- 12 ก.พ. 2562
อดีตผู้ใหญ่บ้านทำอาชีพเสริมใช้พื้นที่ 6 ไร่หลังบ้านตนเอง เลี้ยงโคขุนเนื้อ 2 สายพันธุ์ต่างชาติ โตไวใหญ่ถึก โตเร็วกว่าพันธุ์พื้นเมือง แต่ผู้เลี้ยงต้องเลี้ยงด้วยใจรักและดูแลเป็นพิเศษอย่างสม่ำเสมอ และยังต่อยอดกระจายรายได้ให้แก่ชุมชนอีกด้วย
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ฟาร์มเลี้ยงโค หนูวงษ์ฟาร์ม เลขที่ 29 บ้านไสบ่อลึก หมู่ที่ 7 ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง นายสนอง หนูวงษ์ อดีตผู้ใหญ่บ้าน ม.7 อายุ 55 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงโคนาหมื่นศรี กล่าวว่า ฟาร์มนี้ได้ตั้งชื่อตามนามสกุล หนูวงษ์ฟาร์ม โดยเริ่มเปิดมาประมาณ 3 ปีแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ทำอาชีพค้าขาย และมีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านด้วย และเมื่อลาออกจากตำแหน่ง ก็ได้มาเสริมด้วยการเลี้ยงโค เนื่องจากชอบ และคิดว่าเราน่าจะมาทำอาชีพอะไรสักอย่างที่จะเป็นแบบอย่างให้พี่น้องประชาชนในหมู่บ้าน ในชุมชน ได้ดู จึงใช้พื้นที่จำนวน 6 ไร่ ในการเลี้ยงโคขุนเนื้อ
สำหรับการเลี้ยงโคมีวัฏจักรอยู่หลายเรื่องด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ เราสามารถหาเศษพืชผลทางการเกษตรที่เหลือใช้ เช่น ฟางข้าว และในสวนยางพารามีหญ้าเราไปถางหญ้าแล้วเก็บมาให้โคได้ และส่วนของมูลโค สามารถปล่อยทิ้งให้เป็นปุ๋ยได้ และหากเก็บไว้ก็สามารถขายได้ตกกระสอบละ 40 บาท ปัจจุบันเลี้ยงโคอยู่จำนวน 30 ตัว มี 2 สายพันธุ์ คือ โคสายพันธุ์อเมริกันบราห์มัน และ โคสายพันธุ์ชาร์โรเล่ส์ โดยจะให้อาหารวันละ 2 มื้อเช้าและเย็น อาหารที่ให้ก็จะเป็นอาหารผสมหรืออาหารข้น และหญ้า ฟาง เป็นอาหารหยาบ ส่วนการดูแลนั้นผู้ที่เลี้ยงโคจะต้องดูแลเป็นพิเศษและต้องเลี้ยงด้วยใจรัก ต้องดูแลตลอดเวลา คอยตรวจดูอาการว่าแต่ละวันโคมีสุขภาพเป็นอย่างไร สมบูรณ์หรือไม่ ถ้าไม่สมบูรณ์ต้องดูแลว่าเป็นอะไร และต้องแก้ไขให้ทันถ่วงที หากปล่อยไว้จะเป็นมากขึ้น ก็ยากที่จะแก้ไข
ทั้งนี้โคที่เลี้ยงจะมีทั้งขายเนื้อ และขายสายพันธุ์ ซึ่งราคาขายโคเนื้อวัวขุนเสร็จ อายุประมาณ 2 ปี เข้าขุนต่ออีก 4 เดือน ขายทั้งตัวราคาอยู่ที่ กิโลกรัมละ 90 บาท หากเป็นเนื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 250 บาท โดยโคเนื้อจะมีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 400 กิโลกรัม ถึง 700 กิโลกรัม ราคาต่อตัวอยู่ที่ประมาณ 30,000 กว่าบาท ไปจนถึง 60,000 กว่าบาท ส่วนโคสายพันธุ์จะขายเป็นที่หย่านมแล้ว ตัวละ 25,000 บาท ซึ่งน้ำหนักโคที่ส่งขายตอนนี้ทางสหกรณ์มี 2 แบบคือ ที่ส่งขายไปยังประเทศมาเลเซีย เริ่มเข้าขุน ตั้งแต่น้ำหนักอยู่ที่ 270 – 330 กิโลกรัม เมื่อขุนแล้วน้ำหนักจะไม่เกิน 400 กิโลกรัม และอีกแบบโคที่ขุนส่งชำแหละที่ สหกรณ์ศรีวิชัย จ.พัทลุง น้ำหนักจะอยู่ตั้งแต่ 400 – 700 กิโลกรัม ส่วนรายได้ก็พออยู่ได้เนื่องจากเป็นอาชีพเสริม เพราะใช้แรงงานและลงมือทำเองทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งกลุ่มเลี้ยงโค ซึ่งในปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่ม ทั้งหมดจำนวน 60 คน แบ่งเป็น 2 แบบคือ สมาชิกสามัญ ในพื้นที่ตำบลนาหมื่นศรี โดยจะถือหุ้นอย่างน้อย 10 หุ้น จำนวน 100 บาท และสมาชิกสมทบเป็นสมาชิกเลี้ยงโคลูกผสม จะต้องถือหุ้นอย่างน้อย 100 หุ้น จำนวน 1,000 บาท โดยในจังหวัดตรังมีเกษตรที่เลี้ยงโคขุนเนื้อและโคสายพันธุ์ ทั้งหมดจำนวน 724 ตัว
หากเกษตรกรที่สนใจเรียนรู้สามารถติดต่อมายัง กลุ่มเลี้ยงโคขุน หนูวงษ์ฟาร์มได้ ที่เบอร์โทรศัพท์ 0815976869 และต่างอำเภอจะมีกลุ่มตัวแทนกลุ่มเครือข่ายประจำอำเภอให้เกษตรกรสะดวกในการติดต่ออีกด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-จ.สกลนคร จัดงานมหกรรมการผลิต การบริโภคเนื้อโคขุน โดยเน้นคุณภาพและเปิดตลาดการจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกร
ภาพ/ข่าว สุนิภา หนองตรุด ผู้สื่อข่าวภูมิภาค สำนักข่าวทีนิวส์ จ.ตรัง