ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

 

            โทษประหารชีวิตในไทยมีมานาน และเป็นลักษณะ "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" ใครฆ่าผู้อื่น ก็ต้องถูกฆ่าให้ตายตกไปตามกัน ตามประเพณีโบราณก่อนปี พ.ศ. 2478 การประหารชีวิตจะทำด้วยการใช้มีดดาบบั่นคอ โดยมีเพชรฆาต 2 คน ถ้าคนแรกฟันคอไม่ขาด คนที่สองก็รับหน้าที่ต่อทันที เพื่อไม่ให้นักโทษต้องทรมาน

 

หน้าที่บนความเจ็บปวด!! ย้อนฟังความรู้สึก "เชาวเรศน์ จารุบุณย์" เพชฌฆาตคนสุดท้ายของไทย กับหน้าที่ที่ไม่มีใครอยากทำ!! (มีคลิป)

 

           พอหลังจากปี 2478 แล้ว ได้มีการเปลี่ยนการประหารนักโทษจากบั่นคอเป็นยิงเป้าแทน โดยการใช้ปืน "ยิงเป้า" ในขั้นตอนการประหารชีวิต ก็จะนำไปยังหลักประหารซึ่งเป็นไม้ตะเคียนที่นักโทษทำขึ้น สถานที่ยิงเป้าส่วนใหญ่จะเป็นที่ "เรือนจำบางขวาง" เพราะมีพร้อมทั้งสถานที่ อุปกรณ์การยิงเป้า และบุคคลที่ทำหน้าที่เพชรฆาต

 

 

 

          ก่อนการประหารก็จะมีการดำเนินการต่าง ๆ ตามขั้นตอนทางกฎหมาย หากนักโทษหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องยื่นขอฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ต่อพระมหากษัตริย์ ก็จะทุเลาการประหารชีวิตไปอีก 60 วัน นับแต่รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยถวายเรื่องราวหรือคำแนะขึ้นไป แต่หากมีการยกเรื่องราวนั้นเสียก็ให้ทำการประหารก่อนกำหนดนี้ได้เลย ขั้นตอนก่อนประหารชีวิตหลังฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษตกมายังกรมราชทัณฑ์ เรือนจำจะปกปิดเป็นความลับจนกว่าจะเก็บนักโทษทั้งหมดเข้าเรือนนอนในเวลา 15.30 น.

 

          จากนั้นเรือนจำจะเบิกตัวนักโทษที่ต้องรับโทษประหารชีวิตออกมา และแจ้งให้ทราบถึงผลฎีกาเพื่อให้เขียนพินัยกรรมสั่งเสีย หรือให้โทรศัพท์สั่งเสียกับญาติพี่น้องก่อนประหารชีวิต 1 ชั่วโมง (ทางกรมราชทัณฑ์เองก็ไม่ได้ทราบล่วงหน้ามาก่อนเหมือนกัน) การเปลี่ยนแปลงการประหารจากยิงเป้ามาเป็นการฉีดยา มีผลทำให้มือเพชฌฆาตยิงเป้าในอดีตต้องกลายเป็นตำนาน ซึ่งเพชฌฆาตคนสุดท้ายที่กลายเป็นตำนานไปนี้ คือ คุณเชาวเรศน์ จารุบุณย์ ซึ่งทำหน้าที่มาตั้งแต่ปี 2527 นานถึง 30 ปี กับงานควันปืนและคาวเลือด เกี่ยวกับการเป็น เพชฌฆาตคนสุดท้าย

 

หน้าที่บนความเจ็บปวด!! ย้อนฟังความรู้สึก "เชาวเรศน์ จารุบุณย์" เพชฌฆาตคนสุดท้ายของไทย กับหน้าที่ที่ไม่มีใครอยากทำ!! (มีคลิป)

 

            คุณเชาวเรศน์ ได้เคยเปิดใจไว้ว่า ที่ผ่านมาเป็นทุกข์อยู่ในใจลึกๆ แต่มันก็ได้ประโยชน์ในด้านส่วนตัว คือ *ทำให้เห็นสัจธรรม* ได้เห็นสิ่งที่เข้ามาในชีวิต เกือบ 30 ปีที่นักโทษกว่าร้อยชีวิตต้องมาจบชีวิตลงตรงนี้ "ตอนนี้ผมโล่งใจมาก ที่ไม่ต้องทำหน้าที่อย่างนั้นอีก เพราะเราก็ไม่ได้เงินทองอะไรจากตรงนี้ ที่ทำเพราะเป็นหน้าที่ และเป็นความท้าทายว่าเราทำได้ ถ้าเราไม่ทำใครจะทำ ถ้าคนเห็นใจเรา เขาก็คิดว่าเราเสียสละ อุตส่าห์ทำหน้าที่ที่ไม่มีใครอยากทำ ถึงตอนนี้ผมว่าผมได้ทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว" หลุดจากหน้าที่นี้แล้วต้องไปทำบุญให้มาก ๆ อุทิศกุศลให้กับวิญญาณสัมภเวสี เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายที่สำคัญช่วยให้จิตใจสบายขึ้น ดีขึ้น เพราะที่ผ่านมาเจ้าตัว ยอมรับว่าจิตใจบอบช้ำมาก ต้องการการฟื้นฟู และวิธีที่ดีที่สุด คงต้องหันไปหาธรรมชาติ ดูอะไรที่สบายใจ สบายตา

 

          สำหรับงานประหารชีวิตครั้งแรก เป็นวันที่ 23 พฤศจิกายน 2527 ในขณะที่วันที่ 22 พฤศจิกายน เป็นวันเกิด พอมาวันที่ 23 พฤศจิกายน ก็ต้องมาประหารคน "ครั้งแรกยอมรับว่าใจเต้นแรงมาก ตึ้กๆๆๆ ดูผิวเผินงานเหมือนง่าย แต่พอทำจริง ๆ มันยาก ใจคอเราจะแกว่ง ต้องทำใจนานพอดูให้นิ่ง และคิดเสียว่าเป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ 

 

หน้าที่บนความเจ็บปวด!! ย้อนฟังความรู้สึก "เชาวเรศน์ จารุบุณย์" เพชฌฆาตคนสุดท้ายของไทย กับหน้าที่ที่ไม่มีใครอยากทำ!! (มีคลิป)

 

          ครั้งหนึ่งเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงมาไม่ทันนำนักโทษไปประหาร ผู้ใหญ่ในกรมจึงให้คุณเชาวเรศน์ทำหน้าที่แทน ครั้งนั้นได้ทำหน้าที่แบบพี่เลี้ยงทุกอย่าง ไม่ว่าคอยคุมนักโทษออกจากห้องประหาร ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ตั้งแต่ถ่ายรูป พิธีทางศาสนา รับประทานอาหาร จนไปถึงแดนประหาร และลงมือประหาร *หลังการประหารชีวิตแล้ว จะต้องทำความสะอาดปืน และปรับปืนให้อยู่ในตำแหน่ง ตอนนั้นลุงแสวงซึ่งเป็นเพื่อนของน้าชาย เป็นคนปรับปืน ขอให้เขาอธิบายเรื่องปืนให้ฟัง ก็ได้ศึกษาเก็บรายละเอียดไว้หมด ว่าเป็นปืนอะไร น้ำหนักเท่าไหร่ หลังจากนั้นปี 2520 ลุงแสวงเกษียณอายุ ผมต้องไปช่วยปรับปืนแทน

        "งานปรับทางปืนเป็นงานไม่ค่อยมีคนอยากทำ เพราะมันเครียดทั้งที่ในเรือนจำมีพวกเก่งปืนเยอะ แต่ไม่มีใครอยากมาทำจุดนี้ อีกอย่างถ้าพลาดนิดเดียวก็จะอาย ต้องมั่นใจมาก เพราะไม่มีโอกาสลอง ถ้าไม่เข้าจุดสำคัญนักโทษจะทรมาน ก่อนขึ้นแท่นประหาร ผมจะไม่ยอมรับรู้ว่านักโทษคน ๆ นั้นเป็นใครและทำอะไรมา ผมจะทำหน้าที่ของผมอย่างเดียว พอจบแล้วถึงมารวบรวมว่าเป็นใคร เพราะถ้ารู้ก่อนใจผมจะเขว ต้องตัดให้ขาด ไม่อย่างนั้นทำไม่ได้"

 

           เชาวเรศน์ เคยลงมือประหารคนไปทั้งหมด 55 ราย เป็นผู้หญิง 1 ราย เป็นคดียาเสพติด ซึ่งเห็นก็สงสาร แต่ต้องทำใจ "ปัญหาที่สร้างความหนักใจให้กับเพชฌฆาตมากที่สุด หนีไม่พ้นที่นักโทษประหารควบคุมตัวเองไม่ได้ โดยมากเป็นพวกสมคบคดี หรือยุ่งเกี่ยวคดียาเสพติด เขาจะมีความคิดว่าตัวเองไม่ใช่ตัวการ และจะมีปฏิกิริยาว่าเขาไม่สมควรได้รับโทษร้ายแรงขนาดนั้น" ดังนั้นการประหารชีวิตควรจะให้นักโทษคุมตัวเองให้ได้ก่อน

 

          เจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงจะคอยให้กำลังใจ สังเกตจากเขาถ้าพร้อม ต้องคอยบอกว่ามันถึงที่สุดแล้ว แต่ถ้าเขาไม่พร้อมก็บอกว่า เวลามันจำกัด ศาลบังคับมา ให้คิดว่าเราจะเขียนจดหมายสั่งเสียใครไหม ต้องพูดแบบเห็นใจเขา ไม่ว่านักโทษจะโวยวาย ว่าตำรวจแกล้งอะไรก็แล้วแต่ จริงหรือเท็จเราไม่ทราบ แต่อย่าไปขัดใจเขา ต้องรับฟังเขา ให้เขาได้ระบาย จนถึงขั้นตอนเขียนจดหมาย ความรู้สึกจริง ๆ จะออกมา บางรายคดียาเสพติด เขาก็เขียนถึงลูก บอกว่าขอโทษที่ทำไปเพราะต้องการได้เงินเยอะ แต่ตอนนี้หมดโอกาสทุกอย่าง แม้แต่ลูกก็ยังไม่ได้เห็น หรือบางคนเขียนจดหมายทวงหนี้ให้ลูกเมียไปตามเก็บให้หมดก็มี" เวลาประหารชีวิตของเพชฌฆาตแต่ละคนไม่เหมือนกัน

 

 

 

           ถ้าเป็นรุ่นเก่าอย่าง *ลุงมุ่ย จุ้ยเจริญ* นั้น จะทำพิธีการตั้งแต่ข้างนอก พอมาถึงลานประหารก็ยิงปุปุ เสร็จก็ออกไปเลย เรียกว่ามายิงอย่างเดียว พอมาถึง *ลุงประถม เครือเพ่ง* (คนนี้เพชรฆาตชื่อดังไว้จะหาประวัติมาให้อ่านนะคะ) คนนี้จะนิ่ง ไม่พูดกับใคร แต่จะเชื่อโชคลาง เช่น ต้องมีก้อนหิน ดอกไม้ มาวางที่แท่นปืน "ส่วนผมเองคิดว่าตัวเองบารมีไม่สูงพอ จึงต้องพึ่งพระ เอาบารมีที่สูงกว่ามายึด แต่ก็ไม่ได้เอามาจริงจังขนาดต้องพกมีดหมอ"

 

หน้าที่บนความเจ็บปวด!! ย้อนฟังความรู้สึก "เชาวเรศน์ จารุบุณย์" เพชฌฆาตคนสุดท้ายของไทย กับหน้าที่ที่ไม่มีใครอยากทำ!! (มีคลิป)

 

           การเปลี่ยนแปลงวิธีการประหารจากใช้ปืนมาใช้ยาฉีด คุณเชาวเรศน์เห็นว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงตามกระแสสังคม ทุกอย่างเคลื่อนไหวไปตามระบบของโลก "แต่จะบอกประเทศไทยทารุณนั้น *ไม่ใช่* เพราะสมัยก่อนถ้าไปดูประวัติศาสตร์ของฝรั่ง เขามีตั้งแต่วิธีการเผาทั้งเป็นหรือให้สิงโตกิน โยนให้จระเข้กิน ทั้งหมดคือการประหารชีวิตตามกระแสยุคนั้นๆ จะให้มานั่งจิตวิทยาอยู่คงไม่มีใครฟัง" มาตอนนี้ประเทศไทยได้เปลี่ยนวิธีการประหารเป็นเข็มฉีดยา เขาบอกว่า ไม่แน่ ในอนาคตอาจจะต้องเปลี่ยนอีก เพราะสังคมขณะนี้มี 2 ฝ่าย คือ *เหยื่อ* กับ *ฝ่ายอาชญากร* ถ้ามองในแง่ของเหยื่อ จะมองว่าต้องลงโทษให้สาสม แต่ถ้ามองในแง่อาชญากร เขาจะบอกว่า คนต้องแก้ไขได้ ต้องให้โอกาสคน"แม้จะเปลี่ยนวิธีการ แต่ความรู้สึกของคนที่ต้องลงมือประหารใครคงไม่ต่างกัน เพราะเป็นชีวิตของคนคนหนึ่งเหมือนกัน" ทั้งหมดนี้ เป็นความรู้สึกของคุณเชาวเรศน์ เพชฌฆาตคนสุดท้าย

 

หน้าที่บนความเจ็บปวด!! ย้อนฟังความรู้สึก "เชาวเรศน์ จารุบุณย์" เพชฌฆาตคนสุดท้ายของไทย กับหน้าที่ที่ไม่มีใครอยากทำ!! (มีคลิป)

 

รายชื่อ "เพชฌฆาต" ยิงเป้า

1. นายทิพย์ มียศ

       เป็นเพชฌฆาตคนแรก เริ่มงานตั้งแต่ 11 กันยายน 2478 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2486 ประหารนักโทษ 40 ราย

2. นายเหรียญ เพิ่มกำลังเมือง

        เริ่มงานประหารเมื่อ 31 สิงหาคม 2499 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2502 ประหารทั้งหมด 53 ราย ช่วงเวลา 13 ปี จากปี 2486 ถึงปี 2499 เว้นว่างการยิงเป้า เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลเห็นว่ามีพระราชพิธีสำคัญ

3. นายเพี้ยน คนแรงดี

เริ่มงานเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2502 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2517 ยิงไป 44 ศพ

4. นายมุ่ย จุ้ยเจริญ

เป็นมือเพชฌฆาตตั้งแต่ 26 กรกฎาคม 2503 ถึง16 ตุลาคม 2517 ประหารทั้งหมด 50 ศพ

5. ส.ต.ต.ประถม เครือเพ่ง

15 เมษายน 2520 ถึง 3 กรกฎาคม 2527 ยิงไป 36 ศพ

6. นายเรียบ เทียบสระคู

เริ่ม 20 สิงหาคม 2520 ถึง 20 พฤศจิกายน 2527 ยิงไป 1 ศพ

7. จ.ท.ธิญโญ จันทร์โอทาน

เริ่มเมื่อ 26 สิงหาคม 2520 ถึง 9 พฤศจิกายน 2527 ยิงไป 32 ศพ

8. นายสนั่น บุญลอย

ทำหน้าที่ประหารชีวิตครั้งแรกและครั้งเดียวเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2540

9. นายประยุทธ สนั่น

21 กันยายน 2540 ถึง พ.ศ.2543 ยิงไป 2 ศพ

10. นายเชาวเรศน์ จารุบุณย์

เริ่มงานเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2527 และทำมาตลอดจนกระทั่งปี 2546 มีการเปลี่ยนจากการยิงเป้าเป็นการฉีดยา ประหารไปทั้งหมด 55 คน

ปัจจุบัน ยังมีนักโทษที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุด และอยู่ระหว่างการถวายฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษ ที่ยังคงรอความหวัง สุดท้าย แต่หากฎีกาตกลงมาว่าไม่ทรงอภัยโทษ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป นั่นคือ นำตัวเข้าห้องฉีดยา

 

          สำหรับ เชาวเรศน์ จารุบุณย์ เกิดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2491 รับราชการครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2515 ตำแหน่งหน้าที่เพชฌฆาต ประหารชีวิตนักโทษทั้งสิ้น 55 ราย นักโทษหญิง 1 ราย ส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติดให้โทษ รองมาเป็นคดีฆ่าและข่มขืน ตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ เรือนจำกลางบางขวาง 

          เชาวเรศน์ จารุบุณย์ ฉายาเพชฌฆาตคนสุดท้าย ได้เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 64 ปี  เมื่อเวลาประมาณ 00.30 น. ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หลังจากเข้ารับรักษาอาการป่วยด้วยโรคมะเร็ง ครอบครัวได้นำศพไปบำเพ็ญกุศลที่วัดบางไผ่ ต.บางรักพัฒนา อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : เพจ ตำนานอาถรรพ์ อาชญากรโลกไม่ลืม ฆาตกรรมบันลือโลก

                           http://sudipan.net

ขอบคุณภาพและคลิปจาก : ภาพยนตร์ เพชฌฆาตคนสุดท้าย