วีรชนผู้ถูกลืม!! เปิดตำนานวีรกรรม "ขุนรองปลัดชู" กับกองกำลังอาทมาต ๔๐๐ คน สู่ "วัดสี่ร้อย" อนุสรณ์ของผู้กล้าแห่งเมืองวิเศษไชยชาญ !!

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

วีรชนผู้ถูกลืม!! เปิดตำนานวีรกรรม "ขุนรองปลัดชู" กับกองกำลังอาทมาต ๔๐๐ คน สู่ "วัดสี่ร้อย" อนุสรณ์ของผู้กล้าแห่งเมืองวิเศษไชยชาญ !!

             หลายคนเคยรู้จัก หรือเคยได้ยินวีรกรรมของวีรบุรุษผู้กอบกู้แผ่นดินมาบ้าง อย่างเช่น พระยาพิชัยดาบหัก หรือวีรกรรมของของชาวบ้านบางระจัน อีกหนึ่งคนที่หลายคนไม่ค่อยรู้จักนั่นก็คือ "ขุนรองปลัดชู" เป็นผู้นำในคณะกรมการเมืองวิเศษไชยชาญ (ปัจจุบันคืออำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง) มีชีวิตในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) ซึ่งได้รวบรวมไพร่พลเข้าเป็นกองอาสาสมัคร ๔๐๐ คน สังกัดกองอาทมาต เพื่อเข้าร่วมทัพกรุงศรีอยุธยาต่อต้านการบุกครองของกองทัพพม่าในสงครามพระเจ้าอลองพญา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๒ นับว่าเป็นผู้ที่เสียสละเลือดเนื้อเพื่อปกป้องแผ่นดินไทยจากข้าศึก ถึงแม้จะไม่สามารถปกป้องแผ่นดินไว้ได้ แต่ด้วยหัวใจรักชาติของเหล่าวีรชนผู้กล้า ทำให้ไทยเป็นไทยมาถึงทุกวันนี้

วีรชนผู้ถูกลืม!! เปิดตำนานวีรกรรม "ขุนรองปลัดชู" กับกองกำลังอาทมาต ๔๐๐ คน สู่ "วัดสี่ร้อย" อนุสรณ์ของผู้กล้าแห่งเมืองวิเศษไชยชาญ !!

              ตามข้อมูลในท้องถิ่นอำเภอวิเศษชัยชาญมีว่า "ขุนรองปลัดชู" มีชื่อตัวว่า "ชู" เป็นครูดาบอาทมาตผู้มีฝีมือในเขตเมืองวิเศษไชยชาญ มีลูกศิษย์จำนวนมากและเป็นที่เคารพนับถือโดยทั่วไปในแถบนั้น นายชูได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรมการเมืองวิเศษไชยชาญตำแหน่ง "ปลัดเมือง" ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ชาวบ้านจึงเรียกโดยทั่วไปว่า "ขุนรองปลัดชู"

              เมื่อสามารถระดมไพร่พลเข้าเป็นอาสาสมัครกองอาทมาตได้ ๔๐๐ คนแล้ว ขุนรองปลัดชูได้นำกำลังของตนเข้าสมทบกับกองทัพของพระยารัตนาธิเบศร์ (พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียมและพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ออกชื่อเป็น พระยาธรรมา) ซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปตั้งทัพสกัดกองทัพพม่านำโดยเจ้ามังระราชบุตรและมังฆ้องนรธา อันยกมาทางเมืองมะริดและตะนาวศรี หลังจากตีทัพของพระยายมราชแห่งอยุธยาที่แก่งตุ่มแขวงเมืองตะนาวศรีแตกแล้ว ทัพดังกล่าวจึงเดินทางข้ามด่านสิงขรมุ่งสู่เมืองกุยบุรี เพื่อใช้เส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา พระยารัตนาธิเบศร์ซึ่งรั้งทัพอยู่ที่กุยบุรีจึงส่งกองอาทมาตของขุนรองปลัดชูให้มาสกัดทัพอยู่ที่อ่าวหว้าขาว (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)

 

วีรชนผู้ถูกลืม!! เปิดตำนานวีรกรรม "ขุนรองปลัดชู" กับกองกำลังอาทมาต ๔๐๐ คน สู่ "วัดสี่ร้อย" อนุสรณ์ของผู้กล้าแห่งเมืองวิเศษไชยชาญ !!

              กองอาทมาตของขุนรองปลัดชูได้ปะทะกับกองทัพพม่าซึ่งมีกำลังราว ๘,๐๐๐ คน ตั้งแต่เช้าจรดเที่ยงก็ยังไม่แพ้ชนะ แต่ด้วยจำนวนที่น้อยกว่าและไม่ได้รับกำลังเสริมจากทัพของพระยารัตนาธิเบศร์ (พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียมและพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า ได้รับไพร่พลจากทัพหลักเป็นกองหนุนสมทบอีก ๕๐๐ คน) กองอาทมาตจึงตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบเพราะความอ่อนล้า และถูกฝ่ายตรงข้ามไล่ต้อนลงทะเลฆ่าฟันจนเสียชีวิตทั้งหมดในวันนั้น ด้านทัพของพระยารัตนาธิเบศร์ เมื่อทราบว่ากองอาทมาตของขุนรองปลัดชูแตกพ่าย จึงได้เร่งเลิกทัพหนีกลับมายังกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับทัพของพระยายมราช และกราบทูลรายงานการศึกว่า "ศึกพม่าเหลือกำลังจึงพ่าย" ส่วนกองทัพพม่าเมื่อผ่านเมืองกุยบุรีได้แล้วก็ยกทัพมายังกรุงศรีอยุธยาโดยสะดวก เนื่องจากแนวรับต่างๆ ในลำดับถัดมาของฝ่ายอยุธยาถูกตีแตกในเวลาอันสั้น

 

วีรชนผู้ถูกลืม!! เปิดตำนานวีรกรรม "ขุนรองปลัดชู" กับกองกำลังอาทมาต ๔๐๐ คน สู่ "วัดสี่ร้อย" อนุสรณ์ของผู้กล้าแห่งเมืองวิเศษไชยชาญ !!

 

          ตามบันทึกในพงศาวดาร แผนที่เส้นทางการเดินทัพของกองทัพพม่าในสงครามพระเจ้าอลองพญา เรื่องราวของขุนรองปลัดชูมีกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเพียงสั้นๆ ดังนี้ 

    
"...ฝ่ายพระเจ้าอยู่หัวได้ตรัสทราบนั้นแล้ว จึงดำรัสให้พระยายมราชเป็นทัพหน้า พลทหาร ๓๐๐๐ ทัพหนึ่ง ให้พระยาธารมาถืออาญาเป็นแม่ทัพ พลทหาร ๒๐๐๐ ยกไปตั้งเมืองกุยบุรี พะม่ายกขึ้นมาตีทัพพระยายมราชณแกงตุมแตก พระยาธารมาจึงเกณฑ์ไพร่ ๕๐๐ เข้าบรรจบกองปลัดชู แล้วให้ยกไปตั้งตำบลอ่าวขาวริมทะเล ฝ่ายทัพหน้าพะม่ายกขึ้นมาตี กองปลัดชูก็แตกพ่าย พระเจ้าอังวะจึงดำเนินทัพเข้ามาณเมืองกุย เมืองปราณ เมืองเพ็ชรบุรี เมืองราชบุรี..."


— พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
    
"...ม้าใช้รีบออกไปสืบราชการดู มากราบทูลว่า พม่ายกมาทางมะริด ๑ ทางท่ากระดาน ๑ ทางเชียงใหม่ ๑ ที่จริงนั้นพม่ายกมาแต่ข้างมะริดทางเดียว พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงทราบแน่ ก็ตกพระทัย ด้วยมิได้มีวิจารณ์พระเชาวญาณ ก็พาลเขลาทรงเชื่อเอาทั้ง ๓ ทาง จึ่ง ดำรัสสั่งให้พระยาพิชัยสงคราม นามชื่อปลัดชู พระจุฬา หลวงศรียศ หลวงราชพิมล ขุนศรีวรคัณฑ์ ๕ คน คุมพล ๕,๐๐๐ ออกไปต้านทานข้างมะริดก่อน แล้วเกณฑ์พระยาราชสงคราม พระยาไชยา พระยามหาเสนา พระยาเพชรพิชัย พระยาสมบัติธิบาล พระยาตะนาว พระยาพัทลุง หลวงกระ ๘ คนนี้คุมพล คนละ ๑,๐๐๐ แล้วให้พระยาอภัยราชาถืออาชญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพ ยกไปรับทางเชียงใหม่ แล้วเกณฑ์ทิพเสนา ราชามาตย์ ทิพรักษา ราชาบาล วิสูตโยธามาตย์ ราชโยธาเทพ หลวงศักดิ์ หลวงสิทธิ หลวงฤทธิ หลวงเดช ๑๐ คน คุมพลคนละ ๑,๐๐๐ ให้พระยาอภัยมนตรีเป็นแม่ทัพใหญ่ ยกไปจุกไว้ทางท่ากระดาน ครั้นทรงทราบว่าทางมะริดพม่ายกมามาก ก็ให้พระยายมราชเป็นแม่ทัพหน้า คุมพล ๒๐๐๐๐ ให้พระยาธรมาถืออาชญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพ พลทหาร ๓๐๐๐ ยกเพิ่มเติมไปตั้ง ณ เมืองกุยบุรี พม่ายกขึ้นมาตีทัพพระยายมราช ณ แก่งตุ่มแตก แล้วยกแยกไปตีกองปลัดชู ซึ่งตั้งอยู่ตำบลอ่าวขาวริมทะเล จึ่งแบ่งไพร่ ๕๐๐ ไปช่วยกองปลัดชู รบกันอยู่ประมาณกึ่งวัน กองปลัดชูก็แตกพ่ายมา พระเจ้าอังวะก็ดำเนินทัพเข้ามา ณ แขวงเมืองกุยบุรี เมืองปรานบุรี..."


— พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม

 

วีรชนผู้ถูกลืม!! เปิดตำนานวีรกรรม "ขุนรองปลัดชู" กับกองกำลังอาทมาต ๔๐๐ คน สู่ "วัดสี่ร้อย" อนุสรณ์ของผู้กล้าแห่งเมืองวิเศษไชยชาญ !!   

 

            เมื่อชาววิเศษไชยชาญ เมื่อทราบข่าวก็โศกเศร้าเสียใจ จึงได้แต่ภาวนาขอบุญกุศล ที่ได้สร้างสมไว้จงเป็นปัจจัยส่งผลให้ดวง วิญญาณของทหารกล้าได้ไปสู่สุคติ ความเงียบเหงาวังเวงเกิดขึ้น หมดกำลัง ใจในการทำมาหากิน ไม่มีอะไรดีไปกว่าการร่วมกันสร้างสิ่งต่างๆ ไว้เป็นที่ระลึกถึงผู้พลีชีพด้วย การสร้างวัดสี่ร้อย ในปี พ.ศ.๒๓๑๓ ใช้ชื่อ "สี่ร้อย" ตามจำนวนกองอาทมาตสี่ร้อยคน ที่ไม่ได้กลับมา เสียชีวิตในสงครามระหว่างไทยกับพม่าที่เมืองกุย เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่อนุชน รุ่นหลังของชาวเมืองวิเศษไชยชาญ เพื่อเป็นการย้ำเตือนความทรงจำให้ระลึกถึง บรรพบุรุษที่พลีชีพ เพื่อปกป้องปฐพีถึงกับเสียชีวิต โดยชื่อว่า "วัดสี่ร้อย" ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาประชาชนทั่วไป

 

 

วีรชนผู้ถูกลืม!! เปิดตำนานวีรกรรม "ขุนรองปลัดชู" กับกองกำลังอาทมาต ๔๐๐ คน สู่ "วัดสี่ร้อย" อนุสรณ์ของผู้กล้าแห่งเมืองวิเศษไชยชาญ !!

            สงคราม ครั้งเสียกรุงครั้งที่สอง เป็นสงครามคนละครั้งกับครั้งนี้ โดยปีพ.ศ.๒๓๐๘ พม่ายกทัพมาใหม่ และสามารถพิชิตอยุธยาสำเร็จเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ เกิดวีรกรรมชาวบ้านค่ายบางระจันในศึกครั้งนี้ โดยมีชาวบ้านจากวิเศษชัยชาญไปร่วมรบเช่นกัน ถึงกับมีผู้กล่าวว่า

"ถ้าไม่มีวีรกรรมขุนรองปลัดชู ก็คงไม่มีวีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน"

             แต่ไม่ว่าเป็นคนกลุ่มใดที่ร่วมปกป้องแผ่นดินไทยให้รอดพ้นจากข้าศึกศัตรู ต่างก็มีหัวใจรักชาติเหมือกัน วีรกรรมของเหล่าผู้เสียสละจะจารึกในประวัติศาสตร์ชาติไทยให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึงหัวใจรักชาติของพวกเขา เป็นเครื่องเตือนใจว่า กว่าที่ไทยจะได้เป็นไทยมาถึงทุกวันนี้นั้น ได้เสียเลือดเสียเนื้อ พลีชีพถวายชีวิตไปเท่าไหร่ เพื่อรักษาแผ่นดินไทยให้อยู่ชั่วลูกชั่วหลาน ขอน้องรำลึกถึงวีรกรรมของเหล่าวีรชนเหล่าผู้กล้าที่พลีชีพเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทยให้คงอยู่ตลอดไป