- 29 ก.ย. 2564
เขื่อนป่าสักฯ ระบายน้ำเพิ่ม ให้ประชาชนท้ายเขื่อนสองฝั่งแม่น้ำป่าสักย้ายสิ่งของไว้ที่สูง ด้านตลาดต้นตาลน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบางส่วนแล้ว
29ก.ย.64 สถานการณ์น้ำของ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพิ่มการระบายน้ำขณะนี้ 600 ลบ.ม./วินาที จะเพิ่มตามลำดับและอาจถึงระดับ1,200 ลบ.ม./วินาที ท้ายน้ำสองฝั่งแม่น้ำป่าสักขนของขึ้นที่สูงด่วน ขณะนี้พื้นที่แรกตำบลแสลงพัน ได้รับผลกระทบแล้ว ขอให้ประชาชนท้ายเขื่อนสองฝั่งแม่น้ำป่าสักเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
โดย นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ตรวจดูการระบายน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ลงสู่แม่น้ำป่าสัก ที่บริเวณประตูระบายน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยมีนายอนุสรณ์ ตันติวุฒิ วิศวกรชลประทานเชี่ยวชาญ รายงานสถานการณ์น้ำหลังจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้มีการระบายน้ำเพิ่มเป็น 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อรองรับน้ำที่จะไหลลงเขื่อนเพิ่มเติมจากจังหวัดเพชรบูรณ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา และลพบุรี ส่งผลให้เมื่อคืนที่ผ่านมาระดับน้ำแม่น้ำป่าสักช่วงหลังเขื่อนเอ่อล้นตลิ่งท่วมหลายพื้นที่
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้เพิ่มการระบายน้ำตามลำดับจาก 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักมีระดับน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เอ่อท่วมสองฝั่ง เช่นตลาดต้นตาล อำเภอเสาไห้ และขณะนี้ปริมาณน้ำหลากที่เกิดจากฝนตกหนักใน เขตพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ อ.ลำสนธิ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ อันเนื่องมาจากผลกระทบจากพายุ เตี้ยนหมู่ ทำให้เกิดฝนตกหนักและมีปริมาณฝนสะสม 3 วัน มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมีเเนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เขื่อนป่าสักจึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำ และวันที่ 29 กันยายน 2564 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้รายงานว่า มีปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักฯเพิ่ม 99.27% ของความจุ จึงต้องเร่งระบายน้ำและอาจเพิ่มถึง 1200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งก็จะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ อ.วังม่วง อ.แก่งคอย อ.เมืองสระบุรี อ.เสาไห้ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้น
กระทั่งล่าสุดช่วงบ่ายวันที่ 29 กันยายน 2564 เขื่อนได้เพิ่มการระบายอีก ทำให้น้ำได้เอ่อล้นเข้ามาท่วมพื้นที่แรก คือ สองฝั่งแม่น้ำป่าสัก พื้นที่ตำบลแสลงพัน อำเภอวังม่วง ขณะนี้น้ำกำลังเพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงขอให้ประชาชนที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำป่าสักด้านหลังเขื่อน ได้ทำการขนย้ายสิ่งของขึ้นสู่ที่สูงโดยด่วน เนื่องจากปริมาณน้ำเหนือเขื่อนยังมีปริมาณมากและการกักเก็บน้ำเต็มแล้ว
ด้าน นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้รับแจ้งจากกรมชลประทาน ว่า ในช่วงที่ผ่านมาพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” และหย่อมความกดอากาศต่ำ เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยทำให้มีฝนตกหนาแน่น และเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่
โดยคาดว่าจะมีปริมาณน้ำท่าไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระหว่างวันที่ 27 กันยายน 2564 ถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2564 รวมจำนวน 515 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากยังคงระบายน้ำในอัตรา 8.64 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จะทำให้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำเต็มอ่างในวันที่ 30 กันยายน 2564
ดังนั้น เพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำที่จะไหลลงเขื่อนได้โดยไม่ทำให้น้ำเต็มเขื่อน กรมชลประทานจึงจะเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนฯ เป็น 34.56 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือประมาณ 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีโดยจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งเมื่อน้ำจำนวนนี้ไหลลงไปรวมกับปริมาณน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสักแล้ว จะควบคุมให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหกในอัตราไม่เกิน 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสักตั้งแต่ท้ายเขื่อนพระรามหกในชุมชนนอกคันกั้นน้ำบริเวณวัดสะตือ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 2.00 - 2.50 เมตร โดยระดับน้ำที่สูงขึ้นดังกล่าว จะไม่กระทบกับพื้นที่บริเวณตั้งแต่ท้ายน้ำวัดสะตือ ไปจนถึงจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพิจารณาแล้ว เห็นว่าเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ จึงขอแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้านที่ประกอบกิจการในแม่น้ำป่าสัก อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร เป็นต้น รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก ขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด