- 08 พ.ย. 2565
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้ กทม. ผลิตฝุ่น ตลอดทั้งปี แต่จะหนาแน่นเฉพาะช่วง ธ.ค. - ก.พ. ที่อากาศกดทับฝุ่นไม่ระบาย พร้อมประสานคุมเข้มตรวจสภาพ - เปลี่ยนไส้กรองรถ ลด PM2.5
ภายหลังมอบนโยบาย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และสถานการณ์ไฟป่า ว่า ในส่วนของการรับมือฝุ่น PM2.5 ในปี 2566 เฉพาะพื้นที่ตัวเมืองใหญ่ อย่าง กรุงเทพมหานคร สถานการณ์จะหนักหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และต้องเข้าใจว่าปริมาณฝุ่นในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ เกิดขึ้นตลอดทั้งปี
ส่วนใหญ่เกิดจากการจราจร จากเครื่องยนต์ดีเซลจากรถกระบะ และรถยนต์ขนาดเล็ก ซึ่งมีการผลิตฝุ่นละอองขนาดเล็กออกมาต่อเนื่องตลอดทั้งปี และเมื่อมีอากาศกดทับ มีแรงกดอากาศสูงเข้ามา ทำให้ฝุ่นเหล่านี้ไม่สามารถระบายออกไปยังชั้นบรรยากาศได้ ก็จะส่งผลให้เกิดสภาพอากาศในลักษณะของฝุ่น หมอกควันอย่างที่เห็น
"ดังนั้นสถานการณ์ในปี 2566 จะมากจะน้อยอย่างไร หลัก ๆ ต้องประเมินว่าสภาพอากาศในเดือนธันวาคม 2565 - มกราคม 2566 ที่จะถึง มีแรงกดอากาศจากประเทศจีนมาหรือไม่ และต้องย้ำว่าปริมาณฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ด้วยสภาพอากาศ ทั้งฝนตก และลมแรง ทำให้ไม่มีการสะสมของฝุ่นละอองในพื้นที่ แต่มาตรการที่เราจะรับมือในปี 2566 จะเป็นการทำให้ฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นอยู่ตามปกติ มีปริมาณลดลง
ยกตัวอย่าง ผู้ประกอบการค้าน้ำมัน เช่น ปตท. และ บางจาก จะนำเอาน้ำมันที่มีปริมาณกำมะถันต่ำ หรือได้มาตรฐาน ยูโร 5 มาจำหน่ายในช่วงเดือน ธันวาคม 2565 - กุมภาพันธ์ 2566 ให้กับพี่น้องกรุงเทพมหานคร โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยหวังว่าเมื่อรถมีพลังงานที่สะอาด ไอเสียที่ออกมาก็จะมีคุณภาพที่ดีขึ้น"
นายวราวุธ ยังระบุด้วยว่า นอกจากนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะประสานบริษัทผู้ประกอบการยานยนต์ 11 บริษัท จัดโปรโมชันพิเศษ ในการรับรถที่มีรอบอายุการใช้งาน เข้าไปรับบริการ เปลี่ยนไส้กรอง ทำความสะอาดเครื่องยนต์ เมื่อทำได้ทั้ง 2 อย่างก็มั่นใจว่าฝุ่น PM2.5 ในเมืองใหญ่จะลดลงไปได้มากพอสมควร และจะต้องเข้มงวดมากที่สุด คือ ยานพาหนะของทางราชการ ที่จะต้องมีการตรวจวัด หากไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด จะต้องมีการแก้ไขภายใน 30 วันทันที
ส่วนพื้นที่เมืองใหญ่ตามต่างจังหวัด อย่าง จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากเรื่องการจราจร ยังมีเรื่องการเผาไหม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และพื้นที่ทางการเกษตร จึงประสานขอความร่วมมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อลดการเผาในที่โล่ง และเร่งประชาสัมพันธ์แอปพลิเคชัน “Burn Check” เพื่อให้เกษตรกรเข้ามาลงทะเบียนและจองเวลาในการเผาให้เหมาะสม ก็จะสามารถลดปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้นได้
ขณะที่ปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุม ขณะนี้ยังเป็นปัญหาหมอกควันที่ลอยข้ามแดนเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประเทศไทยทำได้เพียงการส่งเอกสารไปยังเลขาธิการอาเซียน เพื่อขอความร่วมมือไปยังรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่เราสามารถตรวจจับจุดความร้อนได้
ซึ่งประเด็นที่เป็นห่วงเวลานี้ คือ 3 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2563 - 2565 ปริมาณจุดความร้อนในประเทศไทยลดไป 80% แปลว่าปริมาณเชื้อเพลิงที่สะสมอยู่ในพื้นที่ป่า ไม่ว่าจะเป็นป่าอนุรักษ์ หรือป่าสงวน มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นในช่วงปี 2566 และฤดูกาลเผาที่จะถึง ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่อยู่ในพื้นที่เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเผาทั้งที่ตั้งใจ และไม่ตั้งใจ โดยให้ปฏิบัติตามโครงการชิงเก็บ ลดเผา เช่นที่ทำมา
เมื่อถามว่าในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล มีการวางแนวทางและแบ่งการทำงานอย่างไร นายวราวุธ อธิบายว่า ในส่วนกรุงเทพมหานคร ก็ต้องขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยกระทรวงทรัพยากรฯ มีกรมควบคุมมลพิษ ที่สามารถให้ข้อมูลสนับสนุน แต่การบริหารจัดการเช่นการสั่งปิด สั่งห้าม สั่งหยุด ไม่ได้อยู่ในอำนาจของกระทรวง ก็ต้องขอความร่วมมือไปยังหน่วยงาน เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือ กรุงเทพมหานคร ที่มีอำนาจตามกฎหมาย มาดำเนินการกวดขันในเรื่องดังกล่าว
ส่วนการดูแลกลุ่มเปราะบางในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานมาหลายวันแล้ว นายวราวุธ ระบุว่า ต้องขอความร่วมมือไปยังจังหวัดที่เป็น Single Command ในระดับพื้นที่ ดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่นกระทรวงสาธารณสุขจะต้องหาพื้นที่ปลอดภัย หรือ เซฟโซน ให้กับประชาชน โดยเฉพาะช่วงเวลาที่มีปริมาณฝุ่น PM2.5 สูงเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ก็จะต้องให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางมาอยู่ในเซฟโซนที่จังหวัดจัดไว้ จนกว่าอากาศจะกลับมาอยู่ในสภาวะที่ไม่เป็นผลกระทบกับร่างกาย
นายวราวุธ ยังแนะนำประชาชนเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 โดยยังคงแนะนำเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากาก N95 โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยทางเดินหายใจ และขอให้ผู้ใช้รถที่มีอายุการใช้งานสูงเข้าไปดูแลสภาพรถเป็นต้น ส่วนเรื่องการ Work From Home ยังเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาไปตามสถานการณ์ เพราะหากดำเนินการจะต้องทำควบคู่กับการปิดโรงเรียน หากสถานการณ์ไม่รุนแรงมาก ก็ยังสามารถออกมาเรียนมาทำงานได้ตามปกติ พร้อมย้ำว่ากระทรวงทรัพยากรฯ ไม่ได้มีการเสนอในเรื่องนี้ แต่หากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เกิดรุนแรงมากขึ้นก็จะมีการหารือมาตรการที่เหมาะสมอีกครั้ง