- 11 ก.ย. 2563
SACICT ปลื้ม Crafts Bangkok 2020 ดันยอดขายงานศิลปาชีพและงานคราฟต์ ทะลุเป้ากว่า 67 ล้านบาท
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ประสบความสำเร็จจากการจัดงาน Crafts Bangkok 2020 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 – 6 กันยายนที่ผ่านมา เผยยอดจำหน่ายและสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพและงานศิลปหัตถกรรมร่วมสมัย เกินเป้าหมายที่วางไว้ กว่า 67 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ให้ความสนใจในงานศิลปหัตถกรรมไทยเพิ่มมากขึ้น โดยมีผู้เข้าชมงานมากกว่า 2 หมื่นราย
นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวถึง ความสำเร็จในการจัดงาน Crafts Bangkok 2020 ว่า SACICT ขอขอบคุณคนไทยและประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทยที่ให้ความสนใจในงานศิลปาชีพและงานศิลปหัตถกรรมร่วมสมัย ที่ให้การตอบรับเข้าร่วมงานและอุดหนุนผลิตภัณฑ์ภายในงาน Crafts Bangkok 2020 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 6 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา
Crafts Bangkok 2020 เป็นงานใหญ่ที่ SACICT จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี หรือเรียกได้ว่าเป็นงานคราฟต์ใหญ่ที่สุดของประเทศก็ว่าได้ เพราะรวบรวมทุกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปาชีพและงานศิลปหัตถกรรมไทย ที่มีการผสมผสานความคิดสร้างสร้างสรรค์และงานดั้งเดิม รวมมาไว้ในงานเดียว และเพื่อเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อและขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง Crafts Bangkok 2020 จึงเป็นอีกงานที่ช่วยเยียวยาธุรกิจงานหัตถกรรมของประเทศ เกิดการกระจายรายได้ไปยังสมาชิกศิลปาชีพและกลุ่มผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมในชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งตลอดระยะเวลา 4 วันของการจัดงาน เป็นที่น่าดีใจอย่างมากที่มีประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ นิสิตนักศึกษา ให้ความสนใจเข้าชมงาน กว่า 21,730 ราย เป้าหมายที่ตั้งไว้ 15,000 ราย และสามารถทำยอดขายภายในงานรวมกว่า 67,093,126 บาท เป้าหมายที่ตั้งไว้ 40 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ซื้อ ได้แก่ เครื่องประดับเงินและทอง เสื้อผ้าแฟชั่น งานจักสาน งานไม้ และเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น
ผอ.SACICT กล่าวเสริมว่า นอกจากความสำเร็จด้านยอดขายแล้ว สิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับ SACICT และบ่งบอกถึงการพัฒนาวงการศิลปหัตถกรรมของไทยที่เห็นผลเป็นรูปธรรม คือ การจัดงาน Crafts Bangkok 2020 ได้ยกระดับคุณภาพมาตรฐานของงานศิลปหัตถกรรมไทยให้เป็นที่ยอมรับในสายตาของชาวไทยและชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่มีการนำนวัตกรรมใหม่มาใช้ร่วมกับการผลิต เพื่อลดต้นทุน สามารถเพิ่มจำนวนการผลิตได้มากขึ้น รวมถึงสร้างมาตรฐานและคุณภาพให้กับชิ้นงานหัตถกรรมให้ดีขึ้น รูปแบบ ดีไซน์ และฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวัน แต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์คุณค่าความเป็นไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้คงเดิม
นอกจากนี้ ยังเป็นส่วนช่วยในการกระจายรายได้สู่กลุ่มชาวบ้าน ชุมชนผู้ผลิตงานหัตถกรรม ให้เกิดรายได้อยู่ดีกินดี ทำให้เศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน เกิดการอนุรักษ์ สืบสานงานศิลปาชีพและงานศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่คู่คนไทย และยังเป็นเวทีในการสร้างผู้ประกอบการงานหัตถกรรมรุ่นใหม่ ก่อให้เกิดธุรกิจด้านงานคราฟต์ มุ่งเน้นให้ประชาชนชาวไทยและกลุ่มคนรุ่นใหม่เกิดความตระหนักและร่วมกันสืบสานงานศิลปาชีพและงานศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่ในสังคมไทยอีกด้วย