลบริเวณรัฐ North Darkota ประกอบกับโรงกลั่นในสหรัฐฯ คาดจะเริ่มกลับมาดำเนินการ หลังสิ้นสุดช่วงปิดซ่อมบำรุงประจำปี ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบในประเทศปรับตัวสูงขี้น

ติดตามความคืบหน้าการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันโลก หากการเจรจามีทิศทางที่ดี จะทำให้เศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม ล่าสุดแผนการเจรจาเพื่อลงนามสัญญาขั้นที่ 1 ถูกเลื่อนจากกลางเดือน พ.ย. ไปเป็นเดือน ธ.ค. หลังจีนพยายามที่จะให้สหรัฐฯ ยกเลิกกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 62 ที่ผ่านมา โดยมีความเป็นไปได้มากที่สองประเทศจะทำการลงนามสัญญาขั้นที่ 1 ในช่วงกลางเดือน ธ.ค. 62 ณ เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ

เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ จีดีพีไตรมาส 3/2562 ยูโรโซน และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (4 – 8 พ.ย. 62)

          ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขี้น 1.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 62.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน ต.ค. 62 ของจีนและสหรัฐฯ ที่ดีขี้น โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตจีนเพิ่ม 0.3 จากเดือนก่อนหน้า แตะระดับ 51.7 ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ ปรับเพิ่ม 128,000 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดัน หลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศปรับลดตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของยูโรโซนในปี 2562 เหลือร้อยละ 1.2 ซึ่งน้อยกว่าการเติบโตในปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.9 ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 1 พ.ย. 62 ปรับเพิ่มขึ้นถึง 9.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเพียง 1.5 ล้านบาร์เรล