- 08 มิ.ย. 2565
“ทส. จับมือภาคีเครือข่าย”ลงนามบันทึกความร่วมมือแก้ไขปัญหาขยะทะเล นำร่อง 5 ปากแม่น้ำ“วราวุธ” ย้ำนำนวัตกรรมเข้ามามีส่วนร่วมจัดการขยะทะเลให้เป็นศูนย์
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จับมือภาคีเครือข่าย ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการขยะทะเลฯ นำร่อง 5 ปากแม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่ทะเล ณ สวนสาธารณะลานโลมา ชายหาดป่าตอง ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต โดยมีนายวราวุธศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกียรติร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาขยะให้เป็นศูนย์ พร้อมสนับสนุนนวัตกรรมทุ่นกักขยะ ลดการเพิ่มจำนวนของขยะทะเล ภัยร้ายทำลายสิ่งแวดล้อมทางทะเล
นาย วราวุธศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.)ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจรทั้งขยะบนบกและขยะทะเล ในส่วนของรัฐบาลก็ได้กำหนดให้ปัญหาขยะมูลฝอย และขยะทะเลเป็นวาระแห่งชาติในการร่วมกันบริหารจัดการขยะในประเทศ และมีแผนบริหารจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรมทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2561-2573)
โดยตนได้มอบหมายนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการจัดการขยะในประเทศไทยให้เป็นศูนย์ โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ดังเช่นวันนี้ (8 มิ.ย. 65) ถือเป็นวันทะเลโลก ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “รวมพลังฟื้นฟู กอบกู้มหาสมุทร” โดยมีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการขยะทะเล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในบริเวณปากแม่น้ำ นำร่อง 5 ปากแม่น้ำสายหลัก ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เพื่อตระหนักถึงความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาขยะทะเล โดยดำเนินการลดปริมาณขยะในแม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่ทะเล ในบริเวณปากแม่น้ำโดยเร็ว ทั้งนี้ แม้ว่าที่ผ่านมา กระทรวง ทส. ได้ระดมทรัพยากรและเร่งดำเนินการอย่างเต็มความสามารถมาโดยตลอด แต่เมื่อพิจารณาถึงหลักการของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
จะต้องอาศัยความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม ดังนั้น หากภาคีเครือข่ายสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในขอบเขตที่กว้างและเข้มข้นขึ้น มากกว่าการบริจาคเงินทุนในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยสามารถร่วมดำเนินกิจกรรมต่างๆ กับหน่วยงานภาครัฐ เช่น การจัดหาและบริหารจัดการเครื่องมือดักขยะบริเวณปากแม่น้ำ การสนับสนุนเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม และการจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชมในพื้นที่ โดยบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริม ประสานความร่วมมือ และร่วมกันผลักดันการดําเนินงานตามโครงการฯ ให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ โดยมีกำหนดระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ เป็นต้นไป
ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมว่า จากความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญที่จะได้นำนวัตกรรมอย่างทุ่นกักขยะ (boom) เข้ามามีบทบาทในการจัดการแก้ไขปัญหาขยะในแหล่งน้ำ โดยนำร่องบริเวณพื้นที่ 5 ปากแม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่ทะเล ได้แก่ ปากแม่น้ำบางปะกง ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ปากแม่น้ำท่าจีน ปากแม่น้ำแม่กลอง และปากแม่น้ำบางตะบูน เพื่อแก้ไขปัญหาขยะทะเล ปรับเปลี่ยนระบบการจัดการขยะทะเลจากปลายทางไปสู่การจัดการขยะจากต้นทาง และมุ่งให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเชิงรุกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม กระทรวง ทส. ได้มุ่งมั่นในการที่จะแก้ไขและลดปัญหาขยะทะเลมาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาได้ดำเนินการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาด้านขยะให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาการ ให้ข้อเสนอแนะ และสนับสนุนข้อมูลเทคนิควิชาการ องค์ความรู้ต่างๆ รวมทั้งประสานความร่วมมือและส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่าย ภาครัฐ เอกชน กลุ่มอุตสาหกรรม เครือข่ายภาพประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรู้ความเข้าใจ และสร้างกระแสให้สังคมมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะ เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการขจัดปัญหาขยะทะเลอย่างยั่งยืนสืบไป
นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ กล่าวว่า ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนควรจะต้องร่วมกันดูแลรักษาให้คงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ วันนี้จึงเกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในรูปแบบใหม่ ตามหลักการของการเป็นภาครัฐที่เปิดกว้าง (OpenGovernment)
โดยการที่ภาคเอกชน ชุมชน และประชาสังคมจะเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาขยะทะเลบริเวณปากแม่น้ำ ตลอดห่วงโซ่ของการบริหารจัดการขยะ ซึ่งจะมีประสิทธิภาพกว่าการที่ภาครัฐดำเนินการเองแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยภาคเอกชนจะนำนวัตกรรม เทคโนโลยี องค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญมาช่วยบริหารจัดการขยะทะเลอย่างครบวงจร ซึ่งเป็นการมีส่วนร่วมที่เข้มข้นกว่าการทำกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) ด้วยการบริจาคเงินหรือทำกิจกรรมครั้งเดียวจบ ส่วนสำนักงาน ก.พ.ร. จะมีบทบาทในการเอื้อให้เกิดระบบนิเวศ ของการทำงานร่วมกัน บูรณาการการทำงานของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระยะต่อไปด้วย
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ก.ล.ต. มุ่งมั่นพัฒนาระบบนิเวศที่เกื้อหนุนให้ตลาดทุนยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจคำนึงถึงการประกอบธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม (ESG)รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการรักษาสภาพแวดล้อมในสังคม
ซึ่งปัญหาขยะทะเลในปัจจุบันนับเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเร่งด่วนที่ต้องอาศัยความมุ่งมั่นและพลังขับเคลื่อนร่วมกันของทุกภาคส่วน ความร่วมมือครั้งนี้ จึงถือเป็นการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นรูปธรรมในการร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะทะเลเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางธรรมชาติ อันเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อุปนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงประเทศไทย คือ การสานพลังของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน มาร่วมกันแก้ไขปัญหาสำคัญต่าง ๆ ของประเทศ โดยในโครงการนี้ สมาคมบริษัทจดทะเบียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมรณรงค์ชักชวนบริษัทต่างๆ ในภาคเอกชนให้มาช่วยทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐ ในการดูแลป้องกันขยะในแม่น้ำไม่ให้ไหลลงไปสู่ทะเล
ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรมในการจัดการกับขยะ โดยเริ่มต้นจาก 5 ปากแม่น้ำสำคัญ และจะได้ขยายผลไปยังปากแม่น้ำและลำคลองสำคัญอื่น ๆ ซึ่งการประสานงานกันในลักษณะนี้ จะช่วยนำพลังเล็ก ๆ แต่ละคนมาสาน เป็นแรงขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงปัญหาหลักของประเทศ
และจะเป็นต้นแบบให้กับโครงการอื่นๆการผนึกกำลังระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคีเครือข่าย ถือเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกัน และนำนวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการปัญหาขยะทะเล ซึ่งภายหลังจากที่หน่วยงานได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือแก้ไขปัญหาขยะทะเลฯ แล้ว จากนั้นมีการลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการขยะทะเลโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในบริเวณปากแม่น้ำ จำนวน 6 บริษัท ได้แก่ บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
โดยทั้ง 6 บริษัท จะร่วมมือกับหน่วยงานใน MOU ในการดำเนินโครงการติดตั้งทุ่นกักขยะ (Boom) และการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องในบริเวณปากแม่น้ำสายหลักบริเวณอ่าวไทยตอนบน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ในการแก้ไขปัญหาขยะทะเลและลดผลกระทบจากขยะทะเลต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป