การพัฒนา วัคซีน Chula-Cov19 กับความยากลำบากที่ต้องเผชิญ

การพัฒนา วัคซีน Chula-Cov19 กับความยากลำบากที่ต้องเผชิญ

วัคซีน Chula-Cov19 ขั้นตอนต่อไป คือ รอการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาว่า วัคซีนปลอดภัย และตรวจสอบโรงงานแล้วว่าไว้ใจได้ จึงจะสามารถเปิดรับสมัครจิตอาสามาทดสอบวัคซีน

 

ศูนย์วิจัย วัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยรัฐเพนซิลเวเนียของสหรัฐฯ พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ที่มีชื่อว่า Chula-Cov19 หรือ จุฬาโควิดนายทีน

ที่ผ่านมา การทดลองวัคซีนในลิงเห็นผลดี ขั้นตอนต่อไป รอหน่วยงานเกี่ยวข้องไฟเขียวการทดสอบในมนุษย์ (จิตอาสา) อย่างเร็วที่สุดน่าจะเป็นเดือนตุลาคมนี้

ศ. นพ. เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้ วัคซีนที่ขึ้นทะเบียนให้องค์การอนามัยโลกรับรู้ น่าจะเกิน 150 ชนิด ประเทศไทยมี 20 ชนิด ขึ้นทะเบียนไป 7 ชนิด โดยมีของจุฬาฯ 3 ชนิด นั่นคือ DNA mRNA และ โปรตีน ซึ่งก่อนหน้านี้ จุฬาฯได้ทดลองชนิด DNA ในหนู และได้ผลค่อนข้างดี ต่อมา ก็มาเลือก mRNA ส่วนโปรตีนนั้นทีมของคณะเภสัชฯ กำลังทำอยู่

 

การพัฒนา วัคซีน Chula-Cov19 กับความยากลำบากที่ต้องเผชิญ

 

เหตุผลที่เลือก mRNA

      เรามีความเชื่อว่า mRNA น่าจะเป็นเทคโนโลยีของอนาคตในการพัฒนาวัคซีน หรือแม้แต่การรักษาโรคอื่นๆ อย่างเช่น มะเร็ง เป็นต้น ตอบโจทย์ให้ในอนาคตการผลิต mRNA โรงงานไม่จำเป็นต้องใหญ่มากเลย เราจะสามารถปั๊ม mRNA ได้อย่างต่อเนื่อง

      เราโชคดี ที่มีเพื่อนนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งระดับโลก ซึ่งเป็นหมอภูมิแพ้เช่นเดียวกัน เป็นเจ้าของเทคโนโลยี mRNA นั่นคือ โปรเฟสเซอร์ ดรูว์ ไวส์แมน จากมหาวิทยาลัยรัฐเพนซิลเวเนีย โดยเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วได้ไปเทรนด์ที่เดียวกัน แต่ตอนนั้นเรายังไม่รู้จักกัน มารู้จักกันตอนหลังจากที่เริ่มทำวัคซีนแล้ว เราเลยเชิญเขามาคุยเมื่อ 3 ปีก่อน ทำวัคซีนภูมิแพ้และอย่างอื่น พอถึงช่วงโควิดก็ติดต่อเขาไปอีกว่า เรามาลุยเรื่องวัคซีน mRNA โควิดด้วยกันไหม เขาก็ตอบรับเห็นดีด้วย เพราะเขาเองก็ยังไม่ได้งบจากทางอเมริกาเช่นกัน ตอนนั้นทรัมป์ยังไม่ได้อัดเงินเข้ามาเยอะเท่าไหร่

      ดรูว์และทีมนักวิจัยไทย Chula VRC จับมือกัน โดยทีมไทยออกแบบวัคซีน แต่ใช้เทคโนโลยีของทางดรูว์ผลิต คุยกันปลายกุมภาพันธ์ เราตั้งใจว่าน่าจะลงในหนูได้ตั้งแต่มีนาคม แต่ตอนนั้นเผอิญว่า จีนล็อกดาวน์ อเมริกาเริ่มล็อกดาวน์ จึงทำให้ของที่สั่งจำพวกน้ำยาที่ต้องใช้ล่าช้า พึ่งได้ของตอนประมาณเมษายน

      ตอนนี้โควิดมี 2 สายพันธุ์ แต่ดูแล้วไม่ต่างกัน อย่าง เชื้อสายพันธุ์ตัวแรกเป็นของที่อู่ฮั่นระบาดรุนแรงช่วงแรก แล้วมีเชื้อบางตัวกลายพันธุ์ไปนิดหนึ่ง แล้วก็ไปกระจายที่ยุโรป อิตาลี ระบาดรุนแรงมาก จึงทำให้ปรากฏเป็น 2 สายพันธุ์ แต่ข่าวดีก็คือว่า 2 สายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ไปที่ตำแหน่งเดียว คือตำแหน่ง 614 ซึ่งไม่เกี่ยวกับตำแหน่งของวัคซีนที่จะออกฤทธิ์ เพียงทำให้ไวรัสแบ่งตัวเร็วขึ้น ติดเชื้อง่ายขึ้น เชื่อว่าทั่วโลกที่ระบาดตอนนี้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เชื้อที่ระบาดในปัจจุบันเป็นสายพันธุ์ที่ 2 คือสายพันธุ์ที่เรียกว่า G614 ซึ่งข้อมูลพึ่งออกมาอาทิตย์ที่แล้วนี่เองว่า ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากคนติดเชื้อโควิด และฉีดวัคซีนในสัตว์ก็สามารถที่จะยับยั้งเชื้อ 2 สายพันธุ์นี้ได้สบาย

     ๐ ผลของสัตว์เล็กในหนู ต้องบอกก่อนว่า แท้จริงแล้วหนูติดโควิดไม่ได้ แต่ที่เห็นหนูติดโควิดได้นั่นเพราะเขาทำขึ้นมา แล้วนำไปฉีดวัคซีนหลายตัว ที่สำคัญคือ พอฉีดวัคซีน mRNA เข้าไป ขนาดโดสต่ำๆ ก็สามารถช่วยป้องกันหนูไม่ให้ติดเชื้อได้ชัดเจนมาก ตอนนี้ในลิงพอฉีดให้ลิงที่ติดเชื้อ ปรากฏว่า ลดเชื้อในปอดกับในจมูกได้ชัดเจนมาก เราเลยคิดว่าโอกาสมันน่าจะมีเกิน 50-60 เปอร์เซ็นต์ ที่วัคซีนนี้จะสำเร็จ

      เชื่อว่าวัคซีนโควิดของเรา น่าจะมีโอกาสเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ที่จะมีวัคซีนหนึ่งตัวเข้าวิน ที่เราใจชื้นก็คือว่าใน 18-20 ชนิด ที่เข้าคนไปแล้วนั้น มี 4 ชนิด เป็นวัคซีน mRNA และอเมริกาที่จะลงเงินหลายหมื่นถึงเกือบแสนล้านเพื่อจะเลือกวัคซีน 7 ตัว มี 2 ตัว ที่เป็น mRNA ซึ่งเราคิดว่า เราน่าจะมีโอกาสลุ้น

 

การพัฒนา วัคซีน Chula-Cov19 กับความยากลำบากที่ต้องเผชิญ

 

ขั้นตอนที่ยากที่สุดของการทำ วัคซีน

การทดสอบวัคซีนในหนูและในลิงไม่ยาก เพราะระบบเราดีมาก ต่อไปถ้าเรามีวัคซีนตัวอื่นๆ การทดสอบในหนูในลิงเราก็จะสปีดเร็วแบบนี้ได้เลย แต่ส่วนที่ยากก็คือ

      ระบบใช้งบประมาณของประเทศไทยประสิทธิภาพต่ำมาก ในภาวะปกติก็ยากเย็นแสนเข็ญแล้ว แต่ในภาวะวิกฤตอย่างนี้ ก็ยังใช้ระบบงบประมาณปกติ อย่างในต่างประเทศ เขาจะเลือกเลยว่า วัคซีน 3-4 เจ้านี้มีโอกาสสูง เขาจะเอาแหล่งทุนมาคุย เลือกแบบโปร่งใส แล้วบอกเลยว่างบจะกันให้ตรงนี้นะ ไม่ใช่ให้ฟรีนะต้องโชว์ผลงานด้วย แต่ของไทยเราต้องไปขอทีละขั้น อันนี้คือจุดอ่อนที่รุนแรงที่สุด ต้องแก้ไข

      เราไม่มีโรงงานขนาดเล็กที่พร้อมที่จะผลิตวัคซีนได้เร็ว โรงงานเทคโนโลยีใหม่ mRNA ในโลก ตอนนี้นับได้ 8 โรงงาน แล้วทุกคนแข่งขันกันจึงจองกันยากมาก อันนี้เป็นความยาก ทำให้เรียนรู้เยอะมากในรอบไม่กี่เดือน ไม่รู้จักโรงงานเลย ยังดีที่มีเพื่อนอย่าง ดรูว์ ไวส์แมน จึงทำให้รู้จักโรงงาน เลยได้ส่งอีเมลถามโรงงานโดยตรง­­

“บริษัทแรกที่ซานดิเอโก้ ก็ส่งอีเมลตรงดุ่ยๆ ไปเลยนะ แล้วเขาก็ตอบมาว่าสนใจๆ แล้วยิ่งมารู้ว่าทำกับ ดรูว์ ไวส์แมน ที่มีชื่อเสียงมาก เขาก็ไว้ใจเรา ทั้งที่ตอนนั้นเงินเรายังไม่มีเลยนะ ต้องไปหาเงินมาจอง ตอนนั้นจุฬาฯ เขาลงเงินให้เราอยู่ส่วนหนึ่ง แล้วก็มีเงินบริจาค ถ้ารอเงินรัฐบาลก็ไม่ต้องหวังจะจอง อันนี้เล่าแบบเบื้องลึกให้ฟัง“ ศ. นพ. เกียรติ กล่าว

      ด้านการต่อรอง เทคโนโลยีบางอย่างถ้าเรามาเริ่มปลูกข้าวใหม่ มันไม่ทัน อย่าง mRNA มี 2 คือ ตัว mRNA เราโชคดีที่เราไม่ต้องเสียค่าสิทธิบัตรจาก โปรเฟสเซอร์ ดรูว์ ไวส์แมน มหาวิทยาลัยรัฐเพนซิลเวเนีย เขาไม่ได้จดสิทธิบัตรในประเทศไทย เขาจดในอเมริกากับยุโรป

“ส่วนที่จะมาหุ้มวัคซีนเรา คือ ไขมันขนาดจิ๋ว อันนี้เราต้องไปซื้อเทคโนโลยีมา โชคดีมีเพื่อนดีอีก ที่บริษัทนี้เคยทำงานกับ โปรเฟสเซอร์ ดรูว์ ไวส์แมน เขาก็ไว้ใจเราว่าเราไม่โม้ แต่ก็ต่อรองเงินกันเหนื่อยมาก มีแนวโน้มที่จะออกมาดี เราจะไม่ต้องจ่ายเยอะมากในตอนแรก แต่ถ้าวัคซีนขายได้จริงก็ต้องจ่ายเขา นั่นก็แฟร์ เพราะเราใช้เทคโนโลยีของเขา” ศ. นพ. เกียรติ กล่าว

      ตอนหาบริษัทโรงงานที่ใจป้ำ กล้าลงทุน ตอนแรกคุยนานเหมือนกัน ไบโอเนท-เอเชีย เขาก็คิดหนัก เขามี DNA ของเขาเองอยู่แล้ว พอเราคุยกับเขาหลายรอบเข้า ก็ทำให้ผู้บริหารเขาเห็นว่า mRNA เป็นวัคซีนอนาคต เขาเชื่อแล้วมาประชุมกับเรา เอาจริงเอาจัง ควักกระเป๋าให้ ในขณะที่รัฐบาลยังไม่ชัดเลยว่าจะส่งเสริมเงินเท่าไหร่

      ประเทศไทยต้องทำเฟส 3 หรือไม่ มันยากมากเลย เราจะเอาเงินมาจากไหน เพราะในเฟสที่ 3 นี้แพงมาก เราได้แต่หวังว่า ถ้าเฟส 1 เฟส 2 เราดูดี เราน่าจะคุยกับประเทศที่ระบาดเยอะ แล้วไปทำวิจัยร่วมกับเขา โดยที่เขาอาจจะเสียเงินร่วมกับเราหน่อย แล้วเราสัญญาว่าถ้าเรามีวัคซีนแล้ว เขาต้องได้ด้วย โดยรัฐบาลอเมริกาทางสถานทูตก็ติดต่อมาแล้วว่ามีอะไรที่เขาช่วยได้ระยะที่สาม เขาก็ยินดี

      เฟส 3 คือ ต้องทดลองในชุมชนหรือในประเทศที่มีโรคระบาดอยู่ ถ้าไม่มีโรคระบาด เราฉีดไปเสร็จจะเปรียบเทียบได้อย่างไรกับกลุ่มฉีดวัคซีนจริง ว่ามันป้องกันโรคได้หรือไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในตอนนี้ประเทศที่การระบาดเคิร์บลดลง อย่าง ประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ซึ่งเชื่อว่า วัคซีนญี่ปุ่นก็น่าจะมีปัญหาแน่ในระยะที่สามเช่นกัน เราก็มองประเทศที่เคิร์บการระบาดยังคงอยู่ในขาขึ้น อย่าง อินโดนีเซีย อินเดีย บราซิล เม็กซิโก ปากีสถาน แต่อเมริกาเราคงไม่ไปทำด้วย เพราะมันแพงมาก เราก็คงต้องเลือกประเทศที่หัวอกเดียวกันกับเรา งบไม่เยอะ แต่ปัญหาเขาเยอะ ตอนนี้ที่เล็งๆ ไว้ก็คือ อินโดนีเซีย อันดับหนึ่ง อินเดีย อันดับสอง บราซิลก็เป็นหนึ่งในนั้น

 

มองความสำเร็จตอนนี้อย่างไร

ศ. นพ. เกียรติ กล่าวว่า ความสำเร็จแค่มาถึงในลิงเราก็ต้องเรียกว่าไชโย เป็นด่านที่สองแล้ว ความสำเร็จที่เราอยากจะดูก่อนว่าเข้าคนได้จริงไหม ประเทศไทยเราโดนปรามาสมาโดยตลอด ตอนนี้คนไทยเองก็ปรามาสว่าวัคซีนเขาใช้เวลาเป็นสิบปี อยู่ๆ จุฬาฯ จะไปทดลองกับคนภายในไม่ถึง 9 เดือนได้จริงหรือเปล่า อันนี้เราก็อยากเห็นว่ามันเกิดไหม เราอยากเห็นว่ามันเป็นไปได้ โรคมันใช้เวลาแค่ 2-3 เดือน เข้าคนได้ ประเทศไทยจะทำได้ไหม อันนั้นเป็นด่านที่สามที่ถ้าเราทำได้ก็ถือว่าสุดยอดของประเทศไทยแล้ว ถึงเราจะไม่สำเร็จในระยะที่สาม ระยะที่หนึ่งผ่าน ระยะที่สองนี่ก็หมูแล้ว เราได้แต่หวังว่าเราไม่ต้องทำสาม ถ้าเราทำสำเร็จ เรามีโรงงานเอกชนไทยซึ่งกล้ามาก กล้าลงทุนก่อนที่รัฐบาลจะฟันธงเสียด้วยซ้ำว่าจะเอาด้วย แม้ตอนนี้รัฐบาลบอกจะให้เงินมา แต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีอะไรชัดเจนสักอย่าง เพราะระบบของงบประมาณ ซึ่งถ้าเขาผลิตได้จริง 10 ล้านโดสขึ้นไปภายในกลางปีหน้า อันนั้นคือฉลองชัยชนะของประเทศไทย ตอนนี้ไม่มีใครคิดหรอกว่าประเทศไทยจะมีวัคซีนโควิดที่เข้าคนแข่งกับโลกได้ แต่ถ้าตุลาคมหรือก่อนสิ้นปีนี้เราเข้าคนได้ แน่นอนว่า ธงไทยเราจะไปอยู่ในแมพของโลก ว่ามาจากไหนถึงมาแข่งโอลิมปิกแล้วมาเข้ากับเขาได้ด้วย

 

วัคซีน โควิด-19 ในประเทศไทย หากเราข้ามเฟสที่ 3 ไป คาดว่าเร็วสุดก็กลางปีหน้า ซึ่งก็ต้องดูด้วยว่า อย. หรือ สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา ใช้วิจารณญาณในการอนุมัติด้วย เพราะสุดท้ายต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยก่อน ความน่าเชื่อถือของทีมจุฬาฯ ว่ามันจริงไหม ไปดูในรายละเอียดอีกที

“สำหรับการทดสอบในคน ยังไม่สามารถเปิดรับสมัครจิตอาสามาทดสอบวัคซีน Chula-Cov19 ได้ เราจะเริ่มรับอาสาสมัครตามคิวได้ก็ต่อเมื่อ อย. อนุมัติว่าวัคซีนของเราปลอดภัย ตรวจสอบโรงงานแล้วว่าไว้ใจได้ ผลงานวิจัยไม่หมกเม็ดอะไร และกรรมการยุติธรรมคณะแพทย์ดูแล้วว่าทีมอาจารย์เกียรติข้อมูลเชื่อถือได้นะ แล้วหลังจากนั้น เราถึงจะประกาศรับสมัครได้ เชื่อว่าในระยะที่ 1 ระยะที่ 2 มีอาสาสมัครพร้อมได้เร็ว ถ้าเราเริ่มงานได้เร็ว ผลก็ออกมาเร็ว ย้ำว่า เราเอาความปลอดภัยของอาสาสมัครมาเป็นอันดับที่หนึ่งเสมอ ลุ้นวัคซีนได้ผลเป็นลำดับที่สอง คาดว่าเร็วสุดน่าจะประมาณเดือนกันยายน เราคุยกับ อย. หลายรอบแล้ว ซึ่ง อย. กรุณาเรามาก ภายใต้วิกฤตนี้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงประเทศจริงๆ อย. ตั้งทีมอย่างดี หารือกับเราเชิงรุกเลย เราต้องระดมคนมาเขียน ที่เล่ามาต้องเขียนให้เขาเห็น ให้เขาพิสูจน์ได้ ไม่เกิน 2-4 อาทิตย์นี้ ถ้าเอกสารเราพร้อมเราก็ส่ง อย.“ศ. นพ. เกียรติ กล่าว

ท้ายที่สุด ศ. นพ. เกียรติ ฝากให้คนไทยเริ่มเห็นคุณค่าของการพัฒนาเทคโนโลยี เราอย่ารอว่ามีวิกฤตแล้วเรามาพัฒนา นี่เราสะสมมา 15 ปี ถ้าคนไทยมีจิตใจนอกจากบริจาควัด บริจาคโรงเรียนแล้ว อยากให้บริจาควิจัย ให้นักวิจัยเก่งๆ มีอาชีพ มีงานทำ สมมุติถ้าเราเข้มแข็งต่อไปเราทำอะไร สุดท้าย ยังไงเสียช่วงวิกฤตโควิด การใส่หน้ากากป้องกันโรคได้แน่นอน ไม่ให้เราแพร่คนอื่น และไม่ให้เราหายใจเอาของคนอื่นเข้ามา การล้างมือ การเช็ดแอลกอฮอล์บ่อยๆ การอยู่ห่างกัน จนกว่าเราจะมีวัคซีนที่ปลอดภัย ซึ่งต่อให้โลกนี้มีวัคซีนปลายปีหน้าก็ไม่ใช่ทุกคนที่ได้วัคซีน ฉะนั้นการดูแลตนเอง การดูแลคนที่เรารัก การดูแลหน่วยงานที่เราอยู่ ต้องดูแลให้ปลอดภัยเอาไว้ก่อน นี่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ

การพัฒนา วัคซีน Chula-Cov19 กับความยากลำบากที่ต้องเผชิญ