วิธีการทำความสะอาด หน้ากากอนามัย เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ

วิธีการทำความสะอาด หน้ากากอนามัย เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ

แพทย์จากศิริราช แนะวิธีการทำความสะอาด หน้ากากอนามัย เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ ช่วงภาวะขาดแคลน ในสถานการณ์โรคระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แนะวิธีการทำความสะอาด หน้ากากอนามัย เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ ในช่วงภาวะขาดแคลน

ในปัจจุบันมีการนำหน้ากากอนามัยมาใช้ในภาวะที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการรับรองว่าการใส่หน้ากากอนามัยนั้นสามารถป้องกันโรคได้ แต่ในภาวะวิกฤตที่มีการกระจายของเชื้อโดยที่เรายังไม่ทราบแน่ว่ามันสามารถกระจายไปในวิธีใดได้บ้าง แต่ที่พิสูจน์ได้แน่ๆ เลยก็คือ การสวมใส่หน้ากากอนามัยจะเป็นการป้องกันการกระจายของละอองจากการพูด การไอ และจามได้

มีการเปรียบเทียบกันระหว่าง ประเทศแถบเอเชียซึ่งมีการใช้หน้ากากอนามัยค่อนข้างเยอะ จะเห็นว่าการกระจายของเชื้อจะต่ำกว่าทางฝั่งยุโรปหรืออเมริกา ซึ่งในประเทศทางฝั่งยุโรปจะไม่นิยมใส่หน้ากากอนามัยในคนที่ยังไม่ทราบว่าจะติดเชื้อหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ในภาวะที่เรายังไม่ทราบแน่ชัดในเรื่องของการกระจายเชื้อ ว่าจะกระจายไปทางใดได้บ้าง การที่เราป้องกันตัวให้ดีที่สุดก็จะเป็นการป้องกันการติดเชื้อ รวมถึงเป็นการลดการแพร่กระจายการติดเชื้อสู่ผู้อื่นได้ด้วย

แม้ว่าองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า การใส่หน้ากาก เฉพาะผู้ติดเชื้อเท่านั้น แต่ปัจจุบัน WHO เริ่มมีการเปลี่ยนใจให้สวมใส่หน้ากากอนามัยสำหรับทุกคน เพราะ จริงๆ แล้วเราไม่อาจทราบได้เลยว่า เรามีเชื้อและแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นแล้วหรือเปล่า

ความจริงแล้วหน้ากากอนามัยควรใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง แต่ด้วยความต้องการหน้ากากอนามัยมีเป็นจำนวนมาก อัตราการผลิตของหน้ากากอนามัยในแต่ละประเทศรวมทั้งในประเทศไทยอาจจะมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงเกิดเป็นคำถามที่ว่า หากนำหน้ากากอนามัยมาใช้ซ้ำสามารถทำได้หรือไม่ และจะมีประสิทธิภาพเพียงใดกันแน่

รศ.นพ.นริศ กล่าวว่า หลายคนใช้หน้ากากอนามัยโดยที่ไม่ทำความสะอาดเลย ผืนหนึ่งใช้ 1-3 วัน การที่เราหาวิธีที่จะทำความสะอาดย่อมจะดีกว่าการที่เรานำมาใช้หลายๆ วัน โดยที่เราไม่ทำความสะอาด หน้ากากอนามัยที่เราส่วนใหญ่จะใช้นั่นก็คือ หน้ากากอนามัยมาตรฐาน หรือ surgical mask

 

surgical mask ประกอบไปด้วย 3 ส่วน นั่นคือ

          ๐ ส่วนหน้าสุดเป็นส่วนที่ป้องกันไม่ให้มีสารน้ำต่างๆ ซึมผ่านเข้าไปด้านในได้

          ๐ ส่วนด้านใน เป็นชิ้นที่อยู่ติดกับหน้าเรากับปากเรา จะเป็นส่วนที่ซึมซับเอาพวกละอองฝอยต่างๆ เข้าไปได้

          ๐ ส่วนระหว่างชั้นนอกและชั้นใน เป็นชั้นฟิลเตอร์ จะเป็นชั้นที่กรองสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรค ฝุ่นต่างๆ

หน้ากากอนามัยมาตรฐานจะต้องประกอบด้วย 3 ส่วนนี้ แต่ส่วนสำคัญอีกอย่างก็คือ เหล็กที่อยู่ดั้งจมูก เพื่อที่เวลาที่เราใส่ไปแล้วมันจะแนบไปกับตัวหน้าเรา ทำให้ป้องกันไม่ให้มีการเข้าของอากาศเวลาหายใจเข้าออกทางด้านข้าง เพื่อให้อากาศเข้าผ่านแผ่นกรองของหน้ากากอนามัย

 

วิธีการที่ใช้ทำความสะอาดตัวหน้ากากอนามัยนั้น มีหลายวิธี ดังนี้

1. วิธีการนำไปตากแดด การที่นำหน้ากากอนามัยไปตากแดด ไม่ได้มีการรับรองว่า การฆ่าเชื้อนั้นจะสามารถฆ่าเชื้อได้ทั้งหมด อย่างที่มีการรายงานว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถอยู่กลางแดดได้ไม่เกิน 15 นาที การที่เรานำไปตากแดดอาจจะช่วยได้บ้าง แต่ก็ยังดีกว่าที่เราไม่ได้เอาไปตากแดดเลย ในกรณีที่เรามีความจำเป็นต้องใช้ซ้ำ

2. วิธีการฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตราไวโอเลต(UV) สามารถฆ่าเชื้อไวรัสต่างๆ ได้ และอาจจะฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ด้วย วิธีการคือ นำหน้ากากอนามัยใส่เข้าไปในเครื่องที่มีแสงอัลตราไวโอเลตอย่างน้อย 30 นาที แสงยูวีจะทำการฆ่าเชื้อได้ก็ต่อเมื่อแสงอัลตราไวโอเลตนั้นสัมผัสกับพื้นผิวโดยตรง เราจะต้องทำการฉายแสงทั้งด้านนอกและด้านใน โดยฉายด้านหนึ่ง 30 นาที แล้วพลิกฉายอีกด้านหนึ่งอีก 30 นาที

 

ข้อเสียของการฆ่าเชื้อทำความสะอาดหน้ากากอนามัยด้วยแสงอัลตราไวโอเลต คือ บริเวณที่เป็นรอยพับต่างๆ ถ้าแสงนั้นไม่สามารถส่งถึงได้ก็จะทำให้เชื้อยังคงอยู่ได้ จึงเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งของการฆ่าเชื้อหน้ากากอนามัยด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต

ข้อดี คือ การฉายแสงยูวีไม่ทำให้เกิดความร้อน ทำให้หน้ากาก ชั้นที่ 1, 2, 3 หรือยางยืดต่างๆ มีการเสื่อมสภาพที่น้อยกว่า

 

จะเห็นว่า หน้ากาก N95 เป็นหน้ากากที่สามารถป้องกันการซึมผ่านของเชื้อ หรือฝุ่นต่างๆ ได้ดีที่สุด ประกอบด้วยยางยืด เมื่อสวมใส่ ขอบของตัวหน้ากากอนามัยเองแนบชิดติดหน้ามาก เช็คอย่างไรว่าแนบชิด ให้กดแล้วหายใจเข้า และหายใจออก ถ้าเกิดว่าหน้ากากพอดี จะมีการเคลื่อนไหวทุกครั้งที่เรามีการหายใจเข้าหรือออก ถ้าเราหายใจแล้วยังมีอากาศเข้ามาทางด้านข้าง แสดงว่าหน้ากากนั้นจะยังไม่เหมาะกับเรา

การนำเอาหน้ากาก N95 ไปทำความสะอาดฆ่าเชื้อในแสงอัลตราไวโอเลตนั้น ข้อดีคือ หน้ากาก N95 ไม่มีรอยพับ ดังนั้นการที่เรากลับด้านที่หนึ่ง ด้านที่สอง ก็จะทำให้การฆ่าเชื้อได้ดีกว่า

3. วิธีการใช้ความร้อน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องอบแก้ว ทำความสะอาดภาชนะต่างๆ อบผลไม้ สิ่งที่ต้องระวังก็คือ ความร้อนที่เกิดขึ้น มักจะทำให้ยางที่เป็นส่วนประกอบของหน้ากากอนามัยนั้นเสื่อมได้ ไม่ว่าจะเป็น หูยางยืด ด้านขอบต่างๆ มีการพิสูจน์ว่าฟิลเตอร์ที่อยู่ด้านในจะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพเมื่อเราทำความสะอาดหน้ากากอนามัยนั้นด้วยความร้อนสูง แต่การที่ใช้ความร้อนที่อุณหภูมิเกินกว่า 70 องศา เป็นเวลา 30 นาทีนั้น ข้อดีคือ ความร้อนสามารถฆ่าเชื้อได้ทุกๆ บริเวณ รวมทั้งบริเวณที่เป็นรอยพับด้วย ข้อเสียคือส่วนประกอบต่างๆ อาจจะเสื่อมสภาพได้ง่ายกว่า

เพราะฉะนั้นหากมีความจำเป็นต้องทำความสะอาด หน้ากากอนามัย วิธีที่แนะนำนั้นก็คือ การใช้รังสีอัลตราไวโอเลต และ การใช้ความร้อน การใช้รังสีอัลตราไวโอเลตค้องระวังอย่าให้เข้าดวงตาโดยตรง จะส่งผลเสียต่อดวงตาได้

 

วิธีที่มีการแชร์กันอยู่ในโลกออนไลน์นั้น ที่สามารถใช้ได้มีดังนี้  

1. การใช้สารฟอกขาวที่ใช้ในน้ำยาซักผ้าต่างๆ ถ้าเรานำไปแช่แล้วนำมาตากแดด สามารถที่จะฆ่าเชื้อโรค ไวรัสต่างๆ ได้ ซักแล้วตากแดดให้แห้งก็เป็นการฆ่าเชื้อได้วิธีหนึ่ง

วิธีทำคือ นำหน้ากากอนามัยของเราไปแช่สารฟอกขาว แล้วล้างทำความสะอาดเหมือนซักผ้า โดยถูเบาๆ ก็เพียงพอ โดยซักทำความสะอาดทั้งสองด้านแล้วล้างออก เสร็จแล้วก็นำมาตากแดดให้แห้ง สามารถที่จะนำมาใช้ใหม่ได้

2. การใช้หม้อหุงข้าว ดังที่รัฐมนตรีจากไต้หวันแนะนำนั้น ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า หม้อหุงข้าวจะทำให้เกิดความร้อนขึ้น ข้อที่จะต้องระวังอย่างยิ่งเลยก็คือ อุปกรณ์ที่ใช้จะต้องให้ความร้อนอย่างน้อย 70 องศาขึ้นไป และใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที

โดยก่อนใช้ควรตรวจสอบด้วยว่าหม้อหุงข้าวที่ใช้นั้น ให้ความร้อนถึง 70 องศาหรือไม่ และต้องอยู่อย่างน้อยขั้นต่ำ 30 นาที ปัจจุบันสามารถทดสอบอุณหภูมิได้โดยใช้เทอร์โมมิเตอร์วัด สามารถหาซื้อมาทดสอบได้ในราคา 100 บาท ซึ่งเทอร์โมมิเตอร์จะมีสายสอดเข้าไปในอุปกรณ์ที่เราต้องการทดสอบ เพื่อตรวจดูว่า ถ้าเราใช้อุปกรณ์นี้ความร้อนจะถึง 70 องศาหรือไม่

นอกจากนี้ สามารถประยุกต์ใช้หม้อนึ่งที่ชาวบ้านชอบใช้, หม้อหุงข้าว, เตาอบต่างๆ ถ้ามีการตรวจสอบว่ามีอุณหภูมิถึง 70 องศา ได้นาน 30 นาที ก็สามารถที่จะนำมาใช้ทำความสะอาดหน้ากากอนามัยได้

รศ.นพ.นริศ ฝากทิ้งท้ายว่า เราอยู่ในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยจำนวนมาก หน้ากากอนามัยที่เป็น Surgical mask หรือ N95 ในปัจจุบัน มีการใช้ในสถาบันทางการแพทย์ต่างๆ ในปริมาณมาก อยากจะให้ประชาชนที่อาจไม่ได้มีความเสี่ยงมากนัก สงวนการใช้หน้ากากทั้งสองชนิดนี้ไว้ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการใกล้ชิดกับผู้ป่วยมากที่สุด

ส่วนประชาชนทั่วไปให้ใช้เป็นวัสดุอื่นทดแทน โดยอาจจะเป็นการนำหน้ากากนี้มาทำความสะอาดแล้วนำมาใช้ใหม่เพื่อลดปริมาณการใช้ก็ได้ หรือจะใช้เป็นวัสดุทดแทน เช่น การใช้หน้ากากผ้า หรือนวัตกรรมอื่นๆ เป็นการช่วยบุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ได้ในทางอ้อมอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม รศ.นพ.นริศ ได้เน้นย้ำถึงวิธีการป้องกันการระบาดของเชื้อ อยากสนับสนุนให้ทุกๆ คน เมื่อไปในที่ใดก็ตาม ที่ไม่ได้อยู่ในบ้านตัวเอง หรือ ในที่นั้นมีคนตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป จะต้องสวมหน้ากากเพื่อป้องกันตัวเอง และป้องกันไม่ให้ผู้อื่นติดเชื้อ ซึ่งเราอาจเป็นพาหะอยู่ก็ได้ ฉะนั้นโรคติดต่อ จะไม่ติดต่อ ถ้าเราไม่ติดต่อกัน

 

วิธีการทำความสะอาด หน้ากากอนามัย เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ