- 31 ก.ค. 2563
14 ปี พีไอเอ็ม สร้าง New People สู่ New Normal เชื่อมโยงโลกกายภาพกับโลกเสมือนจริง
หลายเดือนที่ผ่านมา เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส Covid 19 ทำให้รู้ว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ ดูได้จากการเปลี่ยนแปลงไปหลายๆอย่างทั่วโลก มีการปิดเมือง ปิดประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค สถานที่ท่องเที่ยวและอีกหลายธุรกิจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม สิ่งเหล่านี้ล้วนผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงอีกมหาศาล และส่งผลต่อเนื่องมาถึงวิถีการสื่อสาร การเรียน การทำงาน การทำธุรกรรม และการบริโภค สิ่งแรกที่เห็นได้ชัดเจน คือ รูปแบบการใช้ชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่า “ความปกติใหม่” หรือ “New Normal” นำมาซึ่งความท้าทายสู่ชีวิตมนุษย์มาเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของคน ส่งผลไปถึงองค์กรที่ต้องปรับตัวรับมือ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) สถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งผลิตบัณฑิตเพื่อสังคม ด้วยรูปแบบการเรียน Work-based Education อย่างต่อเนื่อง จากการรับมือกับสถานการณ์ Covid 19 มีส่วนให้เปลี่ยนแปลงในเรื่องของรูปแบบการเรียนของนักศึกษามาเป็นการเรียนออนไลน์ การทำงานของบุคลากร ถูกเปลี่ยนเป็นการ Work from Home ทำให้ทุกคนต้องปรับตัวเชื่อมโยงโลกกายภาพ (ออฟไลน์) สู่โลกเสมือนจริง (ออนไลน์) ให้ได้อย่างสมบูรณ์
รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า โลกของเราต่อไปนี้จะมีตัวแปรหลายอย่างที่เป็นปัจจัยในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจและสังคมโลก เริ่มจาก 1.ดินฟ้าอากาศ ไม่ว่าจะเป็นอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) อากาศแปรปรวน และอากาศเป็นพิษ ที่ปัจจุบันเกิดปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 2.โรคภัยไข้เจ็บ แบ่งออกเป็นโรคประจำที่มนุษย์เราต้องเผชิญและโรคระบาดที่เกิดขึ้นใหม่ เพราะเส้นบางๆระหว่างเมืองกับป่าที่เบาบางลง สังเกตได้ว่าโรคระบาดที่เกิดขึ้นมาจากป่าเป็นส่วนใหญ่ 3.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก เมื่อเกิดความขัดแย้งจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมืองการปกครอง ระบบสังคม ระบบเทคโนโลยีและระบบการเงิน 4.พัฒนาการของเทคโนโลยี ที่จะก่อให้เกิด 5G Disruption เข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น 5.ความเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่คุณค่าโลก (Value Chain) เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของจึงนำมาสู่การเกิด Value Chain Disruption กระบวนการผลิต การบริโภค และความต้องการที่เปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้เป็นตัวแปรหลักกำหนดความเคลื่อนไหวของโลก
จากตัวแปรที่กล่าวมาจึงนำมาสู่คำว่า New Normal ซึ่งหลังสถานการณ์ Covid 19 จะมีอยู่ 15 เรื่องที่เป็นตัวกำหนดทิศทางเศรษฐกิจและสังคม อันได้แก่
1) DIGITALIZATION UNDER 5G TECHNOLOGY ระบบเทคโนโลยีดิจิทัลจะเร็วขึ้น
2) MEDICALIZATION เรื่องการแพทย์จะมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น
3) FINANCIALIZATION ระบบการเงินที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
4) URBANIZATION การขยายตัวของความเป็นเมืองเพิ่มมากขึ้น
5) VIRTUALIZATION โลกเสมือนจริงจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น
6) NEWDIVERSIFICATION (IN POLITICOECONOMIC) การกระจายตัวใหม่ในเรื่องของเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง
7) INDUSTRIALIZATION ระบบ Unmanned Technology จะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น
8) LOCALIZATION จะเกิดการพึ่งตัวเองมากขึ้น และ Internalization จะขยายตัวมากขึ้น
9) REGIONALIZATION จะมีความเชื่อมโยงกับภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น โดยมีปัจจัยทางภูมิศาสตร์เป็นตัวกำหนดที่สำคัญ
10) SOCIALIZATION การติดต่อทางสังคมจะเปลี่ยนไปมาก
11) INDIVIDUALIZATION คนจะมีความเป็นปัจเจกนิยมมากขึ้น
12) CUSTOMIZATION การผลิตที่มุ่งต้องการเฉพาะบุคคลจะมีมากขึ้น
13) HYGIENIZATION เรื่องของสุขภาพ ความสะอาด สุขอนามัยจะเพิ่มมากขึ้น
14) INSTITUTIONIZATION (SOCIO POLITICO ECONOMIC) ปัจจัยทางสถาบันต่างๆจะแปรเปลี่ยนไป
15) RAPID DISRUPTION กระบวนการแปรปรวนจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความเป็น New Normal
นอกจากตัวแปรและสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ต้องคิดไปถึงสถานการณ์ข้างหน้าว่าจะต้องเตรียมการอย่างไร เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้อย่างไร ในทุกๆองค์กร ต้องการคนอย่างไร พีไอเอ็ม ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาที่สร้างคนให้สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการเตรียมคนให้มี 12 คุณสมบัติ ในการสร้างคนยุค New Normal ดังนี้
1. ทักษะในการสื่อสาร (Communication Skills) ทุกวันนี้ทักษะการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ การฝึกงานจึงมีส่วนช่วยอย่างมากของการสร้างการสื่อสารชั้นดี นักศึกษาจะได้เจอผู้คน พบเจอลูกค้าที่แตกต่างกันทำให้ปรับตัวสื่อสารได้ดีมากขึ้น
2. ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Socialization) ในยุคนี้จะสังเกตได้ว่าเด็กยุคใหม่ค่อนข้างมีโลกส่วนตัวสูง อยู่กับตัวเองมากขึ้น การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมทำให้อยู่ร่วมกันทำงานร่วมกันได้ดี
3. อุดมมนุษยสัมพันธ์ (Human Relationship) ข้อ 1 ถึง ข้อ 3 เป็นเรื่องสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ถ้าคนที่สร้างมาสื่อสารเป็น ปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นได้และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีก็จะทำให้คนคนนั้นดำเนินชีวิตได้ง่ายขึ้นในทุกๆด้าน
4. เชื่อมั่นการปฏิบัติ (Practicality) การเรียนรู้ควบคู่กับการปฏิบัติงาน เป็นความเชี่ยวชาญของพีไอเอ็มที่ทำให้การสร้างคนที่ครบถ้วนสมบูรณ์
5. เด่นชัดในความมุ่งมั่น (Attention) ต้องเป็นคนมีความมุ่งมั่นสูง เมื่อมีความมุ่งมั่นตั้งใจจะทำให้ก้าวไปสู่จุดหมายได้อย่างรวดเร็ว
6. แรงดลบันดาลใจไม่ขาด (Inspiration) เมื่อมีแรงบันดาลใจ ก็ทำให้มีพลังขับเคลื่อนที่จะก้าวไปให้บรรลุเป้าหมาย
7. วิสัยทัศน์ชัดเจน (Visionary) ความสามารถในการมีวิสัยทัศน์ ต้องมีความ เห็นก่อน เห็นกว้าง เห็นไกล เห็นลึก จะช่วยให้กำหนดทิศทางในการดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง
8. โดดเด่นในจินตนาการ (Imaginary) มนุษย์สามารถมีจินตนาการ สร้างงานศิลปะ สร้างงานวรรณกรรมได้ หุ่นยนต์ AI ไม่มีจิตนาการมนุษย์เท่านั้นที่มี
9. เชี่ยวชาญการวิพากษ์ (Critical Thinking) ความสามารถในการวิพากษ์วิจารณ์ ต้องรู้ว่าถูกหรือผิดอย่างไร วิเคราะห์ได้อย่างเป็นระบบ
10. หลากหลายความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) มีความสามารถในการคิดได้หลากหลายและคิดค้นสิ่งแปลกใหม่ โดยสามารถนำไปประยุกต์กับสิ่งเดิมที่มีได้
11. มุ่งมั่นเรื่องนวัตกรรม (Innovation Development) สามารถคิดค้นนวัตกรรม นำเทคโนโลยีมาพัฒนาต่อยอดได้
12. มีสภาวะผู้นำที่ดี (Good Leadership) มีความสามารถในการเป็นผู้นำที่ดี
สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ก้าวมาสู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษายุคใหม่ปีที่ 14 พร้อมพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน เสริมศักยภาพและความพร้อมให้สอดคล้องกับผู้เรียน เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในหลากหลายด้าน ทั้งความสามารถในเรื่องภาษา ความสามารถในเรื่องการเงินและความสามารถในเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างคนให้สามารถปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบัน เชื่อมโยงโลกกายภาพ (ออฟไลน์) โลกจริงที่ไม่สามารถละทิ้งได้ สู่โลกเสมือนจริง (ออนไลน์) ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ เปลี่ยนแปลงคู่ขนานไปกับพัฒนาการของเทคโนโลยี ให้เข้าด้วยกันได้ดี พร้อมตอบโจทย์สังคมและองค์กรธุรกิจในยุค New Normal อย่างมีประสิทธิภาพ