- 13 ก.ค. 2566
สำนักงานกขค. ตัวแทนไทยประชุมกฎหมายแข่งขันทางการค้าบนเวทีโลก เสริมแกร่ง สร้างความเข้มแข็งให้การแข่งขันทางการค้าไทยมีมาตรฐานสากล
สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เข้าร่วมการประชุมในฐานะคณะผู้แทนประเทศไทย กลุ่มผู้เชี่ยวชาญระหว่างรัฐบาลด้านกฎหมายและนโยบายการแข่งขันทางการค้า สมัยที่ 21 (Intergovernmental Group of Expert on Competition Law and Policy 21st session) ภายใต้การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development หรือ UNCTAD) ณ องค์การสหประชาชาติประจำยุโรป (UN) นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
โดยมีนายไมตรี สุเทพากุล ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิษณุ วงศ์สินศิริกุล เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า และนายลัทธพล วงศ์อนันต์ นักวิชาการแข่งขันทางการค้า เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ เมื่อวันที่ 5-7 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิษณุ วงศ์สินศิริกุล เลขาธิการ กขค. กล่าวว่า วาระสำคัญสำหรับการประชุมครั้งนี้มีประเด็นการผูกขาดโดยผู้ซื้อรายเดียว (Monopsony Power) ซึ่งโครงสร้างของตลาดลักษณะนี้ จะทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบผู้ขายปัจจัยการผลิตหรือผลผลิตได้ง่าย และประเด็นปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นในการแข่งขันทางการค้า เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายการแข่งขันทางการค้าและนโยบายอุตสาหกรรม
ในขณะเดียวกัน ทางคณะผู้แทนฯ ยังได้ประชุมทวิภาคีร่วมกับ นาง Teresa Moreira ซึ่งเป็น Head of Competition and Consumer policies branch, Division on International Trade and Commodities และ นายรองวุฒิ วีรบุตร เอกอัครราชทูต รองผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา กระทรวงการต่างประเทศเพื่อหารือในประเด็นความเป็นไปได้ในการทำงานร่วมกันในอนาคต
นอกจากนี้ คณะผู้แทนฯ ยังได้เดินทางเข้าหารือกับ นาย Ashish Shah ซึ่งเป็น Director, Division of Country Programmes และเจ้าหน้าที่ของศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศ (International Trade Centre: ITC) เพื่อวางแผนการดำเนินการในระยะที่เหลืออยู่ของโครงการ ในประเด็นการศึกษาความเป็นไปได้และแผนการดำเนินงานในการจัดตั้งสถาบันการแข่งขันทางการค้านานาชาติขึ้น โดย ITC เป็นหน่วยงานดำเนินโครงการ Arise Plus Thailand ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางเทคนิคจาก สหภาพยุโรป (EU)
เลขาธิการ กขค. กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมระหว่างประเทศในครั้งนี้ นับเป็นประโยชน์ต่อสำนักงาน กขค. อย่างยิ่งสำหรับประเด็นที่ได้หารือต่าง ๆ ซึ่งจะได้นำองค์ความรู้ที่แลกเปลี่ยนมาเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสำนักงานฯ ให้มีมาตรฐานสากลทัดเทียมหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้านานาชาติ