หมอนรองกระดูกเสื่อมจากอาการปวดหลัง ปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม

หมอนรองกระดูกเสื่อมจากอาการปวดหลัง ปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม

          อาการปวดหลัง หนึ่งในปัญหาของคนวัยทำงานหลายๆ คนที่มักพบเจอ ไม่ใช่แค่เพียงคนวัยทำงานเท่านั้น แต่คนที่นั่งหรือยืนในท่าเดิมนานๆ ไปจนถึงการนั่งผิดท่า ก็ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้เช่นกัน ซึ่งอาการปวดหลังนั้น อาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมได้อีกด้วย หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่าอาการปวดหลังจะทำให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกเสื่อมได้อย่างไร ต้องบอกว่าบริเวณหลังของเรานั้น นอกจากกระดูกสันหลังแล้ว ก็ยังมีหมอนรองกระดูกเอาไว้คอยป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังเสียดสีกันอีกด้วย ซึ่งภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมนั้นส่งผลทำให้เกิดหลายต่อหลายโรคอีกด้วยล่ะ วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจและทำความรู้จักว่าหมอนรองกระดูกเสื่อมคืออะไรและมีวิธีป้องกันได้อย่างไรบ้าง

ภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมคืออะไร?

          หมอนรองกระดูกเสื่อม เป็นภาวะที่หมอนรองกระดูกหรือชั้นเนื้อเยื่อระหว่างข้อกระดูกสันหลังแต่ละข้อนั้นเสื่อมลง ไม่ว่าจะเกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้น อิริยาบถที่อยู่ในท่าเดิมซ้ำๆ น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น หรือแม้กระทั่งการได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง เป็นต้น หลายๆ ครั้ง อาการของหมอนรองกระดูกเสื่อมนั้นอาจไม่ได้แสดงอาการเจ็บปวดออกมา แต่ในบางคนอาจจะรู้สึกเจ็บปวดอย่างรุนแรงจนรบกวนกิจวัตรประจำวันอีกด้วย ซึ่งลักษณะของอาการปวดจะมีทั้งอาการปวดบริเวณหลังส่วนล่างอาจลามไปถึงสะโพกและขา ปวดบริเวณลำคอแล้วลามไปถึงแขน ปวดจากการก้ม เอี้ยวตัว ปวดมากขึ้นเมื่อนั่งในท่าเดิมนานๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมไปถึงกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเสื่อม โรคโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบ โรคกระดูกทับเส้นประสาท ก็ยิ่งส่งผลและทำให้เกิดภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมอีกด้วย

วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม

          หนึ่งในสิ่งที่ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเกิดหมอนรองกระดูกเสื่อมนั้นคือการที่ควบคุมให้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ส่งผลต่อกระดูกสันหลังซ้ำๆ หลีกเลี่ยงการยกของหนักจนเกินไป และการนั่งในอิริยาบถเดิมนานๆ สำหรับวัยทำงานหรือคนที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์บ่อยๆ ควรจัดคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ปรับระดับคีย์บอร์ดให้วางอยู่ในระดับข้อศอกและข้อมือ จอคอมพิวเตอร์ตั้งอยู่ในระดับสายตา เลือกเก้าอี้ที่มีการรองรับแผ่นหลังที่ดี บริหารร่างกายอยู่เสมอ และเมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าเริ่มเกร็งตัว ให้ผ่อนคลายทันที เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม

          สำหรับใครที่กังวลว่าตัวเองจะเกิดความเสี่ยงเป็นหมอนรองกระดูกเสื่อมก่อนวัยอันควรหรือไม่ ให้ลองสำรวจตัวเองว่ามีอาการปวดหลังหรือไม่ แล้วปวดเป็นเวลานานและปวดรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่ ถ้ามีอาการปวด ให้เข้าพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และเพื่อให้ได้สุขภาพที่ดีกลับคืนมา